กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ ระยะ(เฟส)ที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,483 กม. วงเงินลงทุนรวม 2.71 แสนล้านบาท โดยเฉพาะช่วงขอนแก่น-หนองคาย  167 กม. วงเงินลงทุน 2.66 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีความพร้อม และมีโครงข่ายเชื่อมต่อการขนส่งจากจีน สปป.ลาว และไทย รวมทั้งยังเชื่อมต่อกับเส้นทางภายในประเทศ มาสิ้นสุดที่ท่าเรือแหลมฉบัง และเป็นเส้นทางที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้วตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.61 

….หากไม่รีบดำเนินการอีไอเอจะหมดอายุในปี 65 และต้องกลับมาทำอีไอเอกันใหม่

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดโครงการ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย โดยมอบให้ที่ปรึกษาพิจารณาดำเนินการดังนี้ 1.จัดทำมูลค่าโครงการ โดยปรับค่าก่อสร้างใหม่ให้เป็นปัจจุบัน 2.พิจารณารายละเอียดงานสะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass) และถนนกลับรถยกระดับรูปตัวยู (Overpass U-Turn) ไม่ให้ซ้ำซ้อนกับงานโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) เฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย

3.ตรวจสอบงานรื้อย้ายเครื่องกั้น และแผ่นปูทางเสมอระดับ, 4.ออกแบบถนนลอดใต้สะพานทางรถไฟโดยใช้ท่อเหลี่ยม (Underpass Box) ไม่ให้มีขนาดเล็กเกินไป และเกิดน้ำท่วมขัง, 5.ปรับปรุงค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เป็นปัจจุบัน โดยคำนึงถึงราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นในอนาคต และ 6.วิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (EIRR) ใหม่

นอกจากนี้ยังจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่เห็นว่า รฟท. ควรเสนอแผนการจัดหารถจักร และล้อเลื่อนที่ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 

รฟท. กำลังเร่งจัดทำข้อมูลเมื่อแล้วเสร็จจะเสนอขออนุมัติคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. และคาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการได้ประมาณเดือน ธ.ค.64 พร้อมกับช่วง ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 3.75 หมื่นล้านบาท ซึ่งรายงานอีไอเอผ่านความเห็นชอบจาก กก.วล. แล้ว เมื่อวันที่ 20 ก.ค.63

ส่วนอีก 5 เส้นทาง รวม 1,008 กม. วงเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท มีแผนเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาอนุมัติโครงการได้ภายในปี 65 ประกอบด้วย 1.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. วงเงิน 6.28 หมื่นล้านบาท, 2.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 2.42 หมื่นล้านบาท, 3.ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 5.73 หมื่นล้านบาท 

และ 4.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 5.68 หมื่นล้านบาท โดยทั้ง 4 เส้นทางอยู่ระหว่างปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เพื่อขออนุมัติโครงการ และพิจารณาอีไอเอ ส่วน 5.ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 6.66 พันล้านบาท กก.วล.เห็นชอบรายงานอีไอเอแล้ว เมื่อวันที่ 1 ส.ค.61 อยู่ระหว่างปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันเพื่อขออนุมัติโครงการ.

สำหรับเฟสแรก 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กม. วงเงิน 113,660 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 โครงการ ได้แก่ 1.ช่วงฉะเชิงเทรา–แก่งคอย และ 2. ช่วงชุมทางถนนจิระ–ขอนแก่น เปิดบริการแล้วตั้งแต่ปี 62 

ที่เหลือ 5 เส้นทางกำลังก่อสร้างประกอบด้วย 1.สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญา 1 (บ้านกลับ-โคกกระเทียม)  คืบหน้า 51.83%, สัญญา 2 (ท่าแค-ปากน้ำโพ) 65.59% 2.สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญา 1 (มาบกะเบา-คลองขนานจิตร) 87.14%, สัญญา 3 (อุโมงค์รถไฟ) 73.15%  3.สายใต้ ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญา 1 (นครปฐม-หนองปลาไหล) 84.89%, สัญญา 2 (หนองปลาไหล-หัวหิน) 83.81% 4.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์  85.26% และ 5.ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญา 1 (ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย) 76.85%, สัญญา 2 (บางสะพานน้อย-ชุมพร) 69.03%

ทั้ง5เส้นทางนี้ รฟท.ขยายเวลาไปเรื่อยๆ จากปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยขยับแผนก่อสร้าง ล่าสุดจะทยอยแล้วเสร็จภายในปี 66 

การพลิกโฉมเดินทางจากทางบกมาเป็นทางรางยังอีกยาวไกล

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง