พื้นที่รอบเมืองโลปาเร ตั้งอยู่บนลิเทียมคาร์บอเนตประมาณ 1.5 ล้านตัน, แมกนีเซียมซัลเฟต 94 ล้านตัน และโบรอน 17 ล้านตัน ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตทุกอย่าง ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไปจนถึงกังหันลม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

แหล่งแร่ที่สามารถพลิกสถานการณ์ได้ อาจเป็นประโยชน์ที่หาได้ยากยิ่ง สำหรับประเทศซึ่งยากจนข้นแค้นทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป เนื่องจากเศรษฐกิจของบอสเนีย ซบเซาอย่างมากหลังเกิดสงครามทำลายล้างในช่วงทศวรรษที่ 1990

เมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา สภาเมืองโลปาเร ลงคะแนนเสียงในญัตติคัดค้านโครงการทำเหมือง โดยนายราโด ซาวิก นายกเทศมนตรีเมืองโลปาเร กล่าวว่า ชาวเมืองมากกว่า 90% ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เนื่องจากผู้คนกลัวการรั่วไหลของสารพิษ และแสดงความต้องการอย่างชัดเจน ว่าไม่ต้องการเหมืองที่นี่

นอกจากนี้ กลุ่มสิ่งแวดล้อมหลายกลุ่ม ก็ยื่นคำร้องคัดค้านโครงการเช่นกัน ซึ่งนางซเนซานา ยาโกดิช วูชิชผู้นำสมาคมสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น กล่าวว่า ทุกแห่งในโลกมีเหมืองประเภทนี้ และในไม่ช้าก็เร็ว น้ำบาดาลและอากาศ ก็จะเต็มไปด้วยมลพิษ

อย่างไรก็ตาม นายวลาดิเมียร์ รูดิช ผู้อำนวยการบริษัท อาร์คอร์ เอจี สาขาบอสเนีย ซึ่งเป็นบริษัททำเหมืองสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวหาฝ่ายต่อต้านโครงการในเมืองโลปาเร ว่า “สร้างความตื่นตระหนก” เนื่องจากสภาพการปฏิบัติงาน จะอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ

ด้านอาร์คอร์ หวังเริ่มดำเนินการขุดพื้นที่ ภายในปี 2570 พร้อมกับระบุว่า เหมืองแห่งนี้จะสร้างรายได้มากถึง 1,000 ล้านยูโรต่อปี (ราว 39,000 ล้านบาท) รวมถึงสร้างงานทางตรง 1,000 ตำแหน่ง และงานทางอ้อมมากกว่า 3,000 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีเป้าหมาย ส่งออกลิเทียมคาร์บอเนตประมาณ 10,000 ตันต่อปี ภายในปี 2575 ซึ่งผู้สันทัดกรณีหลายคนกล่าวว่า มันเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับการผลิตแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ มากถึง 150,000 – 200,000 ก้อน

“เมืองโลปาเร เป็นแหล่งแร่ที่มีลิเทียมประมาณน้อย แต่มันยังคงน่าสนใจ อีกทั้งการมีแมกนีเซียม และโบรอนในปริมาณมาก ช่วยรับประกันความมั่นคงของเหมืองในอนาคต” รูดิช กล่าว

แม้อาร์คอร์ หวังว่าจะได้รับสิทธิในการดำเนินการสัมปทาน เป็นระยะเวลา 50 ปี แต่บริษัทยังไม่ได้รับใบอนุญาตที่จำเป็นจากทางการบอสเนีย เนื่องจากต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่เป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่า ชาวเมืองจำนวนมากไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนใจง่าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP