ทำให้บรรดาคอการเมืองจับตามองว่า“ค่ายสีฟ้า”จะหายไปจากจอเรดาร์สนามการเมืองไทยหรือไม่ “คอลัมน์ตรวจการบ้าน” จึงต้องมาสนทนากับ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีต รมว.วัฒนธรรม และอดีต สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ถึงมุมมองต่อสถานการณ์ของพรรคการเมืองเก่าแก่แห่งนี้

โดย“ศิษย์เก่าค่ายพระแม่ธรณี” ได้เปิดประเด็นว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งมีความห่วงใย และขอเอาใจช่วยคณะผู้บริหารพรรค สส. และสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคและแก้ปัญหาต่างๆ ได้ลุล่วง และอยากให้ปชป.เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าในอนาคต

สำหรับกรณีที่ พรรคประชาธิปัตย์ จะจัดการประชุมใหญ่วิสามัญ และจะมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันที่ 9 ธ.ค.นั้น จากการประชุมคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคฯครั้งล่าสุดให้เพิ่มองค์ประชุมอีก150 คน เพื่อแก้ปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ผมค่อนข้างมั่นใจว่าองค์ประชุมใหญ่ครั้งนี้ครบแน่ แต่ก็มีปัญหาอีกว่า ใครจะมาเป็น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ซึ่งก็คงเป็นคนที่ถูกเอ่ยชื่อมาแล้ว คือ “นราพัฒน์ แก้วทอง

@ แต่ขณะนี้มีข่าวว่าอาจมีคนอื่นลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคด้วยอย่างเช่น “มาดามเดียร์ – วทันยา บุนนาค” 

เคยมีแกนนำปชป.ส่วนหนึ่งในภาคใต้พยายามจะสนับสนุนให้ “วทันยา”เป็นหัวหน้าพรรค แต่ถ้าจะมีการแข่งขันกันจริงๆ เขามีกำลังไม่พอ อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าคนในปชป.ตอนนี้ไม่ควรจะคิดประลองหรือแข่งขันกันอีก ในเมื่อพรรคมีสส.แค่ 25 คน แล้วยังจะแข่งกันเป็นหัวหน้าพรรคอีก มันจะเป็นสิ่งประหลาดมาก และอาจทำให้ปชป.สูญพันธุ์ได้ ที่จริงแล้วคนที่จะมาเป็นหัวหน้าเพื่อกอบกู้พรรค ต้องมาด้วยเสียงเอกฉันท์ มาจากความสมานฉันท์และความยินยอมพร้อมใจกันของสมาชิก ดังนั้นคนในพรรคควรพูดคุยกันให้จบก่อนการประชุมใหญ่ว่าจะเสนอชื่อใครชื่อเดียวเป็นหัวหน้าพรรค

สำหรับชื่อของ “นราพัฒน์” ผมทราบว่าสมาชิกมีบางส่วนกังวลว่า “นราพัฒน์” ยังขายไม่ได้ ยังไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของปชป. ส่วน “วทันยา” แม้มีความสดใหม่มากกว่า ดูดีกว่าชื่อคนอื่นๆ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับคนปักษ์ใต้ และกระดูกของ “วทันยา” ยังไม่ถึงพอที่จะไปสู้กับพรรคอื่นๆ อาทิ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ

@ การประชุมใหญ่ของปชป.ล่มติดต่อกันมาแล้ว 2 ครั้ง เพราะความขัดแย้งและการงัดข้อกันอย่างรุนแรงระหว่างคน 2 กลุ่มในพรรค คิดว่าปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นการประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 หรือไม่

ผมคิดว่าจะไม่มีอะไรอย่างนั้นแล้ว ส่วนการที่มีกลุ่มคนต้องการให้“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง ผมมองว่ามีแนวโน้มมากที่คุณ“อภิสิทธิ์”จะไม่ลงแข่งชิงตำแหน่งนี้ และหาก“อภิสิทธิ์”จะได้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง ไม่ว่าจะเพราะชนะการแข่งขันกับใคร หรือได้มาด้วยเสียงเอกฉันท์ เขาจะบริหารงานในพรรคไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นสส. และไม่ได้รู้จักหรือคุ้นเคยกับสส.ใหม่ในรุ่นปัจจุบัน ผมจึงไม่แน่ใจว่าความคิดของ “อภิสิทธิ์” กับบรรดาสส.ใหม่จะไปด้วยกันได้หรือไม่ และหากมีคนจำนวนหนึ่งในพรรคที่ยังไม่เห็นด้วยกับการให้“อภิสิทธิ์”เป็นหัวหน้าพรรค ก็จะเพิ่มความแตกแยกในพรรค ดังนั้นถ้า“อภิสิทธิ์”เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้งแล้วบริหารงานพรรคไม่ประสบความสำเร็จ หรือย่ำแย่ลง จะกลายเป็นตราบาปต่อตัวไป

@ ปชป.เกิดสุญญากาศเพราะขาดหัวหน้าพรรคคนใหม่ และกก.บห.ชุดใหม่มานาน สส.หลายคนยังไม่มีความโดดเด่นในสภาฯ บวกกับชื่อของว่าที่หัวหน้าพรรคก็ไม่ได้เป็นสส.ด้วย สิ่งเหล่านี้จะกระทบกับปชป.มากน้อยเพียงใด

กระทบมาก สำหรับสส.ปัจจุบันของปชป.หลายคน ยังไม่สามารถฉายแววหรือโชว์บทบาทหน้าที่ได้อย่างโดดเด่น ในสภาผู้แทนราษฎรได้เลย เพราะยุคหลังๆ ปชป.ไม่ได้มีการหล่อหลอม ไม่มีการฝึกคนเหมือนในอดีต แม้จะมาฝึกมาสร้างกันตอนนี้ ก็คงไม่ทันสำหรับการแข่งขันทางการเมืองในปัจจุบัน และในเมื่อสส.หลายคนฉายแววในสภาฯไม่ได้ ก็ทำให้ทั้งตัวสส.และพรรคไม่มีกระแส ทำให้เขาต้องหากระสุน ต้องใช้เงินจำนวนมากในการทำงานการเมืองในพื้นที่ ทุ่มเงินไปตามงานเลี้ยง งานเทศกาลต่างๆ

@ อะไรคือการบ้านชิ้นสำคัญที่หัวหน้าปชป.คนใหม่ และทีมผู้บริหารชุดใหม่ต้องทำเพื่อฟื้นฟูพรรค

ปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน คือ ต้องเร่งหยุดสมาชิกพรรคที่กำลังจะไหลออกไปอยู่พรรคอื่นๆ จากที่ผมได้พบปะพูดคุยกับแกนนำของปชป.บางคนในภาคใต้ เขาบอกว่าสมาชิกพรรคลาออกเยอะมาก มีทั้งสมาชิกที่เป็นประชาชนทั่วไป ผู้ที่สนับสนุนพรรคมานาน แกนนำในพื้นที่ แม้กระทั่งหัวคะแนน ลาออกเยอะไปอยู่กับพรรคใหญ่ๆทั้งนั้น จนทำให้บางพื้นที่แทบไม่เหลือสมาชิกปชป.เลย

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีกระแสที่จะไปกันกระสุน และตอนนี้ประชาชนในภาคใต้อยากเลือกพรรคที่เป็นรัฐบาล ที่สำคัญวันนี้การเมืองในภาคใต้กลายเป็นภาคที่ต้องใช้เงินมากที่สุด ตรงข้ามกับ ในอดีตที่ปชป.มีกระแสฟีเวอร์มากในภาคใต้ ต่อให้พรรคอื่นจะทุ่มเงินมาแข่งขันแค่ไหน ก็โดนกินเปล่า เพราะคนปักษ์ใต้ยังเลือกปชป. แต่วันนี้ในปักษ์ใต้ พรรคไหนมีเงินมากกว่า พรรคนั้นก็ชนะ

ดังนั้น “ประชาธิปัตย์”มีการบ้านข้อสำคัญมาก คือต้องเร่งสร้างกระแสให้กลับคืนมาเยอะๆ เพราะปชป.มีเงินไม่มากพอที่จะสู้กับพรรคใหญ่อื่นๆ แต่มีคำถามว่า ใครบ้างในปชป.ที่มีศักยภาพมากพอจะทำเรื่องนี้ได้ “นราพัฒน์-มาดามเดียร์”ทำได้หรือไม่ หากหัวหน้าคนใหม่สร้างกระแสพรรคไม่ได้ ต่อไปก็คงจะต้องขนเงินมาถมกันเรื่อยๆ แต่ต่อให้ถมเงินลงไปแล้วได้ผลมาแค่ไหน มันก็ไม่คุ้มค่า ดังนั้นปชป.จำเป็นต้องฟื้นฟูกระแสของตัวเองให้ได้ ซึ่งการสร้างกระแสของพรรคการเมืองนั้น ต้องใช้เวลานาน ขณะที่ตอนนี้พรรคอื่นๆไปไกลแล้ว นำหน้าปชป.ไปมาก แต่ถ้าปชป.ไม่เริ่มทำเรื่องนี้ก็ไม่ได้ มิฉะนั้นจะกลายเป็นพรรคที่ใช้เงินอย่างเดียว และประชาธิปัตย์จะกลายเป็นพรรคประจำจังหวัด อาจเป็นแค่พรรคของ จ.นครศรีธรรมราช หรือของสงขลาก็ได้

@ มีการจับตามองว่าคนที่มีข่าวว่าจะมาเป็นหัวหน้าปชป.คนใหม่ อาจนำพาพรรคย้ายจากฝ่ายค้านไปร่วมรัฐบาล หากมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง จะกระทบกับปชป.มาก เพราะปชป.จะฟื้นตอนที่เป็นฝ่ายค้าน และในการเลือกตั้งล่าสุดที่ปชป.ได้สส.แค่ 25 คน ตอนนั้นก็อยู่ในช่วงที่เป็นรัฐบาล ดังนั้นถ้าจากนี้มีการปรับครม.แล้ว“ประชาธิปัตย์”ไปเข้าร่วมกับรัฐบาลปัจจุบัน ในอนาคตปชป.จะยิ่งเหลือน้อยกว่าเดิม ตอนนี้ผมภาวนาว่าสส.ที่ปชป.มีอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งสส.ภาคใต้ อย่าย้ายพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะถ้าสส.ที่มีอยู่จะย้ายออกไปเนื่องจากพรรคไม่มีกระแส ไม่มีกระสุน จะทำให้ปชป.สูญพันธุ์แน่นอน เพราะหากคนที่เป็นส.ส.อยู่ย้ายออกไปก่อนจะมีการเลือกตั้งไม่กี่เดือน พรรคจะหาใครมาลงสมัครแทนได้ทัน คนใหม่จะมาทำงานพื้นที่ได้ทันหรือไม่ และใครจะกล้ามาลงแข่งกับคนเก่าที่ทำพื้นที่มานานหลายปี.