ทั้งนี้ จากเหตุร้าย ๆ ลักษณะนี้ก็ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า “เกิดอะไรขึ้นกับจิตใจคนยุคนี้?” หรือ “อะไรที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดกรณีรักร้ายทำลายชีวิต?” …นี่เป็นประเด็นคำถามที่สังคมไทยคนไทยที่รู้สึกคลางแคลงใจสงสัยย่อมอยากจะรู้คำตอบ ว่า…

“จบรักโดยทำลาย-ฆ่าเพราะความรัก”

กรณีนี้ “มีปัจจัยใดทำให้เกิดเหตุขึ้น?”

ปุจฉานี้ “มุมจิตวิเคราะห์มีคำอธิบาย”

ทั้งนี้ กับ “ปุจฉารักร้ายทำลายชีวิต” ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องอยู่เนือง ๆ ในไทยระยะหลัง ๆ นั้น ก็มีการวิเคราะห์น่าคิดจากทาง ผศ.ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ อาจารย์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อธิบาย “ปรากฏการณ์ร้าย ๆ” นี้เอาไว้ผ่าน รายการจิตวิทยาเพื่อคุณ ทางคลื่นวิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz ซึ่งมีการแจกแจงเอาไว้ โดยสังเขปมีดังนี้…

ผศ.ดร.วัชราภรณ์ อาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาฯ สะท้อนไว้ว่า… หลายคนคงเคยสงสัยว่า…ทำไมคนรักกัน แต่เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบอกเลิก อีกฝ่ายจึงตอบแทนด้วยความรุนแรง เช่น การฆ่าหั่นศพแฟน การฆ่าตัวตายพร้อมกัน การยิงคู่รักตาย แล้วฆ่าตัวตายตาม นี่ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า… คนรักกันจะไม่ทำร้ายกันจริงหรือเปล่า?และ การทำลายทั้งตัวเองและคู่รัก เมื่อคนเราอกหักหรือผิดหวังนั้น มีที่มาจากสาเหตุอะไรบ้าง? ซึ่งคำถามนี้คงต้องเริ่มต้นด้วย “ปุจฉา” ว่า…ทำไมคนคิดทำร้ายตัวเอง เมื่อถูกคนรักทอดทิ้ง และทำไมจึงคิดฆ่าคนที่รักให้ตาย หรือทำร้ายให้เจ็บปวด เมื่อเขาทอดทิ้งไป…

กับคำถาม-ปุจฉานี้ อาจารย์คณะจิตวิทยาระบุไว้ว่า… หลายคนอาจตอบง่าย ๆ ว่า…เป็นเพราะโกรธหรือเสียใจมาก แต่…หลายคนก็คงเคยเสียใจมากหรือโกรธมากจากความผิดหวังในความรักเช่นกัน แล้วทำไมจึงไม่ก่อเหตุรุนแรงต่อคนรักหรือต่อตัวเอง เพราะฉะนั้น การทำร้ายตนเองและคู่รักเมื่อผิดหวังในความรัก ไม่ได้เป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ แต่มีปัจจัยทำให้เกิด ทั้งนี้ นักจิตวิทยาได้เคยมีการศึกษาว่า… เรื่องนี้ อาจต้องสืบค้นย้อนหลังไปถึงช่วงที่แต่ละคนยังเป็นทารก ในช่วง 2-3 ปีแรกของชีวิต ว่า… ขณะที่เป็นทารกนั้น คน ๆ นั้นได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างไร? โดยเฉพาะเรื่อง “ลักษณะความผูกพัน”

ความผูกพันรูปแบบต่าง ๆ ล้วนมีผล

มีอิทธิพลติดตัวทารก…จนเติบโตขึ้น

แล้ว ลักษณะความผูกพันแบบใดที่ทำให้คนเรามีความรักหรือความสัมพันธ์ราบรื่น? หรือแบบใดที่มักทำให้มีปัญหา นำไปสู่การแก้ปัญหาความสัมพันธ์ด้วยการทำร้ายกันในที่สุด? กับเรื่องนี้ ผศ.ดร.วัชราภรณ์ ขยายความไว้ว่า… การที่แต่ละคนมีความเชื่อมั่นในคุณค่าตัวเองไม่เท่ากัน และเชื่อมั่นในคนอื่นแตกต่างกัน เกิดขึ้นเพราะกรณีการเอาใจใส่ในการเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก ซึ่งทำให้เกิดเป็น “ลักษณะความผูกพันกับคนอื่น” ที่มี 3 รูปแบบ คือ… 1.แบบมั่นคง 2.แบบหลีกเลี่ยง 3.แบบวิตกขัดแย้ง โดยที่ความผูกพันแต่ละแบบจะทำให้คนเราสร้างหรือรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นแตกต่างกันไป…

