หากดูในแผนที่จะเห็นว่า จังหวัดกาลีมันตันตะวันออก ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกตอนกลางของเกาะบอร์เนียว เกาะขนาดใหญ่ที่อยู่ทางเหนือ คนละฟากฝั่งทะเลชวา กับเกาะชวาที่ตั้งกรุงจาการ์ตา

ร่างกฎหมายฯ ยืนยันชื่อเมืองหลวงใหม่ “นูซันตารา” ตามที่นายซูฮาร์โซ โมโนอาร์ฟา รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนการพัฒนาแห่งชาติ ประกาศล่วงหน้าไป 1 วันก่อนหน้านั้น

นูซันตาราจะบริหารโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีสถานะเทียบเท่าจังหวัด ซึ่งดูจากภาพรวมเท่าที่ทางการอินโดนีเซียแถลง น่าจะเป็นศูนย์บริหารรัฐกิจและการปกครองประเทศแห่งใหม่ ขณะที่ศูนย์กลางธุรกิจการค้า ยังอยู่ที่กรุงจาการ์ตา เหมือนเดิม เหมือนกรณีของเมืองปุตราจายา ของมาเลเซีย และกรุงเนปิดอว์ ของเมียนมา

เหตุผลหลักของการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย คือเพื่อลดความแออัดของประชากรในจาการ์ตา และเกาะชวา แก้ปัญหาจาการ์ตาแผ่นดินทรุด ทำให้น้ำท่วมขังทุกปีในหน้าฝน ปัญหาการจราจร และมลพิษทางอากาศ ฯลฯ

แผนการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย ตามจริงได้มีการหารือกันตั้งแต่ปี 2500 แล้ว ในยุคของประธานาธิบดีคนแรก โซการ์โน ซึ่งเสนอให้ย้ายเมืองหลวงอาณานิคมของชาวดัทช์ จากกรุงจาการ์ตา ไปยังเมืองปาลังการายา ในจังหวัดกาลีมันตันกลาง

CNA

ต่อมาประธานาธิบดีคนที่ 2 ซูฮาร์โต ร่างแผนย้ายไปที่เมืองจองกอล จังหวัดชวาตะวันตก ในปี 2540 โดยเมืองจองกอลอยู่ห่างจากกรุงจาการ์ตา เพียงแค่ 40 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แต่แผนการก็เงียบหายไปอีก จนะกระทั่งมาถึงยุคผู้นำคนปัจจุบัน ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด แผนการจึงกลายเป็นรูปธรรม

นางศรี มุลยานี อินทราวาตี รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง แถลงต่อสื่อมวลชน ที่อาคารรัฐสภา ภายหลังร่างกฎหมายผ่านการอนุมัติว่า  การก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ มูลค่า 466 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 1,059,325 ล้านบาท) จะมี 5 ขั้นตอนด้วยกัน โดยขั้นตอนแรก ระหว่างปี 2565–2567 สำคัญที่สุด และขั้นตอนที่ 5 สุดท้าย กำหนดแล้วเสร็จในปี 2588

South China Morning Post

ขั้นตอนแรก เจ้าหน้าที่จะเน้นพัฒนาส่วนสำคัญที่สุด นั่นคือระบบสาธารณูปโภค สร้างถนน ท่าเรือใหม่ วางระบบประปา ไฟฟ้า และผังเมือง การก่อสร้างเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ หลังการระบาดของโควิด-19 ด้วย

นูซันตาราถูกออกแบบให้เป็นเมืองอัจฉริยะ และเมืองสีเขียว การก่อสร้างเดิมกำหนดจะเริ่มในปี 2563 แต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้แผนการถูกระงับ ก่อนจะเริ่มใหม่เมื่อปีที่แล้ว  

ทางด้านมุมมองของนักวิชาการต่อเมืองหลวงใหม่ เกรสนายานา ยาห์ยา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไอทีเอส ในเมืองสุราบายา กล่าวว่า การตัดสินใจของรัฐบาลอินโดนีเซีย จะเป็นโอกาสดีสำหรับการพัฒนาภูมิภาคกาลีมันตัน และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ และกระจายความเจริญสู่ต่างจังหวัด เนื่องจากปัจจุบัน เศรษฐกิจอินโดนีเซียร้อยละ 65 อยู่บนเกาะชวา ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมากที่สุดของประเทศ

ทางด้าน นายอาหมัด กามาล นักวางผังเมือง กล่าวว่า รัฐบาลตัดสินใจถูกต้อง ในการเลือกทำเลเมืองหลวงใหม่ เนื่องจากโครงสร้างทางธรณีวิทยาของจังหวัดกาลีมันตันตะวันออก แข็งแกร่งมั่นคง ขณะที่กรุงจาการ์ตาแผ่นดินทรุด สูงสุดถึง 20 เซนติเมตรต่อปี นับเป็นหนึ่งในเมืองที่แผ่นดินทรุดรวดเร็วที่สุดในโลก

ส่วนนายซิบารานี โซเฟียน นักวางผังเมืองชื่อดังอีกคน ในกรุงจาการ์ตา บอกว่า รัฐบาลควรก่อสร้างเมืองหลวงใหม่แบบรอบคอบ ไม่เร่งรีบ การวางแผนควรครอบคลุม ศึกษาจากตัวอย่างหลากหลาย ทั้งที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลว ตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับอินโดนีเซีย เห็นจะเป็นสิงคโปร์ ซึ่งออกแบบการสร้างเมืองเขตร้อนได้ดีเยี่ยม และได้รับคำชมเชยจากทั่วโลก.

เลนซ์ซูม