สัปดาห์ที่แล้วคอลัมน์ “ว่ายทวนน้ำ” ได้นำเสนอบทความเรื่อง “แปลพระไตรปิฎกเป็นอังกฤษ มีข้อพิจารณาที่น่าห่วงใย” หลังการเปิดเผยข้อมูลของอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งอยู่ในระหว่างการคัดเลือกคณะกรรมการทั้งไทยและต่างประเทศ โดยได้มีการพิจารณารายชื่อนักวิชาการที่จะเข้ามาแปลพระไตรปิฎกแล้ว รวม 69 รูป/คน เป็นนักวิชาการมาจากประเทศไทย 47 รูป/คน และต่างประเทศ 22 คน เพื่อนำรายชื่อเสนอให้ที่ประชุมมหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป จึงขอนำการสนทนาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “การจัดทำพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ มีประโยชน์จริงหรือ?” เมื่อวันที่ 19 ก.ย.64 ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนามาให้ชาวพุทธในทุกภาคส่วนของสังคมได้ร่วมกันพิจารณาไตร่ตรอง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำรงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญมั่นคงยิ่งขึ้นสืบไป

อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา กล่าวว่า “…ได้ยินคำว่าชาวพุทธ ไม่ทราบว่าแต่ละคนเข้าใจว่าตนเองเป็นชาวพุทธหรือเปล่า ถ้าเป็น หมายความว่า นับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง มิฉะนั้นแล้ว จะชื่อว่าชาวพุทธได้อย่างไร แต่ความจริง ก็ต้องเข้าใจแม้แต่คำว่าพุทธ หรือแม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหมายความถึงอะไร  พุทธ คือ ปัญญาความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริง  เมื่อเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นผู้ที่ประเสริฐสุด ด้วยพระปัญญาคุณเหนือบุคคลอื่นใดทั้งสิ้น และเมื่อได้ทรงพระมหากรุณาแสดงธรรมให้คนที่เข้าใจได้เห็นประโยชน์ว่า  นี่เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต  เป็นที่พึ่งที่จะมีชีวิตดำรงต่อไปในทางที่ถูกต้อง ผู้นั้นเห็นประโยชน์อย่างนี้  เข้าใจอย่างนี้ก็เป็นชาวพุทธ  เพราะฉะนั้นถ้าเป็นชาวพุทธโดยไม่ได้รู้จักว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงอะไร ที่จะให้ได้เข้าใจถูกต้อง  ก็จะชื่อว่าเป็นชาวพุทธได้ไหม…

ถ้าจะแปลพระไตรปิฎกจากภาษาไทยหรือจากภาษามคธีที่ใช้คำว่าภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษ ให้ใครอ่าน เมื่อเป็นภาษาอังกฤษจะเป็นประโยชน์กับคนไทยไหม ประโยชน์อยู่ตรงไหน การทำสิ่งใดก็ตามต้องคำนึงถึงประโยชน์ มิฉะนั้นจะเสียเวลา เสียแรงงาน แล้วก็ไม่ได้อะไร เสียเงินเสียทองด้วย เพราะไม่เกิดประโยชน์  ด้วยเหตุนี้ก่อนจะทำอะไร ประโยชน์สำคัญที่สุดนั้น ทำเพื่ออะไร มีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน การที่คนไทยคิดที่จะแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้คนที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยอ่าน  จะเป็นประโยชน์ไหม ให้คนอื่นอ่าน เขาจะอ่านหรือไม่อ่านก็ไม่รู้ ข้อสำคัญที่สุด คือ พระไตรปิฎกได้แปลเป็นภาษาอื่นมาก่อนหน้านี้ ยิ่งเป็นภาษาอังกฤษก็มีการแปลมานานแล้วด้วย ก่อนที่เราจะมาคิดแปลกัน ซึ่งสำเร็จแล้วด้วย ทั้งอรรถกถา ทั้งอะไรทั้งหมด ล้วนมีแล้ว แปลอีกเพื่ออะไร?  เพราะฉะนั้นต้องพิจารณา ต้องไตร่ตรอง เพื่อให้รู้จริงๆว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ควรทำ สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ ควรทำไหม?…

พระธรรมมีความลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นในภาษาไหนทั้งสิ้น  ถ้าไม่มีความเข้าใจพระธรรม แล้วมีการแปลพระไตรปิฎก เขาก็ไม่สนใจ สิ่งที่เราแปลเราหวังให้ใครอ่าน แต่เราต้องดูสากลทั่วไปถึงเหตุถึงผลด้วยว่า พระธรรมทั้งหมดคุณค่าอยู่ที่ความเข้าใจ ความเข้าใจก็ต้องอาศัยภาษา แล้วภาษาที่คนจะได้เข้าใจจริงๆ ลึกซึ้งจริงๆ ก็คือ ภาษาที่ใช้อยู่ทุกวันเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นภาษาใดๆ ก็ตาม พระไตรปิฎกไม่ได้นอกเหนือไปจากการเข้าใจความจริงในสิ่งที่กำลังมี แม้แต่จุดนี้คนก็ไม่ได้สนใจ เขาเข้าใจผิด เขาคิดว่าต้องไปปฏิบัติต้องไปทำอะไรกันทั่วโลก เป็นอย่างนี้

ถ้าเป็นโอกาสที่เราจะสามารถทำให้คนอื่นได้เห็นประโยชน์และได้ใช้เวลานั้นอย่างมีประโยชน์ แม้ทรัพย์สินเงินทองที่จะใช้ไปในการที่ไม่มีประโยชน์ก็กลับมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ ขอให้ทุกคนร่วมกันพิจารณา ตรงและจริงใจว่า ประโยชน์อยู่ที่ไหน จะแก้ไขอย่างไร หรือไม่แก้ไข หรือจะปล่อยเลยตามเลย นี่เป็นสิ่งที่ต้องไตร่ตรอง ต้องเป็นผู้กล้าต่อการที่จะรู้ว่า  ความจริงอยู่ตรงไหน ปัญหาอยู่ตรงไหน จะแก้ตรงไหน ขณะนี้ยังไม่ได้ทุ่มเทไปจนกระทั่งถึงว่าใช้เงินทองไปจนหมด  สามารถที่จะนำเงินนั้นไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าถึงแม้แปลไป เขาก็ไม่สนใจ คนไทยต้องช่วยกันลองคิดดูว่า จะมีความหวังดีที่จะให้คนไทยด้วยกันได้เข้าใจพระธรรม หรือว่าเราไปหวังให้คนอื่นซึ่งเขาไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วบอกว่ามีหนังสือพระไตรปิฎกที่ดีมากให้เขาอ่าน เขาก็ไม่อ่านเหมือนกับคนไทยทั่วไป เราทุกคนไม่ใช่ว่าจะไม่รู้จักพระไตรปิฎก ไม่ใช่ว่าไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่ามีความเข้าใจพระธรรมหรือเปล่า ศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพหรือเปล่า แทนที่จะไปเสียเงินทำสิ่งที่เขาก็ไม่ได้สนใจ มาหาทางที่คนไทยจะได้เห็นประโยชน์จริงๆว่า ชีวิตที่เป็นอยู่มีค่าที่สุด คือ ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ประมาณค่ามิได้เลย เพราะไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ยังรวมถึงชาติต่อๆไปอีก ทุกคำซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาคุณ อนุเคราะห์ให้เห็นคุณค่าของแต่ละนาทีซึ่งสามารถที่จะทำให้เป็นคนดี เข้าใจพระธรรม แก้ปัญหาต่างๆ ได้  ไม่หวั่นไหว…”