สำหรับแบบแรก คือ “แบบมั่นคง” ที่เกิดจากการที่แม่ได้มีการเลี้ยงดูเอาใจใส่ตอนเป็นทารกอย่างอบอุ่น ทำให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เชื่อมั่นในคุณค่าตัวเอง และมักแสดงความรักที่มีต่อผู้อื่น ซึ่งถ้าหากมีปัญหากับคนรักก็มักจะไม่โกรธมาก โดยผู้ที่มีความผูกพันแบบนี้ เมื่อโกรธคนรักก็มักจะคาดหวังในเชิงบวกเสมอว่า…จะหาทางออกให้กับปัญหาได้

ส่วนแบบที่สอง คือ “แบบหลีกเลี่ยง” คนที่มีลักษณะความผูกพันแบบนี้มักเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น ถูกเลี้ยงดูอย่างห่างเหิน ทำให้มีความผูกพันกับผู้อื่นไม่มั่นคง เพราะรู้สึกไม่มีค่าเพียงพอกับความรัก จนไม่ค่อยเชื่อใจผู้อื่น ซึ่งผู้ที่มีความผูกพันแบบนี้ เวลาผิดหวังมักจะแสดงความก้าวร้าว โกรธเกรี้ยว และก็มักจะเลือกปฏิเสธมิตรไมตรีจากผู้อื่น

สุดท้ายแบบที่สาม คือ “แบบวิตกขัดแย้ง” เกิดจากการไม่ถูกดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอในวัยทารก จนเกิดความผูกพันกับผู้อื่นที่ไม่มั่นคงในแบบวิตกขัดแย้ง โดยผู้ที่มีความผูกพันแบบนี้จะมีความขัดแย้งในตัวเอง คืออยากเป็นที่รักของคนอื่นมาก แต่ก็กังวลว่าจะไม่มีค่าพอหรือกลัวถูกปฏิเสธ หรือเวลาที่เห็นแฟนคุยกับคนอื่นก็มักรู้สึกหวั่นไหววิตกกังวลมาก ซึ่งคนที่มีความผูกพันแบบนี้มีนิสัยขี้หึงที่สุด อีกทั้งการไม่มั่นใจตัวเองจึงทำให้ความสัมพันธ์ไม่ค่อยยืนยาวนัก และที่สำคัญ…คนที่มีความผูกพันแบบนี้ เมื่อถูกคนรักตีจาก หรือผิดหวังความรัก มักจะลงมือทำร้ายคนรักด้วยความโกรธและความหึงหวง

…นี่เป็น “ลักษณะความผูกพัน 3 รูปแบบ” ที่อาจารย์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ไว้ว่า “แต่ละแบบเมื่อผิดหวังความรักจะมีการแสดงออกต่างกัน”… ทั้งนี้ ทาง ผศ.ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ ยังมีการระบุเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ด้วยว่า… แล้วในเวลาที่บางคนต้องสูญเสียคนรัก หรือถูกคนรักทอดทิ้งไป คนลักษณะแบบใดที่จะต้องระวังมากที่สุด? เพื่อไม่ให้คน ๆ นั้นลุกขึ้นมาทำร้ายคนรักหรือทำร้ายตัวเอง!! หรือ คนที่มีลักษณะความผูกพันแบบไหนที่อาจนำสู่การฆ่าตัวตายหรือฆ่าคนรักได้ในที่สุด?…ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นก็อาจพอเห็นภาพกว้าง ๆ ระดับหนึ่ง แต่…

ปุจฉานี้ก็ “มีคำอธิบายแจกแจง” ไว้อีก

ยัง “มีรายละเอียดน่าพินิจเพื่อเท่าทัน”

เช่นไร? อย่างไร? ตอนหน้ามาดูต่อ…