โดยกรณีหลังมีที่มาจากการที่กลุ่มกะเทยไทยถูกกลุ่มกะเทยฟิลิปปินส์รุมทำร้ายบาดเจ็บ แถมยังลงคลิปเชิงเหยียดหยาม จนนำสู่การ “เปิดศึกทวงคืนศักดิ์ศรีกะเทยไทย” …ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีที่คนไทยพิพาทกับคนต่างชาติ…

เกิด “ปุจฉา” เกี่ยวกับ “คนต่างชาติ”

ทั้ง ๆ ที่ “เข้ามาอยู่ในประเทศไทย”

เหตุไฉนจึง “โนสน-โนแคร์คนไทย??”

ทั้งนี้ กรณีพิพาทระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นนั้นก็ว่ากันไป… อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึง “ความป๊อปของคนไทย-กระแสฟีเวอร์คนไทย” ในหมู่ชาวต่างชาตินั้น…ในอีกแง่มุมหนึ่ง “ไทยก็มีดีอยู่มาก” เช่นกัน จนถึงขั้นทำให้รัฐบาลเห็น “ช่องทางสร้างรายได้ให้ประเทศ” ซึ่งแง่มุมที่ว่านี้ก็คือ “กระแสซีรีส์วายของไทย” ที่ไม่เพียงฮิตในไทย แต่ยัง “ฟีเวอร์ในต่างประเทศ” ด้วย จนทำให้ รัฐบาลไทยมีแนวคิดที่ “จะใช้ประโยชน์” จากกระแสฟีเวอร์ นี้…

จะใช้เป็น “อีกแนวรบช่วยเศรษฐกิจ”

นัยว่า…จะผลักดัน “ซีรีส์วายไทย” ให้เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย” ด้วย จะใช้เป็น “อีกเครื่องมือทางเศรษฐกิจ” ของไทยส่วน จะทำได้จริงหรือไม่? หรือ มีอะไรที่ควรต้องเสริมอีก? เรื่องนี้ก็ “มีมุมวิเคราะห์” ที่สะท้อนไว้น่ารับฟัง…

กับ “มุมวิเคราะห์” เรื่องนี้ เป็นการสะท้อนจาก ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจการนักศึกษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่สะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ โดยเริ่มจากฉายภาพ “ปัจจัยสำคัญ” ที่ทำให้ “ซีรีส์วายไทยฮิตไปทั่วโลก” ว่า… มีปัจจัยจากการที่ สังคมสมัยใหม่มองมุมบวกเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น เมื่อเทียบกับอดีต ที่ความสัมพันธ์แบบนี้เป็นเรื่องต้องปิดบัง นอกจากนี้ อีกปัจจัยทำให้ฮิตก็มาจากการที่ ซีรีส์วายไทย “สอดแทรกประเด็นสังคมที่ก้าวหน้า” ไว้ในเนื้อหา ด้วย

“เท่าที่เห็นตอนนี้พบว่า… มีซีรีส์วายของไทยหลายเรื่องที่มีการสอดแทรกเรื่องของการสมรสเท่าเทียมเข้ามาในเนื้อหามากขึ้น รวมถึงสะท้อนให้เห็นการยอมรับจากครอบครัว และเรื่องสุขภาพด้วย จนซีรีส์วายไทยได้รับเสียงชื่นชมและกระแสตอบรับที่ดีในต่างประเทศ” …ทาง ดร.รณภูมิ ระบุฉายภาพไว้เกี่ยวกับ “ปัจจัย” ที่เกี่ยวข้อง

ซีรีส์วายไทยฮิต” นี่ “มีปัจจัยหนุน”

และนอกจาก “ซีรีส์วายไทยฟีเวอร์ไปถึงต่างชาติ” แล้ว เรื่องนี้ก็ยังมีผล ทำให้สังคมไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน โดยทาง ดร.รณภูมิ ได้ขยายความประเด็นนี้ว่า… ที่เป็นเช่นนี้ เพราะซีรีส์วายไทยช่วยเป็นตัวแทนให้คนบางกลุ่มเพื่อเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างด้วย นอกเหนือจากการนำเสนอความบันเทิง จนสังคมเกิดทัศนคติเชิงบวกต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยประเด็นนี้สะท้อนชัดเจนผ่าน “ทิศทางที่เปลี่ยนไป” ของ “ละคร-ภาพยนตร์ซีรีส์วาย” ในปัจจุบัน อาทิ หลายเรื่องสามารถ ออนแอร์ช่วงไพรม์ไทม์ได้ หรือได้เรต 13+ นี่สะท้อนทัศนคติสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น

ทำให้ได้กลุ่มผู้ชมที่มีอายุน้อยลง

จากเดิมที่ต้องช่วงดึกมักได้เรต 18+

นอกจากนั้น อีก “จุดเด่นซีรีส์วายไทย” ที่เห็นได้ก็คือ สามารถสื่อสารเรื่องความสัมพันธ์ที่หลากหลายได้ดี จนทำให้ผู้ชมทั้งคนไทยและคนต่างชาติสามารถเข้าถึงและเข้าใจในเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารได้อย่างง่าย ๆ หรือรู้สึกอินไปกับบทและเนื้อเรื่องในซีรีส์ที่นำเสนอ ซึ่งนี่ก็ เป็นอีกปัจจัยสำคัญทำให้ “ซีรีส์วายไทยมีกระแสตอบรับดีมาก” กลายเป็น “สินค้าที่ขาดไม่ได้” แม้ว่าในอดีตซีรีส์แนวนี้จะเคยเป็น “ของแสลงในเชิงการตลาด” เนื่องจากสปอนเซอร์ยังไม่เปิดรับก็ตาม

แล้วจะต่อยอดใช้ประโยชน์อย่างไร?

ทั้งนี้ กับประเด็นนี้ ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ชี้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… สังคมไทยใช้ประโยชน์จากกระแสฟีเวอร์ซีรีส์วายไทยได้แน่นอน ไม่เฉพาะแค่เป็น “สินค้าบันเทิง” สามารถ ใช้เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย” ได้ด้วย แต่มีหลักที่สำคัญคือ… ต้องปรับทิศทางเนื้อหาให้เชื่อมโยงสังคมและโลกมากขึ้น ไม่เน้นขายแค่ความสวยหล่ออย่างเดียว แต่ ควรสอดแทรกเรื่องการขับเคลื่อนสังคม เพราะเรื่องนี้สำคัญมาก และการที่ไทยจะใช้ประโยชน์จากกระแสฟีเวอร์นี้ได้ ก็ ต้องให้ซีรีส์วายกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์เสียก่อน ไทยจึงจะได้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ เหมือนที่ซีรีส์ของเกาหลีใต้ทำได้

“ถ้าทำได้ ซีรีส์วายไทยก็จะมีพลังทำให้สังคมดีขึ้นได้ด้วย หรือเกิดประโยชน์ด้านต่าง ๆ ไม่เฉพาะเศรษฐกิจ แต่ยังช่วยลดปัญหาสังคมด้วย ถ้าในเนื้อหาของซีรีส์วายนั้นจะมีการเพิ่มหรือสอดแทรกประเด็นสังคมต่าง ๆ เข้าไปด้วย เช่น ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ปัญหาสุขภาพ ความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น” …นี่เป็นอีกประเด็นน่าสนใจ

ก็ “น่าพิจารณา” กับการ “ใช้ประโยชน์”

“ซีรีส์วายไทย” ที่ “ตอนนี้ต่างชาติก็ฮิต”

น่าลุ้น “น่าเชียร์…ศึกซีรีส์วายไทย??”.