อาจารย์จักรกฤษณ์ เจนเจษฎา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์ในคดีชำนัญพิเศษ กล่าวว่า “…ปัจจุบันในวงการวิชาการพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ได้มีการจัดทำพระไตรปิฎก ภาษาบาลีอักษรโรมัน ซึ่งหมายถึง พระไตรปิฎกที่เขียนด้วยภาษาโรมัน(ภาษาอังกฤษ) อ่านออกเสียงบาลี และมีพระไตรปิฎก ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นการแปลจากบาลีมาเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักวิชาการพระพุทธศาสนา และผู้ที่สนใจในการศึกษาพระพุทธศาสนาที่เป็นชาวต่างชาติ ได้ใช้ในการศึกษาหาความรู้อยู่แล้ว โดยมีผู้จัดทำพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษดังกล่าวที่ได้รับความเชื่อถือระดับโลกอยู่ ๓ แห่ง ได้แก่ พระไตรปิฎกของสมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text Society) พระไตรปิฎกของสมาคมสำนักพิมพ์พุทธศาสนา (Buddhist Publication Society) และ พระไตรปิฎกของ Bhikkhu Bodhi จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Wisdom Book ซึ่งพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษของแต่ละแห่งนั้น ได้ดำเนินการจัดทำโดยผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและมีความรู้ทั้งบาลีและภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาของผู้แปลนั้นเอง อีกทั้ง ได้มีการดำเนินการมาแล้วเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง…

สมาคมบาลีปกรณ์ เป็นสมาคมที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2424 (ค.ศ.1881) ซึ่งเป็นเวลา 140 ปีล่วงมาแล้ว โดยผู้ก่อตั้งสมาคม คือ Mr. Thomas William Rhys Davids ซึ่งเป็นข้าหลวงของอังกฤษ ที่ได้ไปทำงานในประเทศศรีลังกาในยุคที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และพบคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถาบาลีมากมาย Mr. Davids ซึ่งจบปริญญาเอกภาษาสันสฤตและทมิฬ เกิดความสนใจ จึงศึกษาบาลีจนแตกฉาน และมีเจตนาที่จะแปลคัมภีร์บาลีดังกล่าวมาเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้ได้มีการเผยแพร่สาระความรู้ในคัมภีร์ให้แก่ชาวตะวันตกได้ศึกษาค้นคว้า ต่อมาจึงได้ก่อตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ขึ้นที่เมืองลอนดอนเพื่อรวบรวมผู้เชี่ยวชาญทางภาษาและศาสนาพุทธมาดำเนินการแปลพระไตรปิฎกทั้งเป็นแบบบาลีอักษรโรมันและแปลเป็นภาษาอังกฤษตั้งแต่เริ่มมีการก่อตั้งสมาคมมาจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันได้มีการแปลพระไตรปิฎกบาลีโรมันจนครบทั้งสามปิฎก และมีการแปลพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษเสร็จเรียบร้อยไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว รวมทั้งคัมภีร์อรรถกถาหลายคัมภีร์ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษเช่นกัน

การจัดทำพระไตรปิฎกแปลของสมาคมบาลีปกรณ์นั้น มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวข้องกับประเทศไทยด้วย เนื่องจาก ในการจัดทำพระไตรปิฎกของสมาคมบาลีปกรณ์คัมภีร์ 2 เล่มแรกที่ได้รับการสนับสนุนโดยพระราชทรัพย์พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช รัชกาลที่ 5 ด้วย และยังมีคัมภีร์เล่มที่ 3 และ 4 ได้รับการสนับสนุนจากพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการแปลพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นภาษาอังกฤษที่ทำให้ชาวต่างชาติมีโอกาสได้รับความรู้จากคำสอนของพระพุทธองค์ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น สมาคมบาลีปกรณ์ ได้จัดทำพจนานุกรม บาลี – อังกฤษ โดยได้รับพระราชทานทุนทรัพย์จากรัชกาลที่ 5 เป็นเงิน 500 ปอนด์ ทั้งนี้ พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญและเชื่อมั่นในการจัดทำพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษของสมาคมบาลีปกรณ์ ที่จะออกมาเป็นฉบับที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก จึงทรงสนับสนุนการดำเนินการของสมาคมดังกล่าว

