ได้ติดตามการเสวนา “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร” จากคุณหมอที่เกี่ยวข้อง 4 ท่าน พอจะทราบแล้วว่าจะไปอย่างไรกันต่อ

ใจความสำคัญของแต่ละท่านมีดังนี้ คุณหมอโสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เริ่มจาก 3 เดือนจากนี้ กรกฎาคมถึงกันยายน จะเดินหน้าอย่างไร ประชาชนสับสนกันมาก คณะผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่าประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลที่โปร่งใส เน้นหลักวิชาการแพทย์และสาธารณสุข และนำข้อมูลจริงมาพูด

วัคซีนทุกตัวไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ช่วยลดการเสียชีวิตและนอนไอซียู จึงเห็นตรงกันว่าควรใช้วัคซีนให้ตรงกับประสิทธิภาพ คือ ฉีดผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรังก่อน เพื่อลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ลดการใช้ไอซียู ทั้ง 2 กลุ่มนี้มีประมาณ 16 ล้านคน ฉีดแล้วประมาณ 2 ล้านกว่าคน ภายในเดือนนี้ต้องฉีดให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ คือ 8 ล้านคน

คุณหมอทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ บอกว่า วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับโรคระบาด วัคซีนที่มีอยู่ยังใช้ได้ ส่วนการฉีดสลับเข็มหรือต้องฉีดเข็ม 3 ต้องรอผลการศึกษา สำหรับเด็ก มีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าผู้ใหญ่ ไม่ค่อยมีอาการ การเสียชีวิตต่ำ ที่มีใช้คือในจีนและอินโดนีเซีย แต่กลุ่มวัยรุ่นอาจก่อผลข้างเคียงของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และมักเกิดในเข็มสองกับเด็กผู้ชาย อัตราเกิด 2 ต่อแสนโด๊ส

คุณหมอคำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา บอกว่า ระลอก 3 ส่วนใหญ่มาจากสายพันธุ์อัลฟา ติดต่อรวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่าเดือนต่อไปสถานการณ์จะแย่กว่าเดิมจากสายพันธุ์เดลตา เพราะติดต่อเร็วกว่า 1.4 เท่า กทม.เป็นเดลตาแล้ว 40 เปอร์เซ็นต์ อีก 1-2 เดือนอาจเป็นเดลตาทั้งหมด

วัคซีนทุกตัวที่องค์การอนามัยโลกขึ้นทะเบียน ลดเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ การฉีดแบบปูพรมสร้างภูมิคุ้มกันอาจจะต้องฉีดให้ได้ร้อยละ 90 ของประชากร ซึ่งทั่วโลกยอมรับว่าไม่มีประเทศไหนที่มีวัคซีนมากขนาดนั้น จึงต้องเริ่มด้วยการฉีดเพื่อลดความรุนแรงและเสียชีวิต

ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ นำวัคซีนทั้งหมดในมือทำความตกลงกันทั้งสังคม โดยฉีดผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคก่อน เพราะ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตเป็น 2 กลุ่มนี้ ในอังกฤษและอเมริกาก็ทำเช่นนี้ คาดว่าจะลดการเสียชีวิตเดือนสิงหาคมเหลือ 800 คน กันยายนเหลือ 600-700 คน หรือประมาณ 20 คนต่อวัน อยู่ในวิสัยที่ระบบเดินหน้าได้ ไม่ต้องปิดกิจการมาก ไม่ต้องใช้เงินเยียวยาเพิ่ม อาจผ่อนคลายได้ แต่ต้องทำมาตรการเรื่องเตียง ค้นหาคนป่วยให้เร็ว ดูแลกลุ่มเสี่ยงและสูงอายุด้วย

คุณหมอนคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ บอกว่า การจัดหาวัคซีนมี 2 ส่วน คือวางแผนจัดหาควบคู่ขยายกำลังฉีด ไทยมีศักยภาพฉีดได้ 10 ล้านโด๊สต่อเดือน เราพยายามจัดหาทุกแหล่งมาใช้ ตัวแรกคือซิโนแวค ตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน รวม 9.5 ล้านโด๊ส ส่วนแอสตราเซเนกา ทำสัญญาส่งมอบ 61 ล้านโด๊สในปี 2564 แต่ไม่ได้ระบุในสัญญาว่าต้องส่งเดือนละเท่าไร

กรมควบคุมโรค ทำแผนความต้องการเสนอไป เช่น มิถุนายน 6 ล้านโด๊ส เดือนถัดไป 10 ล้านโด๊ส แต่เมื่อดูกำลังผลิตของสยามไบโอไซเอนซ์อยู่ที่ 180 ล้านโด๊สต่อปี เฉลี่ยเดือนละ 15 ล้านโด๊ส และต้องแบ่งส่วนหนึ่งให้ต่างประเทศ รองประธานบริษัทแอสตราเซเนกาทำจดหมายแจ้งว่า จะส่งมอบให้ไทยได้ 5-6 ล้านโด๊สต่อเดือน เพื่อให้เป็นไปตามแผนและความสามารถในการฉีดของไทย จึงต้องหาวัคซีนจากแหล่งอื่นมาเสริม อาจเจรจาขอสยามไบโอไซเอนซ์เพิ่มกำลังการผลิต

ส่วนการใช้กฎหมายห้ามส่งออกเพื่อเอาวัคซีนไว้ใช้ในประเทศ มองว่าจะมีผลกระทบกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศที่รับวัคซีนจากแหล่งผลิตของไทย ซึ่งถ้าประเทศที่เป็นแหล่งผลิตให้ไทยห้ามส่งออก เราที่รอวัคซีนก็คงรู้สึกโกรธ และกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

วัคซีน mRNA ได้เจรจากับไฟเซอร์ สั่งจองตามขั้นตอนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 20 ล้านโด๊ส อยู่ระหว่างทำสัญญาสั่งซื้อ แต่ถูกเลื่อนส่งไปไตรมาส 4 ไม่ได้ประวิงเวลา กำลังต่อรองหากเป็นไปได้ขอให้ส่งให้เร็วที่สุด ยังร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศหาวัคซีนผ่านช่องทางการทูตหรือการจัดหาแบบรัฐต่อรัฐ เช่น วัคซีนของคิวบา ซึ่งเป็นซับยูนิตโปรตีนมีประสิทธิภาพป้องกันโรค 92 เปอร์เซ็นต์ และค่อนข้างปลอดภัย หรือวัคซีน mRNA เคียวร์แวคของเยอรมัน และปีหน้าจะจัดหาวัคซีนตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ให้มากขึ้นด้วย

ทั้งหมดเป็นข้อมูลจริง ที่พอจะบอกทิศทางที่เราจะไปต่อ.

———–
ชายธง