มีอยู่วันหนึ่งที่ผมได้อยู่เวร ห้องฉุกเฉิน ที่โรงพยาบาลมหาราช และได้ตรวจผู้ป่วยเด็กอายุ 8 ปี ซึ่งโดนแก้วบาดนิ้ว จากการซักประวัติผู้ปกครองของเด็กทำให้ทราบว่าก่อนที่จะมา โรงพยาบาลมหาราช ผู้ปกครองได้พาลูกไปรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มาก่อนและแพทย์ที่รพช. ได้แจ้งให้ผู้ปกครองพาผู้ป่วยมารักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราช

จากการตรวจร่างกายผู้ป่วยพบว่าบริเวณนิ้วที่โดนแก้วบาดเป็นแผลเพียงเล็กน้อย ไม่โดนเส้นเอ็นหรือเส้นเลือด ผู้ป่วยยังสามารถขยับนิ้วได้ตามปกติ เอกซเรย์ ไม่พบกระดูกหัก จึงเกิดข้อสงสัยว่าแผลเพียงเท่านี้ไม่น่าจะเกินศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชน

เมื่อตรวจไปอีกสักพักหนึ่งผู้ปกครองของเด็กเริ่มมองที่ผมตั้งแต่หัวจรดเท้าและตำหนิว่าเป็นหมออายุยังน้อยจะดูแลลูกเค้าได้ดีหรือเปล่า และด้วยความที่ผมพึ่งเคยได้อยู่เวรที่ห้องฉุกเฉิน เป็นครั้งแรกไม่รู้ว่าอุปกรณ์อะไรเก็บไว้ตรงไหนเลยทำให้หาผ้าก๊อซ เพื่อเอามาปิดแผลผู้ป่วยไม่เจอจึงโดนผู้ปกครองเด็กตำหนิอีกว่าโรงพยาบาลมีความพร้อมไหมถ้าไม่พร้อมจะได้ไปรักษาที่อื่น

เมื่อเริ่มเห็นท่าไม่ค่อยดีผมจึงได้ไปรบกวนให้อาจารย์อาวุโสที่อยู่เวรกับผมในวันนั้นให้มาช่วยผมดูแลเคสนี้ ซึ่งพบว่าผู้ปกครองของเด็กดูพึงพอใจมากขึ้นที่ลูกเค้าได้ตรวจกับอาจารย์อาวุโส ผมเลยได้ตั้งสมมติฐานกับตัวเองว่าบางทีสาเหตุที่รพช.ให้ผู้ป่วยมารักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชทั้งๆ ที่เคสนี้ไม่น่าจะเกินศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนอาจจะเป็นเพราะว่าผู้ปกครองของเด็กไม่มีความเชื่อมั่นในรพช.

เมื่อผมได้มาปฏิบัติงานที่รพช. ผมได้มีโอกาสตรวจผู้ป่วยรายหนึ่งที่แผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งเกิดข้อขัดแย้งคล้ายๆ กัน เป็นเคสผู้ป่วยหญิงไทยอายุประมาณ 30 ปี มาติดตามอาการด้วยเรื่องข้อติด  ซึ่งคนไข้รายนี้เคยมีประวัติเมื่อ 2 เดือน ก่อนประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ล้มทำให้กระดูกข้อมือขวาแตกเล็กน้อย  โรงพยาบาลมหาราชได้ทำการรักษาโดยการใส่เฝือก และให้มาติดตามดูอาการที่ รพช.หลังเวลาผ่านไป 2 เดือน คนไข้กลับมาติดตามอาการที่รพช. และมีความรู้สึกไม่พอใจว่าทำไมข้อมือของตนจึงขยับได้ไม่เหมือนเดิมและคิดว่าเป็นความผิดของแพทย์ที่ดูแลไม่ดี แพทย์ที่ตรวจแผนกผู้ป่วยนอก จึงได้แจ้งให้ผู้ป่วยไปพบกับแพทย์ที่รักษาคนไข้เมื่อ 2 เดือนก่อนที่โรงพยาบาลมหาราช

เรื่องราวเหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในสถานพยาบาลที่มีการฝึกอบรมแพทย์และสถานพยาบาลขนาดเล็กในบริบทของสังคมที่มีทางเลือกและ มีอำนาจซื้อมากจึงมีความคาดหวังที่จะได้รับบริการคุณภาพสูง  มองจากมุมของคนไข้/ญาติ  ลักษณะบุคลิกของ-แพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ สถานที่เป็นเครื่องบ่งชี้คุณภาพบริการ จึงไม่แปลกที่ รพ.เอกชนให้ความสำคัญกับเรื่องอย่างนี้เด่นชัดมากกว่ารพ.รัฐ หมอพยาบาลและบุคลากรการแพทย์ในรพ.เอกชนจึงแต่งกายดู ภูมิฐาน ใส่สูทผูกไท ในส่วนรพ.รัฐเอง รพ.ใหญ่ก็ได้เปรียบตรงนี้มากกว่ารพช.

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวแพทย์หน้าละอ่อนกับคนไข้ข้างต้นน่าจะแก้ไขได้ไม่ยาก ถ้าแพทย์ให้ความสำคัญและหมั่นพัฒนาทักษะการสื่อสาร ซึ่งหมายรวมถึง การครองสติให้มั่นคง วางใจให้สงบแม้ถูกกระทำด้วยท่าทีไม่ไว้วางใจ ไม่เป็นมิตร จากอีกฝ่าย  การส่งต่อคนไข้ที่มีความคาดหวังสูงดังกล่าวไปยังรพ.ใหญ่ก็เป็นทางออกที่ดีในแง่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจส่งสัญญาณแก่ฝ่ายคนไข้ว่า รพช.ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ  ที่น่าวิตกยิ่งขึ้นก็คือ สัญญาณเช่นนี้อาจถูกแพร่จากคนไข้แต่ละรายไปยังญาติมิตรวงกว้างขึ้นๆ ยิ่งผ่านโลกออนไลน์การปรุงแต่งขยายสัญญาณก็จะเป็นไปอย่างกว้างขวางรวดเร็วกว่าอดีตฃ

หลายสิบปีมานี้ แม้มีนโยบาย “แพทย์ใช้ทุน” และ เงินอุดหนุนเพิ่มเติมจากเงินเดือนเพื่อจูงใจให้แพทย์ทำงานยาวนานในรพช.  แต่ภาวะสมองไหลจากรพช.กลับสู่โรงเรียนแพทย์/รพ.ใหญ่/รพ.เอกชนในเมืองยังเป็นไปประดุจกระแสน้ำเชี่ยวกรากไม่หยุดหย่อน  ตรงข้ามกับความพยายามที่จะทำความเข้าใจและหาทางออกที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ.

………………………………
คอลัมน์ : เวทีชวนคิด
โดย : ชวนคิด