วันนี้คอลัมน์ตรวจการบ้านจึงต้องมาสนทนากับ ศิริกัญญา ตันสกุล” สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล  ถึงแง่มุมว่าประเทศไทยจะได้หรือเสียกับโครงการนี้ 

โดยศิริกัญญา” เปิดประเด็นถึงโครงการแลนด์บริดจ์ ประเทศไทยได้อะไร ว่า สำหรับโครงการนี้เรากำลังติดตามอยู่ และพบปัญหาว่า อาจจะไม่ได้คุ้มค่ากับการลงทุน แต่ทางรัฐบาลเองก็ยังยืนยันว่า จะคุ้มหรือไม่คุ้มค่าให้นักลงทุนเป็นผู้ตัดสินใจ พอเรามาดูในรายละเอียดการศึกษาในเบื้องต้นที่ผ่านมาก็พบว่า เมื่อไม่คุ้มค่าจึงกังวลว่าสุดท้ายนักลงทุนก็อาจไม่ได้มาตามนัด แถมการที่รัฐบาลเคยวางแผนไว้ว่าถ้าเป็น โครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน(PPP) รัฐบาลออกเพียงแค่ส่วนของการเวนคืน ซึ่งน่าจะเป็นเงิน 3,000-4,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง ส่วนอีก 1 ล้านล้านบาทกว่า ให้เอกชนเป็นคนลงทุนทั้งหมด  

แต่ถ้าในท้ายที่สุดแล้วเอกชนไม่สนใจ หรือเห็นแล้วว่าไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนเองทั้งเกือบ 100 % แบบนี้ เอกชนก็อาจใช้วิธีการที่ไปต่อรองกับรัฐบาลให้เพิ่มเงินลงทุนมากขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะไม่ได้เป็นไปตามที่เราได้วาดหวังหรือจินตนาการเอาไว้ สุดท้ายก็คงจะดึงได้แต่นักลงทุนที่เขาไม่ได้มาด้วยผลกำไรอย่างเดียว แต่มาด้วยผลประโยชน์อื่นๆ ในด้านของภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น ไม่ใช่ทางด้านการเงิน อำนาจต่อรองของประเทศไทยที่เหลืออยู่ก็จะน้อยลงไปด้วย ดังนั้น ณ จุดนี้ก็เลยตอบได้ยากมากว่าตกลงเราจะได้อะไรจริงๆ หรือไม่

@ ก้าวไกลมองว่ากระบวนการควรจะเดินหน้าต่อหรือพอแค่นี้

เราก็ไม่ได้บอกว่าต้องยกเลิก เพียงแต่ว่าอยากให้มีการทบทวนโครงการนี้ ที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในต้นสมัยของรัฐบาลเศรษฐา ก็เพราะว่า “คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ” อดีต รมว.คมนาคม ได้เริ่มศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2564 แล้วก็หน้าตาเหมือนกัน ก็คือเป็นแลนด์บริดจ์เหมือนกันเลย ผลการศึกษามันก็ออกมาเยอะแล้ว ดังนั้นถ้า รัฐบาลเศรษฐา ฝันต่อเนื่องจากของคุณศักดิ์สยามเป๊ะๆ เลย โดยไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็ยังต้องทบทวนอยู่ดี เพราะอย่างที่เราได้ออกมาตั้งคำถามในสมมติฐานที่มันไม่ค่อยน่าเชื่อถือหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระยะเวลาที่จะลดลงได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสายการเดินเรือที่มันแปลกๆ พยายามที่จะโกยมาให้หมดทุกสาย เพื่อให้ประมาณการรายรับของตัวเองดูดีใช่หรือไม่

หรือปัญหาเรื่องว่ามีหรือไม่มีท่อขนส่งน้ำมัน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสับสนมากๆ เหมือนกัน เพราะว่าตอนยุค “คุณศักดิ์สยาม”ไม่มีเรื่องนี้ แต่พอเป็น“คุณเศรษฐา”บอกว่ามี เขียนลงในนิเคอิและพูดไปทั่วโลกก็บอกว่ามี แต่ในรายงานยังไม่ได้ศึกษาเอาไว้ สุดท้ายแล้วถ้าคุณฝันแปลกไปเปลี่ยนรายละเอียดไปจากที่คุณศักดิ์สยามเคยคิด ก็ต้องทำรายงานกันใหม่อยู่ดี 

สรุปว่าต้องทบทวนรายงานฉบับนี้ เพราะว่ารายงานฉบับนี้เป็นต้นกำเนิดว่าทำไมจึงเป็น 20 ล้านตู้คอนเทรนเนอร์  เป็นต้นกำเนิดว่าเราจะต้องไปชวนนักลงทุนมาลงทุนที่ 1 ล้านล้านบาท รายงานฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เขาเอาข้อมูลไปโรดโชว์กับนักลงทุนทั่วโลก เรื่องนี้จึงมีความสำคัญมาก และเราอยากให้มีความละเอียดถี่ถ้วน ไม่ทำให้นักลงทุนเขามาตั้งคำถามกันได้ง่ายๆ ว่า เอ๊ะ ตรงนี้มาอย่างไร ถูกต้องแล้วหรือไม่กับการคำนวณแบบนี้

@รู้สึกอย่างไรที่เพื่อไทยที่ต้องมาแบกโครงการต่างๆ ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นทางเลือกของเขาเอง ซึ่งมีอีกร้อยแปดพันเก้าโครงการที่เขาอาจจะหยิบจะจับขึ้นมาชูได้ แต่ว่าก็ดันไปหยิบโครงการนี้ขึ้นมา ถามว่าต้องมารับมรดกโครงการของ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์”หรือเปล่า เพราะยังไปไม่ถึงไหนเลย เอาเข้าจริงมันก็คือคุณยังสามารถที่จะทบทวน หรือว่าชะลอโครงการไปเลยก็ได้

อันนี้เรียกว่ามันไม่ใช่โครงการแถวหน้าของกระทรวงคมนาคมด้วยซ้ำ เราเรียกว่าเป็นโครงการชั้น 2 แต่ว่าเขาก็ยังไปหยิบขึ้นมา อันนี้ก็เป็นเรื่องของเขาเองแล้ว ก็เข้าใจดีว่าเวลาที่ออกไปคุยกับนักลงทุนต่างชาติ ออกไปพบปะนักลงทุนในหลายๆ ประเทศ บางทีต้องมีของไปเล่า ต้องมีเรื่องเล่า ต้องมีเมกะโปรเจ็กต์อะไรต่างๆ ไปขาย แต่ว่าดันหยิบอันนี้ขึ้นมาอันที่มันดูน่าจะมีปัญหามากที่สุด

@ ถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาลมีโครงการอะไรที่จะพัฒนาพื้นที่ภาคใต้

เราคิดว่าภาคใต้สมควรจะต้องมีการพัฒนาครั้งใหญ่ ถ้าไม่ได้ตั้งโจทย์จากแลนด์บริดจ์ แต่ว่าตั้งโจทย์ว่าอยากให้ภาคใต้พัฒนาอย่างไรบ้าง คำตอบของการพัฒนาภาคใต้มันก็อาจจะเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ ท่าเรือน้ำลึก ก็คงต้องเริ่มจากการพัฒนาโดยยึดความได้เปรียบของพื้นที่เป็นหลัก แน่นอนว่าท่าเรือระนองตอนนี้มีปัญหาในเรื่องของร่องน้ำที่ตื้นเขินมาก เพราะอยู่ใกล้ปากน้ำ ร่องน้ำลึกไม่พอที่จะทำให้เรือเข้าได้ ต้องรอให้น้ำขึ้น จึงต้องมีการบูรณะและขุดลอกครั้งใหญ่เพื่อทำให้มันเป็นท่าเรือหลักสำหรับฝั่งอันดามันที่เราขาดจริงๆ รวมทั้งเรื่องรถไฟรางคู่ในเรื่องการขนส่งสินค้า ทั้งแนวตะวันตก ตะวันออก และ แนวเหนือ ใต้ ซึ่งต้องเร่งทำ

