นี่เป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญส่วนหนึ่งจากการชี้แจงไว้ของทาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ อันสืบเนื่องจากมีกระแสข่าว สปสช. มีหนี้ค้างชำระ องค์การเภสัชกรรม หรือ อภ. ซึ่ง สปสช. ก็มีการชี้แจงแล้วว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น… สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ใช่ลูกหนี้ค้างชำระ องค์การเภสัชกรรม

แต่ก็ยังมีการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่

ทาง สปสช. จึงชี้แจงย้ำชัด ๆ อีกครั้ง

โดยแจกแจงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้-กรณีนี้… ทาง ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ในฐานะโฆษก สปสช. ได้มีการเปิดเผยโดยแจกแจงผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าทาง องค์การเภสัชกรรม หรือ อภ. มีลูกหนี้ที่มียอดค้างชำระ (ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าวัคซีน) และยังไม่สามารถเรียกเก็บได้ ในปีงบประมาณ 2566 จนส่งผลให้องค์การเภสัชกรรมต้องกู้เงินเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน โดยมีลูกหนี้ 4 กลุ่มหลัก ในจำนวนนี้เป็นส่วนของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ที่มียอดหนี้ค้างชำระจำนวน 4,133.72 ล้านบาท ซึ่งสำหรับ สปสช. นั้น…

“ยืนยัน” ว่า “ไม่ได้เป็นหนี้ตามที่มีข่าว”

ทพ.อรรถพร ได้สะท้อนข้อมูลแจกแจงมาว่า…สปสช. ขอชี้แจงว่า…ในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ตามโครงการพิเศษของ สปสช. ในแต่ละปีนั้น สปสช. จะมีการกันงบประมาณไว้ตั้งแต่ต้นปี เพื่อให้เพียงพอกับแผนความต้องการใช้ยาในแต่ละปี อยู่แล้วและ สำหรับในปีงบประมาณ 2566 ทาง สปสช. ก็ยังมีงบประมาณที่รอจ่ายให้กับเครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถี ในฐานะที่เป็นผู้จัดหายาจากทางองค์การเภสัชกรรม อีกจำนวน 941,419,468.03 บาท

“สาเหตุที่ยังเป็นงบประมาณรอจ่าย ก็สืบเนื่องจากโรงพยาบาลราชวิถียังไม่ได้ทำหนังสือเบิกงบประมาณมาที่ สปสช.” …นี่เป็นคำชี้แจงกรณี “งบประมาณรอจ่าย” …ซึ่ง ณ ที่นี้โฟกัสที่ “เครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถี”

ทาง ทพ.อรรถพรโฆษก สปสช. สะท้อนข้อมูลผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาอีกว่า… โดยปกติแล้ว ในแต่ละงวดของการเบิกจ่ายนั้น องค์การเภสัชกรรม หรือ อภ. จะมีการส่งข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการให้ สปสช. เพื่อเตรียมตรวจสอบข้อมูลเพื่อจ่าย โดยจะเป็นการทำ
คู่ขนานกับการทำหนังสือเบิกจ่ายค่ายาและเวชภัณฑ์จากโรงพยาบาลราชวิถี จากนั้น เมื่อ สปสช. ได้รับหนังสือเบิกจ่ายค่ายาและเวชภัณฑ์อย่างเป็นทางการจากโรงพยาบาลฯ ก็จะโอนเงินให้โรงพยาบาลฯ นำไปจ่าย อภ.

ภายใน 15 วันทำการหลังได้รับหนังสือ

อย่างไรก็ตาม ย้อนไปช่วงตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ทาง สปสช. ไม่ได้รับหนังสือเบิกจ่ายค่ายาและเวชภัณฑ์ตามโครงการพิเศษจากโรงพยาบาลราชวิถี จึงทำให้ไม่สามารถโอนจ่ายเงินให้ได้ โดยในปีงบประมาณ 2566 มีการตั้งงบประมาณการจัดหายาและเวชภัณฑ์ตามโครงการพิเศษอยู่ที่ 9,520 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านั้น สปสช. ก็ได้โอนให้โรงพยาบาลราชวิถีเพื่อนำไปจ่ายให้องค์การเภสัชกรรมแล้วจำนวน 8,281 ล้านบาท และ มียอดราว 941 ล้านบาทรอการเบิกจ่าย ซึ่ง…

สปสช. ก็พร้อมจ่ายหลังได้รับหนังสือ

เมื่อทางโรงพยาบาลราชวิถีทำหนังสือเบิกจ่ายมายัง สปสช. ทาง สปสช. ก็จะสามารถโอนเงินค่ายาและเวชภัณฑ์ให้ได้ภายใน 15 วันทำการทันที… “เช่นเดียวกับการจัดหายาและเวชภัณฑ์ในแต่ละงวดของปีงบประมาณ 2567 ที่ยังมีงบประมาณรอจ่าย เมื่อโรงพยาบาลราชวิถีทำหนังสือเบิกจ่ายมา ทาง สปสช. ก็พร้อมโอนเงินให้ภายใน 15 วันทำการทันที ซึ่งเรื่องนี้ทางโรงพยาบาลราชวิถีก็ทราบแล้ว และจะเร่งดำเนินการโดยเร็ว” …ทางโฆษก สปสช. แจกแจง

และสะท้อนข้อมูลผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาด้วยว่า… โรงพยาบาลราชวิถีเป็นเครือข่ายบริการที่จัดหายาและเวชภัณฑ์สนับสนุนตามโครงการพิเศษของ สปสช. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561โดยมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อ 18 ส.ค. 2560 จากการที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ ชี้ว่า สปสช. ไม่สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้ตามกฎหมาย จึงมีการหารือแนวทาง ซึ่งออกมาเป็นมติบอร์ด สปสช. ให้ตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อ ให้โรงพยาบาลราชวิถีเป็นตัวแทนหน่วยบริการจัดซื้อแทน สปสช.

ทั้งนี้ ปี 2561 สปสช. จ่ายเงินให้โรงพยาบาลราชวิถีนำไปจ่าย อภ. 11,594 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 11,194 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 10,231 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 14,829 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 12,678 ล้านบาท และปี 2566 จ่ายแล้ว 8,281 ล้านบาท รวมจ่ายแล้วทั้งสิ้น 68,807 ล้านบาท ยังไม่รวมที่รอเบิกจ่าย ที่ระบุข้างต้น …นี่ก็อีกส่วนจากข้อมูลชี้แจง

สรุป… “สปสช. ไม่ใช่ลูกหนี้ของ อภ.”

และ “มีงบพร้อมจ่ายตัวแทนจัดซื้อ”

โดยที่ “ต้องทำตามระบบเบิกจ่าย”.