ทำไมถึงต้องติดตามและให้ความสำคัญ ปัญหาเรื่องการซ้อมทรมานและการอุ้มหายของบุคคล!!

อดีตที่ผ่านมาในเมืองไทย มีผู้เสียหายจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น ประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึง นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ต้องตกเป็นเหยื่อถูกซ้อมทารุณกรรม ประทุษร้าย จนเสียชีวิต หรือกลายเป็นผู้สาบสูญหายไปแบบไร้ร่องรอย

ที่น่าตกใจคือ คดีซ้อมทรมาน หรือ บังคับอุ้มหาย ระยะหลัง ๆ กับมี เจ้าหน้าที่รัฐ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยร่วมอยู่ด้วยหลาย
คดีด้วยกัน ตามปกติจะมีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาหมวดความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย ความผิดต่อสิทธิเสรีภาพ และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการนำตัวกลุ่มผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

แต่เมื่อกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นทั้งผู้รักษากฎหมาย ต่างมีความรู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอยู่แล้ว เมื่อก่อเหตุก็มักวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบเป็นพิเศษไม่ให้มีหลักฐานในการก่อเหตุหลงเหลืออยู่เลย เพื่อให้ตัวเองรอดพ้นความผิดเวลาถูกจับกุม ดังนั้นการจับกุมดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐที่ก่อเหตุจึงต้องรอบคอบรัดกุมมีหลักฐานอย่างแน่นหนาเช่นเดียวกัน

ช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมามีคดีใหญ่ เกี่ยวกับการบังคับอุ้มหายไปที่สังคมยังพอจดจำกันได้ อาทิ คดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้มบังคับให้เป็นผู้สูญหาย ตั้งแต่ ปี 2547, ต่อมาปี 2557 เกิดคดีหายตัวไปแบบปริศนาของ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ ผู้แทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตตะนาวศรี ทั้ง 2 คดีอุ้มหายมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง กระทั่งล่าสุดเดือน ส.ค.2564 ยังมาเกิด คดีผู้กำกับโจ้...ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชา ซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิต คาห้องสืบสวน สภ.เมืองนครสวรรค์

คดีผู้กำกับโจ้ จะเรียกว่าเป็นโศกนาฏกรรมแห่งปี 2564 ก็ว่าได้ ที่สำคัญทำให้สังคมไทยได้เห็นว่า การซ้อมทรมานด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐมีอยู่จริง หากคลิปไม่ถูกตีแผ่ออกมาก็เกือบจะพลิกผันเป็น คดีเสพยาเกินขนาดเสียชีวิตไปแล้ว!!

เชิงผา พอมีโอกาสได้ติดตามความเคลื่อนไหว เรื่องที่มีการพยายามผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มานานพอสมควร ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเคยร่วมเป็น ภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2550 และ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย (CED ) เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2555 จึงมีความจำเป็นจะต้องออกกฎหมายเพื่อให้รองรับอนุสัญญาฯ ทั้ง 2 ฉบับ

ดังนั้นจึงทำให้มีการเคลื่อนไหวพยายามผลักดันเพื่อให้มีกฎหมายฉบับนี้ ใช้เวลานานนับสิบปี กระทั่งวันที่ 17 ส.ค.2564 เหมือนเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.. …. เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาผู้แทนฯ ก็มีมติเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ พร้อมตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 25 คน มีตัวแทนหลาย ๆ ภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงตัวแทนจาก กลุ่มสิทธิมนุษยชน เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา

ในเมื่อเป็นกฎหมายสำคัญที่หลาย ๆ ฝ่ายพยายามผลักดันและต่อสู้กันมายาวนาน ปัจจุบันคณะกรรมาธิการวิสามัญ กำลังเดินหน้าประชุมพิจารณาร่าง ๆ กันค่อนข้างละเอียดเข้มข้น ผ่านพ้นมา 1 เดือนเต็มๆ โดยมุ่งหวังให้ทันเสนอเข้าที่ ประชุมรัฐสภา สมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 (มีระยะเวลา 120 วัน)

นับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าและท้าทาย หลาย ๆ ฝ่ายต่างเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิดแบบไม่กะพริบตา อยู่ในช่วงนับถอยหลังกำลังใกล้จะถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งทางคณะ กมธ.วิสามัญ ยืนยันจะส่งร่าง พ.ร.ก.ฯ ให้ทันสมัยประชุมรัฐสภาครั้งนี้ ก็ต้องตามลุ้นต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะฝ่าด่านหิน “250 ส.ว.” สำเร็จด้วยหรือไม่?

หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คลอดออกมาเป็นกฎหมายได้สำเร็จในอนาคต เชื่อว่าจะกลายเป็นกฎหมายอันล้ำค่าที่เฝ้ารอกันมานาน จะมีประโยชน์ต่อประชาชนและทุก ๆ ฝ่ายอย่างแน่นอน.

————————
เชิงผา