เข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ม.ค. เดือนแรกของปี 2567 ในปีนี้ผู้ประกอบการทุกคนก็คงคาดหวังที่ธุรกิจที่ทำอยู่จะรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้น ซึ่งคอลัมน์นี้ก็ขออวยพรให้ผู้อ่านและผู้ประกอบการทุก ๆ ท่าน เฮง ๆ รวย ๆ ทำมาค้าขึ้นใน “ปีมะโรง-ปีมังกร” นี้ ส่วนข้อมูลในวันนี้ คอลัมน์นี้ก็ขอนำ “กรณีศึกษา” มาฝากกัน ส่วนจะมีรายละเอียดเช่นไรบ้างนั้นลองมาดูกัน…

กวิน ศุภกฤตกุล

ทั้งนี้ กรณีศึกษาวันนี้เป็นของแบรนด์ “จอยอัส” โดยเจ้าของแบรนด์ อย่าง กวิน ศุภกฤตกุล เล่าว่า ธุรกิจของเขาผลิตสินค้ากลุ่มบิวตี้ แอคเซสเซอรี่ (Beauty Accessories) เช่น ยางรัดผม กิ๊บ หวี มานานมากกว่า 25 ปี โดยแต่เดิมนั้นอาศัยช่องทางการจำหน่ายผ่านทางร้านค้าปลีกท้องถิ่นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ กระทั่งปี 2542 มองเห็นช่องทางที่จะทำให้สินค้ากระจายไปได้กว้างขึ้น จึงนำสินค้าเข้าไปเสนอกับเซเว่น อีเลฟเว่น เพราะเห็นโอกาสเติบโตทางการตลาด ซึ่งเขาเล่าว่าตอนนั้นสินค้าของเขาเป็นกลุ่มใหม่ที่ไม่เคยมีขายในร้านเซเว่นมาก่อน จึงต้องทำการบ้านเยอะมาก โชคดีที่ได้คำแนะนำจากทีมงานทำให้ได้แนวทางนำไปพัฒนาและปรับปรุงสินค้า จนที่สุดก็เริ่มวางขายสินค้าซึ่งขณะนั้นมีเพียงกว่า 1,000 สาขาเท่านั้น แต่ด้วยการตอบรับที่ดี ทำให้ปัจจุบันสินค้าของจอยอัสมีวางขายแล้วทุกสาขา และนอกจากนี้ ทางผู้ประกอบการคนเดิมยังถอดรหัสความสำเร็จที่เกิดขึ้นว่า ธุรกิจกลุ่มบิวตี้ และสินค้าแฟชั่นเป็นอีกตลาดที่มีความท้าทาย โดยเฉพาะกับ SME เนื่องจากมีการแข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว โดย 25 ปีที่ผ่านมา ตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่องทางการจัดจำหน่ายและข้อมูลด้านการตลาด ซึ่งแต่เดิมใช้การขายแบบออฟไลน์ที่ลูกค้าต้องมาซื้อสินค้าเองที่ร้าน แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ทุกคนก็มุ่งสู่ออนไลน์มากขึ้น โดยเขาบอกว่า ข้อดีของการทำตลาดออนไลน์ นั่นก็คือทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นข้อมูลการตลาดแบบเรียลไทม์ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่นั้นมักจะโพสต์และแชร์ภาพ พร้อมคอมเม้นท์ทันทีหลังซื้อสินค้า จึงช่วยทำให้ธุรกิจได้รับรู้ถึงความต้องการของลูกค้าได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาสินค้าและวางแผนการตลาด

ส่วน “คำแนะนำ” ถึงผู้ประกอบการคนอื่นนั้น กวิน ได้ให้แนวทางไว้ว่า ยุคนี้ถือเป็นยุคทองของผู้ประกอบการในด้านข้อมูล เพราะอดีตการจะได้มาซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวกับความต้องการของลูกค้านั้น จะต้องทำวิจัยและต้องทำการรวบรวมข้อมูล แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถรับรู้ข้อมูลได้โดยตรงแบบเรียลไทม์ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี และหากได้รับโนว์ฮาวจากผู้ที่รู้จริงมาช่วยเสริมก็จะช่วยซัพพอร์ตเรื่องข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำมาใช้พัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามแม้สินค้าจะได้รับการตอบรับ แต่ยุคที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วเช่นนี้ เพื่อให้สินค้ายังตอบโจทย์ได้ดี ธุรกิจควรต้องใช้ “3 หัวใจหลัก” เพื่อให้เติบโตต่อเนื่อง นั่นก็คือ 1.หมั่นเรียนรู้ (Learning) 2.มีความคิดสร้างสรรค์ (Creative) 3.พัฒนาต่อยอดให้เป็นจริง (Change) และนี่เป็นกรณีศึกษาจากผู้ประกอบการ “ธุรกิจบิวตี้ แอคเซสเซอรี่” ที่เอสเอ็มอีสาขาอื่น ๆ ก็น่าจะนำไปปรับใช้ได้.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]