ยังต้องเกาะติดปัญหาหลอกหลวงออนไลน์อย่างใกล้ชิด เพราะแม้จะมีสัญญาณ“แอคชั่น”เอาจริง ปราบหนัก  แต่ก็ไม่ได้ทำให้มิจฉาชีพหลอกลวงออนไลน์ที่แฝงตัวอยู่ทุกแพลตฟอร์มมีท่าทีอ่อนลง  หรือหยุดชะงัก  กลับกันยิ่งตอกย้ำให้เห็นปัญหานี้นับวันยิ่งมีแต่เพิ่มขึ้น  ดังที่ปรากฎข่าวมีผู้เสียหายออกมาไม่หยุดหย่อน

จากข้อมูลของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.สอท.) เฉพาะการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่รับผิดชอบแบ่งเป็น 5 ด้าน ภาพรวมตั้งแต่ 22 ธ.ค.63-22 ก.ย.64 หรือห้วง 9 เดือนที่ผ่านมามีการจับกุมดำเนินคดี 651 คดี มีผู้ต้องหา 991 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็น

1.การหลอกลวงด้านการเงิน (Scam /CallCenter) การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปทำธุกรมทางธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bangking) แชร์ลูกโช่หลอกลวงให้ลงทุนทางออนไลน์ และการหลอกลวงออนไลน์ทางการเงิน  จำนวน 55 ตดี ผู้ต้องหา 80 คน

2.การหลอกหลวงซื้อขายสินค้า และสิ่งผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด อาวุธปืน หลอกลวงขายสินค้าออนไลน์และการละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าไม่มี มอก. และสินค้าที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. และสินค้าที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร จำนวน 191 คดี ผู้ต้องหา 201 คน

3.กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไชเบอร์ เช่น นำเข้าข้อมูลทางคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เผยแพร่ข่าวปลอม การเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์ การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ จำนวน 126 คดี ผู้ต้องหา 126 คน

4.การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก หรือสตรีผ่านทางออนไลน์ ซื้อขายในทางลามก อนาจาร บริการทางเพศ ค้า
มนุษย์ รวมถึงการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ จำนวน 70 คดี ผู้ต้องหา 72 คน

5.การพนันทางออนไลน์ อาชญากรรมข้ามชาติ จำนวน 209 คดี ผู้ต้องหา 512 คน

ขณะที่สถิติรับแจ้งปัญหาการซื้อขายออนไลน์ ผ่านสายด่วน 1212 ช่วงเดือน 1 ม.ค.-4 ต.ค.64 พบเรื่องร้องเรียนมากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่  สินค้าไม่ตรงตามข้อตกลง ไม่ได้ตามโฆษณา  รองมาคือ ถูกหลอกลวงเพราะไม่ได้รับสินค้า และได้รับสินค้าชำรุด  โดยช่องทางที่มีการร้องเรียนจากผู้ซื้อสินค้าออนไลน์มากสุดแบ่งเป็น

ซื้อผ่านเฟสบุ๊ก สัดส่วนร้อยละ 82.4 จำนวนการร้องเรียน 19,296 ครั้ง รองมาคือ เว็บไซต์ ร้อยละ 4.6 ,อินสตาแกรม ร้อยละ 4.3 ,อีมาร์เก็ตเพลส ร้อยละ 3.8 ,ไลน์  ร้อยละ 3 ,ทวิตเตอร์  ร้อยละ1.4 ,ยูทูป ร้อยละ 1 และอื่นๆ ร้อยละ 0.5

ก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่าการร้องเรียนที่มีหลายช่องทาง จากหลายหน่วยงานเป็นข้อดีในการเข้าถึงของประชาชน แต่อีกด้านก็น่าเสียดายที่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมารวมกันเพื่อวิเคราะห์ให้เห็นภาพรวม ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับการแก้ไขปัญหาภาพใหญ่ระดับประเทศ

โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมาชัดเจนแล้วว่ามิจฉาชีพออนไลน์เติบโตรวดเร็วจากรายได้งาม ไม่เพียง“ตัวการ”  แต่กลุ่ม“บัญชีม้า” ที่ถูกใช้เป็นทางผ่านเงินก็มีค่าจ้างตอบแทนสูงกว่าในอดีตที่จ้างกันหลักร้อย แต่ปัจจุบันบางรายจ้างกันเฉียดหมื่น  ขณะที่การติดตามทำได้ยาก โยงใยผู้เกี่ยวข้องหลายคนกว่าจะสาวถึงตัวการ จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจะผลักให้แนวโน้มเครือข่ายมิจฉาชีพเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้นทั้ง“ตัวการ”ที่อยากรวยเร็ว รวยไว และกลุ่มบัญชีม้า ที่ยอมแลกค่าตอบแทนทั้งที่รู้ว่ามีผิด

ตัดห่วงโซ่วงจรนี้จึงท้าทายและต้องจริงจังกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา…

เร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพิ่งออกมาตรการเข้มผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือช่วยสกัดข้อความ SMS หลอกลวง พร้อมยกระดับการป้องกันเพิ่มหลังมิจฉาชีพไหวตัวใช้วิธีโทรศัพท์ถึงตัวแทนการส่งข้อความมากขึ้น ตามด้วยสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ขยับรับลูกตั้งคณะทำงาน เพื่อติดตามการกระทำความผิดทางออนไลน์

ขณะเดียวกันเตรียมดึงดาบจากหน่วยบังคับใช้กฎหมายหลายด้านมาร่วมด้วย เพื่อเป้าหมาย“เช็คบิล”เด็ดขาด เพราะถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ  โดยหน่วยงานที่จะประสานงานมากขึ้นมีทั้ง บช.สอท. , กองบังคับการปราบปรามการการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ,สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ,สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ,สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์(กลต.)

การต่อสู้กับมิจฉาชีพยุคออนไลน์ที่ซับซ้อน ซิกแซก ลำพังหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งอาจไม่ครอบคลุมเชี่ยวชาญทั้งหมด การผนึกกำลังจึงน่าจะมีพลังสกัดกั้นที่ได้ผลลัพธ์ดีกว่า.

ทีมข่าวอาชญากรรมรายงาน

[email protected]