แน่นอนว่าเราคงไม่ได้มีโครงการเมกะโปรเจกต์ ที่ว้าว ใหญ่โตมหาศาล แต่เราคิดว่ามันต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ ตอบสนองกับปัญหาและสภาพในเชิงพื้นที่ด้วย ไม่ใช่ว่าฝันใหญ่เกินจริง  แต่ว่าสุดท้ายไม่สำเร็จ เพราะว่าเอาเข้าจริงๆ คนใต้โดนมาหลายโครงการแล้ว ตัวแลนด์บริดจ์เองก็ไม่ใช่ว่ามันเพิ่งเกิด ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 44 เชื่อมอ่าวไทยกับอันดามัน ก็เคยทำมาแล้ว สุดท้ายก็ไม่ได้สานต่อ มีแต่ถนน และยังไม่ได้เริ่มมีท่าเรือ  ปากบารา สตูล หาดใหญ่ สงขลา ก็จะทำแลนด์บริดจ์เหมือนกัน ดังนั้นมันกี่ยุคกี่สมัยมาแล้วที่เขาโดนหลอกด้วยโครงการเมกะโปรเจกต์ แล้วสุดท้ายมันก็เป็นไปได้แค่การขายฝัน

@บางกลุ่มมองว่าฝ่ายค้านเล่นการเมืองมากเกินไปหรือมองถึงขั้นว่าถ่วงความเจริญไม่อยากเห็นการพัฒนา

ถามว่าเล่นการเมืองหรือไม่ เราก็ต้องบอกว่าเราเป็นนักการเมือง อย่างไรเราก็คงต้องเล่นการเมือง แต่วิธีที่เราเล่นการเมือง เราไม่ได้ไปโจมตีแบบไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อเท็จจริง ทุกวันนี้ที่เราออกมาพูด ก็กลายเป็นว่าทางฝั่งเราฝั่งเดียวที่พยายามจะนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง และตั้งคำถามอย่างเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ตลอดเวลา แต่ว่าก็ไม่รู้ว่าทางไหนที่เล่นการเมือง ที่กลายเป็นว่า เอะอะก็แปะป้าย เอะอะก็บอกว่าถ่วงความเจริญ เอะอะก็บอกว่าขัดขวางการพัฒนา โดยที่ไม่ได้พยายามตอบคำถามอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในสิ่งที่เราได้ตั้งคำถามไป ต้องบอกว่าก็เล่นการเมืองทั้งคู่ เพราะอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เรื่องไหนๆ ก็ต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งนั้น แต่ว่าด้วยเจตนาที่เราก็อยากเห็นประเทศนี้พัฒนาได้ ไม่ใช่ว่าลงทุนไปแล้วก็ไม่ได้เกิดอะไรที่ดีขึ้นกับประเทศ 

ส่วนเรื่องถ่วงความเจริญหรือเรื่องของการขัดขวางการพัฒนาภาคใต้ เราก็ต้องย้ำว่าเราเห็นด้วยมากๆ กับการที่จะพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งขาดการลงทุนครั้งใหญ่มานาน แต่ว่าเรากลัวเหลือเกินว่าถ้าแลนด์บริดจ์ไม่เกิดขึ้น รอแล้วรอเล่านักลงทุนก็ไม่มา เพราะว่าเขาเห็นว่าไม่ได้คุ้มค่าอย่างที่รัฐบาลโฆษณา โครงการดีๆ ที่ควรจะได้รับการพัฒนาอื่นๆ ก็จะถูกชะลอไปด้วย  ดังนั้นสุดท้ายคุณก็ต้องกลับมาทำการศึกษาใหม่อยู่ดี ทำไมไม่เริ่มทำเสียตั้งแต่วันนี้  และทำให้เนียนมากขึ้น ไม่ให้ดิฉัน ซึ่งไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพาณิชย์นาวี แต่ว่าก็สามารถอ่านรายงานและตั้งคำถามได้ง่ายๆ ว่ามันเกิดอะไรแบบนี้ขึ้นได้อย่างไร ซึ่งน่าจะทำให้นักลงทุนเชื่อมากขึ้น และโอกาสในการที่เขาจะมาลงทุนอาจจะเพิ่มมากขึ้นด้วย.