ส่วนผู้จัดทำพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษอีกแหล่งหนึ่งที่ได้รับการยอมรับ ได้แก่ Buddhist Publication Society หรือ สมาคมสำนักพิมพ์พระพุทธศาสนานั้นก็ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) โดยพระภิกษุที่มีชื่อเสียงชาวศรีลังกาและชาวยุโรป ต่อมาไม่นานพระภิกษุ Bhikkhu Bodhi ซึ่งเป็นชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง ได้เข้าร่วมดำเนินการในงานของสมาคมเกี่ยวกับการแปลพระไตรปิฎกและอรรถกถาออกมาหลายเล่ม ปัจจุบัน Bhikkhu Bodhi ได้แปลพระสูตรในนามของสำนักพิมพ์ Wisdom Book ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการพระพุทธศาสนามาจนกระทั่งปัจจุบัน

การแปลพระไตรปิฎกและอรรถกถา ไม่ใช่การแปลตำรับตำราทางวิชาการทั่วไป ต้องมีปัจจัยหลายประการที่ต้องนำมาพิจารณา ได้แก่ ความสมบูรณ์ของคัมภีร์ เอกสารหลักฐานประกอบการแปล ไม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา คำอธิบายต่าง ๆ นอกจากนั้นที่สำคัญต้องมีพจนานุกรมไวยากรณ์ทั้งบาลีและภาษาอังกฤษที่สมบูรณ์ในการทำให้คำแปลถูกต้อง ตรงกับความหมายที่เป็นภาษาอังกฤษมากที่สุด ผู้แปลจึงต้องมีความรู้ทางบาลีเป็นอย่างดีและต้องเป็นเจ้าของภาษา (Native Speaker) ด้วย มิฉะนั้นย่อมทำให้การแปลภาษาคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความหมายที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ถูกต้อง และที่สำคัญการแปลพระไตรปิฎกซึ่งมีทั้งสามปิฎก ต้องแปลออกมาได้อย่างสอดคล้องกัน (Consistency) ทั้งสามปิฎก ไม่ทำให้เกิดความหมายที่คลุมเครือและขัดแย้งกัน เนื่องจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จะสอดคล้องต้องกันเสมอ ไม่มีความขัดแย้งกันในสาระสำคัญได้เลย ดังนั้นการแปลออกมาเป็นภาษาท้องถิ่นทั่วไปแล้ว หากเกิดความขัดแย้งกัน ไม่ลงรอยกัน ย่อมทำให้การแปลนั้นขาดความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก

การแปลพระสัทธรรมบาลีที่สมบูรณ์และดีที่สุดที่เคยมีมา คือ การแปลคัมภีร์อรรถกถาโบราณจากภาษาสิงหลเป็นบาลีโดยพระพุทธโฆษาจารย์ในปี พ.ศ. 956 ซึ่งท่านเป็นพระอรรถกถาจารย์ที่แตกฉานในพระสัทธรรม และมีความรู้ทั้งบาลีและภาษาสิงหลเป็นอย่างดี ก่อนที่ท่านจะได้รับมอบหมายให้แปลอรรถกถานั้น ได้มีการทดสอบให้ท่านอธิบายบาลี ๑ คาถา ซึ่งท่านก็ได้รจนาออกมาเป็นคัมภีร์ที่สำคัญเล่มหนึ่ง คือ คัมภีร์วิสุทธิมรรค ที่ชนชาวพุทธรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ความเข้าใจกันต่อมา จากนั้นท่านพระพุทธโฆษาจารย์จึงได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์และอนุญาตให้แปลอรรถกถาหลายคัมภีร์ เช่น คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี และ ปปัญจสูทนี เป็นต้น การแปลดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการแปลพระสัทธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ดีที่สุดในกาลสมัยของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ซึ่งไม่มีผู้ใดที่จะกระทำได้แล้วในยุคนี้…

ดังนั้นผู้ที่จะมีความรู้ในการแปลพระธรรมคำสอนบาลีมาเป็นภาษาท้องถิ่นไม่ว่าภาษาใด ย่อมต้องมีความแตกฉานในพระธรรมคำสอนเสียก่อน ประกอบกับต้องมีความแตกฉานในภาษา ซึ่งบุคคลผู้ที่จะมีคุณสมบัติดังกล่าวอย่างครบถ้วนสมบูรณ์จริง ๆ นั้น ย่อมหาได้ยากในปัจจุบัน…”

อาจารย์จริยา เจียมวิจิตร กรรมการกฤษฎา กล่าวว่า “…การทำโครงการอะไรก็ตาม น่าจะเป็นโครงการส่งเสริมให้คนที่นับถือพระพุทธศาสนา หรือใครก็ตามหันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง…  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560  กำหนดไว้ว่า พระพุทธศาสนาของเราเป็นพระพุทธศาสนาเถรวาท แต่มีใครบ้างที่ตระหนักว่า พระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นอย่างไร… ทุกคนต้องตั้งใจที่จะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ อย่างน้อยที่สุดเข้าใจในสิ่งที่มีจริงซึ่งปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวัน ค่อยๆทำความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะมีความเข้าใจมากขึ้นเป็นลำดับ ขึ้นอยู่กับการสะสมความรู้ความเข้าใจที่เคยมีมาในแต่ละบุคคล …

การแปลพระไตรปิฎกไม่น่าจะเป็นประโยชน์ เราเป็นคนไทย เราจะไปแปลได้ดีอย่างไรเท่ากับเจ้าของภาษา เพราะเราต้องแปลให้คนที่ใช้ภาษานั้นๆอ่าน… พระไตรปิฎกที่มีอยู่แล้ว และได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้มานานแล้ว เพียงพอหรือไม่ในการศึกษา การที่มีโครงการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษขึ้นมาใหม่ทั้งหมดเป็นประโยชน์หรือไม่ อย่างไร ไม่น่าจะเป็นประโยชน์เลย แทนที่จะทำอย่างนั้น ควรคิดว่าเพื่อเป็นประโยชน์แก่คนไทยเสียก่อน  โดยควรจะส่งเสริมให้คนไทยได้มีการศึกษาพระธรรมมากขึ้น เพราะเราก็มีพระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษาไทยอยู่แล้ว โครงการฯ นี้ทำไปก็ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ได้จบเพียงในวันนี้หรือพรุ่งนี้ สมาคมบาลีปกรณ์ก็ได้พยายามแปลเสริมเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าจบแล้วทิ้งไปเลย  การแปลพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษในครั้งนี้ ซ้ำซ้อนกับของเดิมที่มีอยู่  ไม่มีประโยชน์อะไรเลย …

ทุกคนมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะองค์กรต่างๆ รวมถึงภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป… พระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นศาสนาที่คนไทยทุกคนจะต้องประพฤติปฏิบัติตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า หน้าที่ของรัฐ คือ ดูแลอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้เป็นไปตามพระพุทธศาสนาเถรวาท และเมื่อไรก็ตามหากมีใครรู้ว่ามีสิ่งใดไม่ถูก ไม่ควร ก็เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกันดูแล ปกป้องพระพุทธศาสนาอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งได้พบว่ามีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษ หน้าที่ของคนไทยทุกคนถ้ารู้และเข้าใจ ก็คงจะรู้ว่า ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษ ด้วยเหตุที่ว่าพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษมีอยู่แล้ว… มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาก็มีหน้าที่ประการหนึ่ง คือ ช่วยกันดูแล ปกป้องพระพุทธศาสนาไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากพระพุทธศาสนาเถรวาท …”

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”

อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม