กรมเจ้าท่า (จท.) มีกำหนดการทำพิธีเปิดอาคาร 39 ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่า ครบรอบ 162 ปี แต่ต้องงดพิธีไปก่อนเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ได้เปิดใช้งานจริงไปเรียบร้อยแล้ว

ที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและจราจรทางน้ำ กรมเจ้าท่า มีความโดดเด่นที่สถาปัตยกรรมเก่าทาสีเหลืองแบบโบราณ แต่ภายในเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาคาร 39 พื้นที่ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาจะเป็นอีกมุมของทัศนียภาพที่งดงาม ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ

ศูนย์ปฎิบัติการควบคุมความปลอดภัยและจราจรทางน้ำ ทำหน้าที่เป็นศูนย์อำนวยการ บูรณาการข้อมูลสารสนเทศเพื่อประโยชน์ของชาติ ด้านขนส่งทางทางน้ำประเทศไทยอย่างเต็มระบบ ดังนี้ 1.ระบบควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล 2.ระบบเรด้า 3.ระบบควบคุมการจราจรและตรวจการณ์ชายฝั่งทะเลอันดามัน-อ่าวไทย 4.ระบบ VTS ตรวจการณ์ชายฝั่ง ที่ครอบคลุมพื้นที่อ่าวไทยและอันดามัน สามารถแสดงภาพเคลื่อนไหวของเรือทุกประเภทในน่านน้ำไทยระยะไกล ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน

5.ระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ตรวจการณ์ชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย และท่าเรือ 6.ระบบโครงข่ายติดตามเรือสินค้าไทย และเรือสินค้าต่างประเทศที่อยู่ในน่านน้ำไทย หรือเรือสินค้าไทยที่จอดตามท่าเรือประเทศต่างๆ ทั่วโลก แบบเรียลไทม์  24 ชม. 7.ระบบโครงข่ายการติดต่อสื่อสาร เครือข่ายและเชื่อมโยง เรือขนส่งสินค้าชายฝั่งทะเลน่านน้ำไทยและน่านน้ำทั่วโลก 8.ระบบการติดต่อสื่อสาร เครือข่ายและเชื่อมโยงศูนย์ตรวจการณ์ชายฝั่งทะเล และ สถานีลูกข่าย ครอบคลุมน่านน้ำไทยฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและจราจรทางน้ำ เปรียบเสมือนอีเกิลอาย (Eagle eyes) หรือสายตาเหยี่ยว ที่ทำหน้าที่กำกับดูแล มอนิเตอร์ การปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ภายในกรมเจ้าท่า ทั้งท่าเรือ White List ท่าเรือที่ปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมาย, การตรวจเช็กข้อมูลเรือไทยทุกประเภท การจดทะเบียนเรือถูกต้อง, เรือมีความปลอดภัย ,การตรวจใบอนุญาตคนประจำเรือ ทั้งช่างเครื่อง และผู้ควบคุมเรือ รวมทั้ง ติดตามตรวจสอบ มาตรการควบคุมการใช้ท่าเรือ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ขออนุญาต มาตรการควบคุมความปลอดภัยท่าเรือ และมาตรการป้องกันมลพิษที่เกิดจากการขนถ่ายสินค้าบริเวณท่าเรือ ผ่านระบบ CCTV  ติดตั้งบริเวณท่าเรือทั่วประเทศ ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและจราจรทางน้ำ สามารถตักเตือน หรือสั่งงดใช้เรือ หรือท่าเรือ ที่พบว่าไม่ปลอดภัยได้ทันที

ดังนั้นเรือที่ขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่าทุกประเภทจำนวน 87,176 ลำ รวมทั้งท่าเรือที่มีจำนวน 500 แห่ง จะถูกเฝ้ามองอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งล่วงรู้ไปถึงชื่อผู้ครอบครองเรือ กัปตันเรือ ลูกเรือ ได้ทันที

ความสำคัญของศูนย์ฯ นอกจากมอนิเตอร์เรือที่อยู่ในเขตน่านน้ำไทยแล้วยังมีระบบโครงข่ายติดตามเรือสินค้าไทย และเรือสินค้าต่างประเทศที่อยู่ในน่านน้ำไทย สามารถอพยพและขนส่งคนไทยที่ติดค้างในเมืองต่างๆ ในต่างประเทศ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ภัยสงคราม หรือความไม่สงบทางการเมืองในต่างประเทศ โดยสามารถปรับเรือบรรทุกสินค้าพาณิชย์ของไทย ที่จอดเทียบท่าอยู่ทั่วโลก มาช่วยอพยพ

นายวิทยา กล่าวต่อว่าวิกฤติโควิด-19 เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบ แต่การขนส่งทางน้ำของไทยได้รับผลกระทบน้อยมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการป้องกันโรคระบาดที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งในไทย มีกำหนดไว้อยู่แล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2456 คือ มีสถานีควบคุมโรค ถ้ามีโรคระบาด จะต้องไปจอดเรือจุดไหน ก่อนจะลงเรือต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน และมีเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขไปตรวจก่อนลูกเรือจึงจะลงจากเรือได้

“ประเทศไทยที่มีจุดยุทธศาสตร์การเดินเรืออย่าง ทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่ จ.ตราด จนไปถึง จ.นราธิวาส ส่วนทางฝั่งอันดามัน มีทะเลตั้งแต่ จ.ระนอง ไปถึง จ.สตูล ส่วนทางแม่น้ำ มีแม่น้ำสายหลัก ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก ซึ่งศักยภาพเหล่านี้เราสามารถบริหารจัดการมาใช้ได้ทั้งในส่วนของการขนส่งในประเทศ หรือ In land และในส่วนของการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศ หรือ International”

ส่วนภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งสินค้า มีทั้ง ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด แหลมฉบัง ท่าเรือคลองเตย และท่าเรือชายฝั่ง ตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี จนไปถึง จ.สงขลา สำหรับฝั่งอันดามันมีท่าเรือหลัก ที่ จ.ภูเก็ต กระบี่ และระนอง

ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและจราจรทางน้ำ ช่วยยกระดับและเพิ่มศักยภาพเส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศไทย และสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561 – 2580 )

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง…