กระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ ประกาศการส่งหนังสือแจ้งให้เป็นผู้ชนะการประกวด ไปยังบริษัทบราห์มอส แอโรสเปซ ที่อินเดีย เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ก่อนจะบรรลุความตกลงสุดท้าย ในวันที่ 16 ม.ค. ทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นลูกค้าต่างชาติประเทศแรก อย่างเป็นทางการ ที่ซื้อขีปนาวุธร่อนซูเปอร์โซนิกต่อต้านเรือรุ่นนี้

บราห์มอส แอโรสเปซ มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงนิวเดลี ก่อตั้งเมื่อเดือน ก.พ. 2541 เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง องค์การวิจัยและพัฒนากลาโหมอินเดีย หรือ ดีอาร์ดีโอ (Defence Research and Development Organisation) กับบริษัท เอ็นพีโอเอ็ม (NPO Mashinostroyenia) ของรัสเซีย โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 50.5% เป็นของอินเดีย ส่วนที่เหลือ 49.5% ของรัสเซีย และการผลิตใช้เทคโนโลยีชั้นนำของรัสเซียเป็นหลัก

บราห์มอส เป็นขีปนาวุธร่อนที่มีความเร็วสูงสุดในโลก ถูกออกแบบให้เป็นระบบอาวุธต่อต้านเรือ ที่ยิงได้ทั้งจากบนฝั่ง อากาศยาน เรือดำน้ำ และเรือผิวน้ำ มีพิสัยยิงไกล 300 กิโลเมตร และบริษัทกำลังพัฒนารุ่นใหม่ ขยายพิสัยให้ยิงได้ไกล 600 กิโลเมตร

CRUX

บราห์มอสพุ่งเข้าหาเป้าหมาย ด้วยความเร็ว 2.8–3 เท่า ของความเร็วเสียง นั่นหมายถึง “เกือบเป็นไปไม่ได้” ที่เป้าหมายจะหลบหลีกได้ทัน

การจัดซื้อบราห์มอส เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเหล่าทัพฟิลิปปินส์ให้ทันสมัย ด้วยเงินงบประมาณจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ จำนวน 300,000 ล้านเปโซ (ประมาณ 193,840 ล้านบาท) ในระยะ 5 ปีเพื่อทดแทนอาวุธประจำการในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่เก่าล้าสมัย แต่ยังต้องใช้งานอยู่ อย่างเช่น เรือรบหลายลำ ตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และเฮลิคอปเตอร์ที่กองทัพสหรัฐมอบให้ฟรี หลังสิ้นสุดสงครามเวียดนาม และปีนี้อยู่ในช่วงท้ายของโครงการจัดซื้อ

พล.ต.เดลฟิน ลอเรนซานา รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ เผยว่า รัฐบาลมะนิลามีความสนใจ และวางแผนจะซื้อบราห์มอส ตั้งแต่ปี 2560 แล้ว แต่การเจรจาต้องระงับลงกลางคัน เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่องบประมาณในคลังอย่างมาก

เป้าหมายหลักของการจัดซื้อบราห์มอสคือ เพื่อป้องกันเรือต่างชาติ โดยเฉพาะเรือจีน ไม่ให้รุกล้ำเข้าสู่ระยะ 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ และเกาะแก่งในทะเลจีนใต้ ส่วนที่ฟิลิปปินส์อ้างกรรมสิทธิ์

ปี 2561 ฟิลิปปินส์ซื้อระบบขีปนาวุธแบบยิงจากเรือ “สไพค์ อีอาร์” จากอิสราเอล ประจำการในหน่วยเรือลาดตระเวนชายฝั่ง เพื่อป้องกันการรุกล้ำน่านน้ำของประเทศ

คอลลิน โกห์ นักวิจัยศูนย์ศึกษาระหว่างประเทศ เอส.ราชารัตนัม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ตอนนี้ฟิลิปปินส์ได้เข้าร่วม ชมรมขนาดเล็กของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีขีปนาวุธร่อนซูเปอร์โซนิกต่อต้านเรือใช้ โดยอินโดนีเซียมีรุ่น ยาคอนท์ แบบยิงจากเรือผิวน้ำ ของรัสเซีย ประจำการตั้งแต่ปี 2554 และต่อมาในปี 2558 เวียดนามซื้อระบบขีปนาวุธป้องกันชายฝั่ง แบบยิงจากแท่นเคลื่อนที่บนบก รุ่นแบสเชิน-พี (Bastion-P) จากรัสเซียเช่นกัน

การซื้อบราห์มอสของฟิลิปปินส์ถือเป็นอีกความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ของการแข่งขันสะสมอาวุธกองทัพเรือในเอเชีย ซึ่งเริ่มคึกคักอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่ปี 2552 เมื่อจีนเริ่มอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนเกือบทั้งหมด ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ โดยอ้างหลักฐานแผนที่ “เส้นประ 9 เส้น”

รายงานข่าวโดยหนังสือพิมพ์ เดอะ ฮินดู ของอินเดีย ระบุว่า หลายประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ต่างแสดงความสนใจจะซื้อระบบขีปนาวุธบราห์มอสจากอินเดียเช่นกัน โดยการเจรจากับไทยและอินโดนีเซียกำลังคืบหน้า

นายราชนัธ ซิงห์ รัฐมนตรีกลาโหมอินเดีย กำหนดเดินทางเยือนกรุงฮานอย ในปลายเดือนนี้ คาดว่าจะมีการเจรจาซื้อขายบราห์มอส และอาจจะตกลงกันได้เบื้องต้น ในระหว่างการเยือนครั้งนี้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES