การทวงคืนสมบัติชาติของกลุ่มคนรักชาติ หรือพวกคลั่งชาติก็สุดแท้แต่! เริ่มระบาดหนักมากในหมู่คนไทยบางกลุ่มตั้งแต่หลังการรัฐประหารในเดือน ก.ย. 49 เมื่อมี “นายพล” ผู้ก่อการรัฐประหารครั้งนั้น ออกมาตีหน้าเศร้า! ประกาศทวงคืนสมบัติชาติ (ดาวเทียม)กลับคืนมา ด้วยเหตุผลทางด้านความมั่นคง แต่สุดท้ายก็เงียบไป หรือแม้แต่การปลุกกระแสทวงคืน “ปราสาทพระวิหาร” ช่วงปี 53-54 แต่ปราสาทพระวิหารกลับไปอยู่จุดเดิม ตามที่ศาลโลกพิพากษาไว้ในปี 2505

ดาวเทียม “สื่อสารไม่ใช่ “จารกรรม

การยิงดาวเทียมขึ้นไปในห้วงอวกาศเพื่อให้บริการในเชิงพาณิชย์ เกี่ยวกับธุรกิจการสื่อสาร โทรคมนาคม ไม่ใช่เพื่อภารกิจเกี่ยวกับความมั่นคง หรือไป “จารกรรม” ใคร โดยธุรกิจดาวเทียมจะมีรายได้จากการให้เช่าทรานสปอนเดอร์ บนย่านความถี่ซีแบรนด์ รวมทั้งบรอดคาสต์ ดาต้า มีเดีย และโทรคมนาคมเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ยังมีภารกิจในการถ่ายทอดสัญญาณเชื่อมโยง และการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งในอนาคตทั้งประเทศจีน และมหาเศรษฐีโลก “อีลอน มัสก์” จะยิงดาวเทียมวงโคจรต่ำ เพื่อให้บริการในระบบฟรีไวไฟด้วย

การลงทุนยิงดาวเทียมใช้เงินค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ยิงขึ้นฟ้าปี 48 มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท ไทยคม 5 ยิงขึ้นฟ้าในปี 49 ด้วยเงินลงทุน 4 พันล้านบาท ไทยคม 7 ยิงขึ้นฟ้าเดือน ก.ย. 57 มูลค่าประมาณ 5.4 พันล้านบาท ไทยคม 8 ยิงขึ้นฟ้าเดือน พ.ค. 59 มูลค่า 7 พันล้านบาท ดังนั้นจึงไม่ใช่ง่ายที่จะมีผู้ประกอบการรายใหม่ก้าวเข้ามาในธุรกิจนี้

วุ่น ๆ “ไทยคม” ใกล้หมดสัมปทาน

สำหรับมหากาพย์ของไทยคม 7-8 ที่เป็นสมบัติของบริษัทเอกชน หรืออาจจะเป็นสมบัติของชาติในอนาคต! แต่ดาวเทียมดังกล่าวมีหลายเรื่องราวให้น่าติดตาม คือ 1.แม้ประเทศไทยจะเปิดเสรีโทรคมนาคมตามข้อตกลงที่มีกับองค์การการค้าโลก (WTO) ตั้งแต่ปี 49 โดยเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทาน มาสู่ระบบใบอนุญาตโดย กสทช. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี 53 และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ปี 44

2.แต่ในส่วนของกิจการดาวเทียมสื่อสารนั้น กสทช.ยังไม่ได้มีการออกประกาศหลักเกณฑ์รองรับการประมูลเพื่อออกใบอนุญาตดาวเทียมใด ๆ เนื่องจากรัฐ คือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยังคงมีสัมปทานอยู่กับบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในวันที่ 10 ก.ย. 64

3.แต่ระหว่างที่ยังไม่สิ้นสุดสัมปทาน ช่างบังเอิญที่ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่ไทยมีอยู่กับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ตำแหน่งที่ 120 องศาตะวันออก กำลังจะหมดลง และไทยคมไม่สามารถยิงดาวเทียมดวงใหม่ได้ เพราะกระทรวงดีอีเอสไม่สามารถให้สัมปทานดาวเทียมได้อีก เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ แต่อำนาจในการออกใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ และประกอบกิจการวิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคม รวมทั้งดาวเทียมที่ต้องใช้คลื่นความถี่ยิงสัญญาณขึ้น-ลง ล้วนโอนไปอยู่ในอำนาจของ กสทช. แต่หากประเทศไทยไม่ยื่นไฟล์ลิ่ง (Filling) จองตำแหน่งใช้วงโคจรเพื่อรักษาสิทธิวงโคจรเดิม คือยิงดาวเทียมดวงใหม่ไปให้บริการ ที่วงการเรียกว่า  parking อาจต้องชวดให้ ITU นำวงโคจรดาวเทียมนี้เปิดโอกาสให้ประเทศอื่น ๆ เอาไปใช้แทน

4.บริษัทไทยคมทำเรื่องไปยังกระทรวงดีอีเอสช่วงปลายปี 61-62 เพื่อเตือนกรณีดังกล่าว พร้อมทั้งขอทราบนโยบายที่ชัดเจน และต้องการยิงดาวเทียมดวงใหม่เพื่อให้บริการ โดยยื่นข้อเสนอพร้อมจะร่วมมือกับรัฐทุกรูปแบบ แต่คงไม่ใช่สัมปทาน เพราะได้ยกเลิกระบบสัมปทานไปแล้ว ซึ่งเดิมกระทรวงดีอีเอสเห็นด้วยกับสิ่งที่ไทยคมเตือน จึงยื่นไฟล์ลิ่งจองใช้วงโคจรดาวเทียมเพื่อรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียมของไทยไว้

ไปบี้ “อดีตบิ๊ก” ขอถอนไฟล์ลิ่งดีกว่ามั้ย?

5. แต่สุดท้ายเรื่องดังกล่าวถูกเพิกเฉยไปร่วมปี ทั้งยังขอถอนไฟล์ลิ่ง จาก ITU เพื่อนำกลับมาทบทวนด้วย เพราะกระทรวงดีอีเอสอยากให้หน่วยงานรัฐจัดสร้างยิงดาวเทียมสื่อสารเอง จึงเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้บริษัท กสท โทรคมนาคม ในอดีต เป็นเจ้าภาพระดมทุนจัดสร้างดาวเทียมสื่อสารเอง ทั้งที่ขณะนั้นเหลือระยะเวลาอยู่ไม่ถึง 6 เดือนแล้ว ตรงนี้ต่างหาก! ที่กลุ่ม “หมอคนดัง” ผู้รักชาติ ควรไปไล่บี้ “อดีตบิ๊ก” ในกระทรวงดีอีเอส ไปขอถอนไฟล์ลิ่งจองตำแหน่งยิงดาวเทียม แถมยังปล่อยดาวเทียมสื่อสารให้หมดสภาพ สร้างความเสียหายนับพันล้านบาท จะไม่ดีกว่าหรือ? 

6. ท้ายที่สุดบริษัท กสทฯ ไม่สามารถระดมทุนหาแหล่งเงินสร้างดาวเทียมมูลค่ามากถึง 7,000-8,000 ล้านบาท ทำให้ไทยต้องชวดตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมแน่ เมื่อไม่มีดาวเทียมไปให้บริการ

7.สุดท้ายมีการพูดคุยให้เอกชนช่วยแก้ไขปัญหาให้ เพื่อประเทศไทยจะไม่สูญเสียสิทธิวงโคจรดาวเทียม ซึ่งไทยคมยื่นเงื่อนไขจำเป็นต้องใช้วิธีคงเอาดาวเทียมต่างประเทศมา Parking ไว้ก่อนเพื่อรักษาสิทธิ แล้วค่อยยิงดาวเทียมของไทยขึ้นไป แต่ทั้งนี้ไทยคมต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมจาก กสทช. และในที่สุดไทยคมก็ได้ใบอนุญาตไป  

8.ไทยคมจึงไปเจรจาเอาดาวเทียมจีน AsiaSat มา Parking โดยร่วมกันจัดสร้างและถือกรรมสิทธิ์ดาวเทียมร่วมกัน อันเป็นที่มาไทยคม 7 ก่อนจะยิงดาวเทียมไทยคม 8 ขึ้นไปประกบอีกดวง แต่ใบอนุญาตประกอบการที่ กสทช. ออกให้ไทยคมนั้น เป็นใบอนุญาตชั่วคราว เนื่องจาก กสทช.ยังไม่ได้จัดทำประกาศหลักเกณฑ์รองรับการออกใบอนุญาต และใบอนุญาตที่ให้ไปนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพย์สินสัมปทาน โดยให้ไทยคมไปตกลงกับกระทรวงดีอีเอสเอาเอง

ศาลคุ้มครอง “ไทยคม7-8” กสทช.เลื่อนประมูล!

9. กระทรวงดีอีเอสและกสทช. เริ่มกระทบกระทั่งกับไทยคมเรื่องสัมปทานที่จะหมดอายุวันที่ 10 ก.ย. 64 ที่จะต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่รัฐว่ามีอะไรบ้าง โดยมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบและจัดทำบัญชีกันไป แต่ไทยคมไม่รวมไทยคม 7-8 มาส่งมอบด้วย อ้างว่าเป็นการประกอบกิจการในระบบใบอนุญาตของ กสทช. ไม่ใช่การสัมปทาน ถือเป็นทรัพย์สินของไทยคม แต่ กสทช.ไม่ยอม เพราะยังมีข้อพิพาทในไทยคม 7-8 เกี่ยวกับการใช้สิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม 10 ข่ายงาน 

สุดท้ายบริษัทไทยคมฯ จึงไปยื่นร้องต่อศาลปกครองกลาง ต่อมาศาลฯได้เรียกทางฝ่ายไทยคม และ กสทช. เข้ามาไต่สวน (9 ส.ค.64) แล้วศาลฯ มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับมติของ กสทช. โดยให้ไทยคมมีสิทธิในการใช้วงโคจรและข่ายงานดาวเทียมที่เกี่ยวข้องต่อไป จนกว่าศาลฯ จะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น 

10. ก่อนสัมปทานไทยคมจะสิ้นสุดวันที่ 10 ก.ย.นี้ กสทช.ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมแบบแพ็กเกจ 2 ชุด ในตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก และ 119.5 องศาตะวันออก ที่จะประมูลออกใบอนุญาตตามอำนาจหน้าที่ของกสทช. โดยมีบริษัทสื่อสารแสดงความสนใจ 3 ราย แต่สุดท้ายโผล่ยื่นมาแค่รายเดียว คือบริษัททีซีสเปซฯ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของไทยคม ทำให้ กสทช.ตัดสินใจเลื่อนการประมูลในวันที่ 28 ส.ค.นี้ ออกไปก่อน

ไทยคม ‘ทักษิณ-เทมาเส็ก-สารัชถ์’

บริษัทไทยคมฯ  (THCOM) เป็นบริษัทลูกของ “อินทัช โฮล ดิ้งส์” เพราะ “อินทัชฯ” ถือหุ้นใหญ่กว่า 41% ในไทยคม

แต่ก่อนจะมาเป็น “อินทัชฯ” เขาคือ “ชิน คอร์ปอเรชั่น” แต่เมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร”ขายหุ้นให้กลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ช่วงต้นปี 49 จึงถูกเปลี่ยนชื่อจากชิน คอร์ปอเรชั่น มาเป็น “อินทัชฯ” ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของไทยคม และเอไอเอส

ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ใน “อินทัชฯ” คือ บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ “GULF” กิจการโรงไฟฟ้าของ “เสี่ยกลาง” นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ในสัดส่วน 42.25% รองลงมาคือกลุ่มสิงเทล ของสิงคโปร์ ยังถือหุ้นในอินทัชฯ ด้วยสัดส่วน 21.21%

ดังนั้นปัญหาดาวเทียม “ไทยคม 7-8” ที่กำลังร้อนระอุ รวมทั้งอนาคตเกี่ยวกับการบริหารทรัพย์สินต่าง ๆ ของไทยคมที่จะหมดสัมปทานในวันที่ 10 ก.ย. นี้ เชื่อว่านายสารัชถ์กับนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส คงจับเข่าคุยกันรู้เรื่อง!.