มหาเถรสมาคม (มส.) เป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ในการบริหารกิจการพระพุทธศาสนาเถรวาท มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

1. ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
2. ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
3. ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์
4. รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
5. ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ

มหาเถรสมาคมมีอำนาจในการตรากฎมหาเถรสมาคม เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์ โดยกำหนดโทษหรือวิธีลงโทษทางการปกครอง สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนา และการปกครองของคณะสงฆ์ พระภิกษุและสามเณรที่ได้รับโทษ ถึงขั้นให้สละสมณเพศต้องสึก ภายในสามวันนับแต่วันทราบคำสั่งลงโทษ

โครงสร้างมหาเถรสมาคมประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกินยี่สิบรูปซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ โดยมี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม

เพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้มีเจ้าคณะใหญ่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค มีการจัดแบ่งเขตปกครอง ได้แก่ ภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล โดยมีพระภิกษุเป็นผู้ปกครองตามชั้นตามลำดับ ได้แก่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล

การแต่งตั้ง ถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ๆ และไวยาวัจกร เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม

มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคมกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้การลงนิคหกรรมเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม และให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายที่มหาเถรสมาคมจะกำหนดในกฎมหาเถรสมาคมให้มหาเถรสมาคมหรือ พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ตำแหน่งใดเป็นผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย กับทั้งการกำหนดให้การวินิจฉัยการลงนิคหกรรมให้เป็นอันยุติในชั้นใด ๆ นั้นด้วย

นิคหกรรมและการสละสมณเพศ พระภิกษุจะต้องรับนิคหกรรมก็ต่อเมื่อกระทำการล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และนิคหกรรมที่จะลงแก่พระภิกษุก็ต้องเป็นนิคหกรรมตามพระธรรมวินัย

พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัยและได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก ต้องสึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น

เมื่อพระภิกษุรูปใดต้องด้วยกรณีข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องคำวินิจฉัย เมื่อกระทำการล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และนิคหกรรมที่จะลงแก่พระภิกษุก็ต้องเป็นนิคหกรรมตามพระธรรมวินัย ให้รับนิคหกรรม ไม่ถึงให้สึก แต่ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น
(๒) ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ
(๓) ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง
(๔) ไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

ให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม และต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยนั้น

พระภิกษุรูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวและเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้น สังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้

เมื่อจะต้องจำคุก กักขังหรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานราชการที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี พันธกิจของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีดังต่อไปนี้

1. เสริมสร้างให้สถาบันและกิจการทางพระพุทธศาสนามีความมั่นคงยั่งยืน
2. สนับสนุนส่งเสริมและจัดการการศึกษาสงฆ์และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาให้มีความรู้คู่คุณธรรม
3. จัดการศึกษาสงฆ์เพื่อผลิตและพัฒนาศาสนทายาทที่เปี่ยมปัญญาพุทธธรรมเผยแผ่ทํานุบํารุงพระพุทธศาสนาให้เจริญงอกงาม และร่วมสร้างสังคมพุทธธรรมที่มีความเข้มแข็ง
4. ดําเนินการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาโลก
5. พัฒนาการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติให้เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสังคมเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามพันธกิจ

อย่างไรก็ตามข้าราชการของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงาน จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องด้วยความระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นแล้ว หากปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือทุจริตต่อหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

การดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 67 “…รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด…” มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ ในฐานะที่เป็นฝ่ายพุทธจักรจะต้องบริหารกิจการคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมายรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ส่วนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายอาณาจักร จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมายรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ การทำงานร่วมกันและการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดของมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้พระพุทธศาสนาเถรวาทมีความเจริญมั่นคงสืบไป

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
ภาพจาก : เดลินิวส์ และ Pixabay
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ :
สาระจากพระธรรม