เปิดให้บริการมากว่า 4 เดือนแล้ว สำหรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) หรือรถไฟฟ้าสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.30 กิโลเมตร(กม.) และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน 15.3 กม รวม 41.6 กม. นับตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.64 ที่ให้ประชาชนทดลองใช้บริการแบบไม่เก็บค่าโดยสาร (ฟรี) และเริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. อัตรา 12-42 บาท

ตัวเลขผู้โดยสารปัจจุบันเฉลี่ยวันละ 10,267 คน ตลอดเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารรวม 265,038 คน เพิ่มขึ้น 31.96% จากเดือนต.ค. และเพิ่มขึ้นจากช่วงแรกที่ทดลองให้บริการฟรีอยู่ที่ประมาณ 2-3 พันคนต่อวัน ก่อนไต่ขึ้นเป็น 4-5 พันคนต่อวัน กระทั่งก่อนยกเลิกเคอร์ฟิวมีผู้โดยสาร 6-7 พัน แม้เริ่มเก็บเงินก็ยังเกิน 1 หมื่นคน แม้ตัวเลขจะยังไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ว่า จะมีผู้โดยสารประมาณ 8 หมื่นคนต่อวัน แต่สัญญาณดีแรงต่อเนื่อง

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ระบุว่า ในปี 65 คาดว่าผู้โดยสารจะสูงขึ้นไปอีกเฉลี่ย 3 หมื่นคนต่อวันแน่นอน.

เมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนแรก สิ้นสุดการรอคอยที่มีมาอย่างยาวนานถึง 31 ปี หากนับตั้งแต่เป็นโครงการโฮปเวลล์ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2533 เสียงเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้เร่งก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดงกระหึ่มขึ้นอีกครั้ง ประชาชนจะได้เข้าถึงรถไฟฟ้าสายนี้มากขึ้น

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. ให้ความกระจ่างเรื่องโครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงว่า ผลการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการจัดทำเอกสารประกวดราคา และการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) 4 โครงการ ระยะทางรวม 55.24 กม. วงเงิน 7.93 หมื่นล้านบาท เสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย 1.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) 25.9 กม.วงเงิน 4.96 หมื่นล้านบาท

2.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต 8.84 กม. วงเงิน 6.64 พันล้านบาท 3.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และก่อสร้างสถานีเพิ่มเติม ประกอบด้วย สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และสถานีบ้านฉิมพลี 14.8 กม. วงเงิน 1.06 หมื่นล้านบาท และ 4.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 5.7 กม. วงเงิน 4.73 พันล้านบาท

เส้นทางของส่วนต่อขยาย หลังจากนี้ที่ปรึกษาต้องสรุปผลการศึกษาเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. และกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือน พ.ค.65 หากเห็นชอบคาดว่าจะเปิดสรรหาเอกชนเพื่อเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบเอกชนลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ทั้ง 4 เส้นทางได้ในช่วงปลายปี 65 และได้ผู้รับจ้าง พร้อมเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 66

สำหรับรูปแบบการลงทุนฯ จะเสนอ 3 แนวทางให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ ครม.พิจารณา โดยลงทุนเป็นรูปแบบ PPP Net Cost จัดจ้างเอกชนจัดเก็บค่าบริการจัดส่งให้รัฐ แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง ประกอบด้วย

แนวทางที่ 1 คือรัฐบาล รับภาระเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานงานโยธา งานระบบควบคุมการเดินรถ และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า ขณะที่เอกชนลงทุนระบบบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงระบบ แนวทางที่ 2 รัฐลงทุนงานโยธา และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า ขณะที่เอกชนลงทุน งานระบบควบคุมการเดินรถ บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงระบบ และแนวทางที่ 3 เอกชนรับผิดชอบเองทั้งหมด ได้แก่ งานโยธา ระบบควบคุมการเดินรถ จัดหาขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถ และซ่อมบำรุง

แนวโน้มที่คุ้มค่าการลงทุน และเหมาะสมที่สุด น่าจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost แนวทางที่ 1 โดยรัฐ เป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ระบบรถไฟฟ้า และการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า ส่วนเอกชน เป็นผู้รับผิดชอบการเดินรถและซ่อมบำรุง ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง” ผู้ว่าการ รฟท. ส่งสัญญาณถึงแนวทางที่รฟท.จะเลือก

ลงรายละเอียดแผนการก่อสร้างเบื้องต้นช่วง รังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช จะเริ่มก่อสร้างเดือน ส.ค. 66- ก.ค. 69 และเปิดบริการปี 69 ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง จะเริ่มก่อสร้างเดือน ส.ค.66-ม.ค.71 เปิดบริการปี 71 สำหรับอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 12 บาท และเพิ่มขึ้น 2.10 บาทต่อ กม. ค่าโดยสารสูงสุดแต่ละช่วงไม่เกิน 42 บาท จะปรับเพิ่มขึ้นทุก 2 ปี ครั้งละ 3%

คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารเมื่อเริ่มเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายในปี 69 ช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เพิ่มขึ้นเป็น 2.5แสนคนต่อวัน และเมื่อเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 71จะมีใช้บริการประมาณ 4 แสนคนต่อวัน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใน 50 ปี จะมีผู้โดยสารทะลุ 1.3 ล้านคนต่อวัน.

อดทนรอคอยรถไฟฟ้าสีแดงส่วนแรกมายาวนานกว่า 31 ปี ให้รอภาครัฐขยายแขนขาของรถไฟฟ้าสายนี้ไปชานเมืองให้ยาวขึ้นอีก 5 ปี คนกรุงเทพฯและปริมณฑลก็รอไหว เพราะรถไฟฟ้าตอบโจทย์ปัญหารถติด

……แต่จะเอื้อมถึงได้ใช้บริการหรือไม่?? อยู่ที่ค่าโดยสารต้องไม่แพงเกินไป

————————————
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง