‘บันทึกของแอนน์ แฟรงค์’ เป็นวรรณกรรรมที่โด่งดังที่สุดเรื่องหนึ่งของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 70 ภาษา คนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ย่อมมองเห็นคุณค่าโดยไม่จำเป็นต้องมีรางวัลใด ๆ มาการันตี 

บันทึกของแอนน์ แฟรงค์ มีที่มาจากการรวบรวมบันทึกส่วนตัวของเด็กหญิงวัยรุ่นชาวยิว ที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอและครอบครัวต้องหลบซ่อนการตามล่าของพวกนาซีในห้องลับของบ้านแห่งหนึ่ง เป็นเวลาเกือบ 2 ปี

แอนน์ แฟรงค์ อายุราว 13 ปี ตอนเริ่มเขียนไดอารี่ และอายุ 15 ปี ตอนที่ล้มป่วยและเสียชีวิตในค่ายกักกันชาวยิวที่เบอร์เกน-เบลเซน ทางตอนเหนือของเยอรมนี หลังจากมีคนให้ข้อมูลเกี่ยวกับการซ่อนตัวของครอบครัวของเธอ ทำให้พวกเธอโดนจับและส่งตัวไปยังค่ายกักกัน

หลังจากสงครามสงบ มีเพียง ‘ออตโต’ พ่อของเธอคนเดียวที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันที่เอาช์วิตซ์

มีป คิส หนึ่งในสมาชิกครอบครัวที่ให้ความช่วยเหลือครอบครัวของแอนน์ แฟรงค์ เป็นผู้เก็บไดอารี่ของแอนน์ไว้ และส่งมอบให้พ่อของเธอเมื่อเขากลับมายังเนเธอร์แลนด์ ต่อมาบันทึกเล่มสุดท้ายของแอนน์ก็กลายเป็นวรรณกรรมชิ้นสำคัญของโลก หลังจากตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2490 

หุ่นขี้ผึ้ง ‘แอนน์ แฟรงค์’ และฉากหลังที่จำลองมาจากห้องลับที่เธอเคยซ่อนตัว ในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซด์ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี

กว่า 70 ปีหลังการเสียชีวิตของแอนน์ แฟรงค์ ได้มีการเปิดคดีสืบสวนหาตัวคนที่ส่งข่าวเกี่ยวกับที่ซ่อนตัวของครอบครัวของเธอให้พวกนาซี ทีมงานซึ่งมีสมาชิกทั้งที่เป็นนักประวัติศาสตร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล นักอาชญาวิทยาและอดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ร่วมกันทำงานจนได้ชื่อของคนที่เข้าข่ายว่าจะเป็นผู้ส่งข่าว ซึ่งไม่เคยมีใครคิดถึงมาก่อน

ประเด็นที่น่าตกใจและน่าเศร้าก็คือ ผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นสายส่งข่าวรายนี้เป็นชาวยิวเช่นเดียวกับแอนน์ แฟรงค์ ชื่อของเขาคือ อาร์โนลด์ แวน เดน เบิร์ก มีอาชีพเป็นทนายความผู้ให้การรับรองเอกสาร

เปียเตอร์ แวน ทวิสค์ สมาชิกของทีมสืบสวนกล่าวว่า หลักฐานสำคัญที่ทำให้ทีมคิดว่าแวน เดน เบิร์ก เป็นผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่งก็คือจดหมายสั้น ๆ ที่ไม่มีการลงชื่อซึ่งถูกส่งไปให้พ่อของแอนน์ แฟรงค์ จดหมายนี้ถูกพบในเอกสารการสืบสวนช่วงหลังสงคราม ในนั้นมีการระบุชื่อของแวน เดน เบิร์ก และกล่าวหาว่าเขาเป็นคนที่แอบส่งข้อมูลของครอบครัวแฟรงค์ให้นาซี เขาเป็นคนที่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ของชาวยิวที่กำลังหลบซ่อนตัวในช่วงนั้น เนื่องจากเป็นสมาชิกสมาคมชาวยิวช่วงสงครามในอัมสเตอร์ดัม และได้ส่งต่อรายชื่อและที่อยู่ดังกล่าวไปให้นาซี เพื่อแลกกับความปลอดภัยของครอบครัวของเขา

ทีมสืบสวนยังระบุว่า ‘ออตโต’ พ่อของแอนน์ แฟรงค์ ก็รู้เรื่องจดหมายนี้ แต่เขาไม่เคยปริปากพูดในที่สาธารณะ แวน ทวิสค์ เชื่อว่าเป็นเพราะเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าข้อมูลนี้จริงหรือไม่ และเขาไม่อยากสร้างประเด็นให้เกิดการต่อต้านชาวยิวขึ้นมาอีก อีกทั้งไม่ต้องการให้ลูก ๆ ของแวน เดน เบิร์ก ต้องแบกความรับผิดชอบต่อสิ่งที่คนเป็นพ่ออาจจะทำเอาไว้

ขณะที่สมาชิกสมาคมชาวยิวจำนวนมากถูกส่งตัวออกไปจากเนเธอร์แลนด์ในปี 2486 ครอบครัวของแวน เดน เบิร์ก ยังคงอาศัยอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 2493

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีหลายฝ่ายที่ไม่ต้องการสรุปชี้ชัดว่าแวน เดน เบิร์ก เป็นผู้ร้ายตัวจริง เนื่องจากยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องตรวจสอบ เช่น จดหมายที่กล่าวหาแวน เดน เบิร์ก ฉบับนั้นมีความเป็นกลางแค่ไหน และมีอีกหลายเหตุผลที่ทำให้ แวน เดน เบิร์ก จึงยังคงอยู่ในเนเธอร์แลนด์ได้อย่างปลอดภัย ขณะที่ชาวยิวคนอื่น ๆ โดนนาซีจับกุม

พิพิธภัณฑ์บ้านแอนน์ แฟรงค์ ซึ่งดัดแปลงจากบ้านที่เธอใช้หลบซ่อนตัวอยู่จริง ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสืบสวนครั้งนี้ แต่ให้ความร่วมมือด้านข้อมูลต่าง ๆ 

โรนัลด์ เลโอโปลด์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กล่าวว่า การค้นคว้าครั้งนี้ได้ “ให้ข้อมูลใหม่ที่สำคัญ และสมมุติฐานที่น่าทึ่ง ซึ่งควรค่าแก่การค้นคว้าต่อไป”

แหล่งข้อมูล

https://www.foxnews.com/world/cold-case-team-may-know-betrayed-anne-frank

เครดิตภาพ : Getty Images