“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากก็คือ ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 นี่ผมไม่เดือดร้อนเลยนะ เพราะบางคนมีเงินก็อาจจะหาซื้อของกินไม่ได้ แต่เรามีอาหารการกินตลอด และยังมีเหลือนำไปแบ่งปันให้กับคนในชุมชน แถมนำไปขายสร้างรายได้ในช่วงวิกฤติได้อีกด้วย เรียกว่าแนวทางชีวิตที่ผมยึดถืออยู่นี้ไม่เพียงทำให้ชีวิตไม่ลำบาก แต่ยังสวนทางกับอีกหลายคนในช่วงที่เกิดวิกฤติอีกด้วย“ เสียงจาก “โชค-ศศเศรษฐโชค ตามพระหัตถิ์” เกษตรกรในพื้นที่ จ.อุทัยธานี บอกเล่าเรื่องนี้กับเรา หลังจากตัดสินใจ “เปลี่ยนเส้นทางชีวิต” จาก “มนุษย์เงินเดือน” หันมา “ยึดอาชีพทำเกษตร” ซึ่งแนวคิดในการดำเนินชีวิตของชายคนนี้ก็มีมุมมองน่าสนใจ ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวของเขามานำเสนอ….

โชค-ศศเศรษฐโชค

เมื่อเร็ว ๆ นี้ จากการร่วมคณะ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงพื้นที่ จ.อุทัยธานี เพื่อร่วมกิจกรรม มอบทุนสนับสนุนโครงการปลูกความรู้ด้านการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน ทางคณะยังมีโอกาสได้เยี่ยมชมอาชีพ “เกษตรกรคนรุ่นใหม่” ที่ ธ.ก.ส. ร่วมสนับสนุน ที่ตัดสินใจหันหลังให้เส้นทางเก่า เลือกเริ่มต้นเส้นทางใหม่ในฐานะเกษตรกร ซึ่งก็ถือเป็นอีกกรณีศึกษาที่ช่วยจุดประกายให้แรงงานที่ต้องหวนคืนกลับสู่ถิ่นฐานได้ โดย “ทีมวิถีชีวิต” มีโอกาสได้สัมผัสเรื่องราวชีวิต โชค-ศศเศรษฐโชค ตามพระหัตถิ์ ที่ได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” น้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และแนวทาง “เกษตรทฤษฎีใหม่” ของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” มาเป็น “ธงชัยนำทางชีวิต” ในการทำอาชีพเกษตร

’เรานำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นตัวกำกับ และใช้คุณธรรมเป็นหลักยึด โดยทำให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นวิถีชีวิตประจำวันของเรา แม้รายได้อาจไม่มาก แต่สิ่งที่เราได้มานั้น มันได้มากกว่าเรื่องของรายได้ ไม่ใช่ตัวเลขหรือจำนวนเงิน แต่ที่เราได้คือ ความสุขกายและใจ โดยเฉพาะการที่เราได้กลับมาอยู่บ้านกับครอบครัว และยังได้สุขภาพที่ดีกว่าเดิมด้วย“ โชค-ศศเศรษฐโชค เกษตรกรเจ้าของเรื่องราวนี้ บอกเล่าให้เราฟังช่วงเริ่มต้นการสนทนา

ทั้งนี้ โชค-ศศเศรษฐโชค เล่าว่า เขาเคยทำงานประจำอยู่กับบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าไทยแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ต่อมาจากการที่ได้ติดตามดูพระราชกรณียกิจและการทรงงานของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” อยู่เป็นประจำ ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจอยากจะกลับบ้านเกิดพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และมีมูลค่าเพิ่ม โดยที่ดินนี้เป็นที่ดินมรดกของพ่อแม่ซึ่งมีอยู่ประมาณ 60 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.หนองไผ่ อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี เป็นที่ทำการเกษตรปลูกข้าวมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จนเมื่อพ่อแม่ของเขาเริ่มอายุมากขึ้น เขาก็เลยอยากจะกลับมาอยู่ดูแล และสืบสานอาชีพเกษตรกรต่อ จึงตัดสินใจลาออกจากงานหันหลังให้กับการใช้ชีวิตในเมืองหลวง เพื่อกลับมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว โดยเขาเล่าว่า เดินทางกลับมาอยู่บ้านตั้งแต่ปี 2553 ตอนนั้นก็มาคิดว่าจะทำอะไรกับที่ดินที่มีอยู่แล้วได้บ้าง จากเดิมที่รุ่นพ่อแม่ทำเกษตรกรรมก็ทำกันตามปกติ และเป็นองค์ความรู้แบบเดิม ๆ ไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาแต่อย่างใด ทำให้ตัดสินใจว่าจะกลับมาจัดการพัฒนาในส่วนนี้ โดยจะน้อมนำ “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” มาใช้เป็นหลักยึด เพราะเชื่อมั่นว่าจะเป็น “ทางรอดของเกษตรกรไทย”

’เกษตรทฤษฎีใหม่ที่ผมน้อมนำมาใช้นั้น คือนำมาใช้เรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่ อย่างผมมีพื้นที่ 60 ไร่ ก็จะแบ่งออกเป็นพื้นที่นํ้า พื้นที่ปลูกป่า พื้นที่ปลูกข้าว โดยเราต้องวางแผนเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ก่อน จากนั้นค่อย ๆ ทำทีละส่วน ไม่ได้ทำทีเดียวหมด ผมก็เริ่มจากปลูกป่าก่อน และระหว่างที่ปลูกป่า พื้นที่รอบ ๆ บ้าน ผมก็ปลูกผักสวนครัว  โดยเลือกปลูกผักที่ใช้กินต่อวัน เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย“ เป็นแนวทางที่เกษตรกรรุ่นใหม่รายนี้ได้บอกเล่าให้ฟัง

กับก้าวแรก…ที่ก็ไม่ง่ายนั้น เขาเล่าว่า เนื่องจากเคยมีรายได้จากงานประจำทุก ๆ เดือน พอมาเป็นเกษตรกรเต็มตัวแล้ว เขาก็ไม่มีรายได้ประจำเหมือนเดิม ฉะนั้น ที่ต้องทำอย่างแรกคือลดรายจ่าย ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง โดยเขา “ปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก” ทำให้ลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะมาก นอกจากนั้นก็ยังสามารถมีรายได้อีกด้วย คือจากการเก็บผักสวนครัวที่ปลูกไปขาย ซึ่งเขายํ้าว่า ’ถึงรายได้จะไม่มากเท่าเดิม แต่รายจ่ายก็น้อยลงกว่าเดิม“

สำหรับรายได้อย่างอื่นที่งอกเงยขึ้นนั้น เขาแจกแจงว่า จะมีรายได้จากการเลี้ยงปลา เช่น ปลาดุก ปลาสลิด ปลาช่อน และรายได้จากการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น ๆ อาทิ กบ เป็ดเนื้อ ไก่ไข่ ทำให้มีรายได้เข้ามาทุกช่วง ทั้งที่เป็นรายเดือนและรายได้ต่อวัน ส่วนรายได้จากการทำนาปลูกข้าว ซึ่งตอนนี้เขามีพื้นที่ทำนาข้าวอยู่ 35 ไร่ เขาก็แบ่งเป็นการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ 5 ไร่ ข้าวหอมมะลิ 5 ไร่ และที่เหลือก็ปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 และข้าวเหนียวหอมนิล (ข้าวเหนียวดำ) รวมถึงเสริมด้วยการเลี้ยงควายไว้อีก 20 ตัวด้วย โดยเลี้ยงไว้เพื่อจะขายเป็นแม่พันธุ์ …นี่เป็น “รายได้ในเส้นทางชีวิตใหม่” ของเกษตรกรเจ้าของเรื่องราวนี้

’ปัญหาอุปสรรคในการทำการเกษตรที่หนองขาหย่าง ก็จะเป็นเรื่องของดินและนํ้าเป็นหลัก เพราะที่นี่เป็นพื้นที่สูง นํ้าจากเขื่อน จากอ่างเก็บนํ้า จะมาไม่ค่อยถึง หรือมาถึงก็เพียงส่วนน้อย เกษตรกรจึงต้องอาศัยนํ้าจากแหล่งธรรมชาติเป็นหลัก เช่น จากนํ้าฝน ซึ่งสมัยก่อนถ้าเกิดภัยแล้ง ที่นี่จะแล้งไม่มีนํ้าเลย พืชไม้ผลที่ปลูกก็จะตายเกือบหมด เราก็มาคิดว่าจะทำยังไงให้เก็บนํ้าธรรมชาติไว้ใช้ได้มากที่สุด จึงเริ่มปรับพื้นที่ด้วยการขุดสระทำแหล่งนํ้า หลังจากที่มีการบริหารจัดการแหล่งนํ้า ทำให้เรามีนํ้าใช้สอยได้ตลอดทั้งปี และหน้าแล้งก็ไม่กระทบ จนเริ่มมาปลูกไม้ผลได้อีกครั้ง ส่วนเรื่องของดิน เราต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินใหม่ เพราะมีแนวคิดว่าจะทำการเกษตรปลอดสารเคมี จึงเริ่มจากการไถ่กลบตอซัง ไม่เผาซังข้าว และหว่านปุ๋ยพืชสด พวกถั่วเขียวและปอเทืองไปด้วย แล้วไถกลบ เป็น “กระบวนการพลิกชีวิต” ที่เขาบอกเล่าให้เราฟัง หลังจากเข้ามา “ปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูก” รวมถึง “เปลี่ยนแปลงระบบการทำกิน”

และเขาคนนี้ยังบอกเล่าอีกว่า การจัดการพื้นที่ของเขานั้น เขาจะแบ่งพื้นที่ที่มี 60 ไร่เป็นส่วนต่าง ๆ แบ่งเพื่อใช้ปลูกป่า โดยเน้นปลูกไม้เศรษฐกิจ เช่น พะยูง มะค่า สัก ประดู่ สะเดา และไม้ใช้สอย อย่างไผ่ แบ่งพื้นที่เพื่อทำเป็นแหล่งนํ้าจำนวน 8 สระ แบ่งพื้นที่เพื่อทำนาปลูกข้าว นอกจากนั้นเขายังมีพื้นที่สำหรับไว้เป็นที่ศึกษาเรียนรู้การทำการเกษตรตาม “โคกหนองนาโมเดล” ที่ทำร่วมกับทางกรมการพัฒนาชุมชนอีก 2 แปลง โดยหวังจะให้คนในชุมชนได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วย

’ตอนกลับมา มีเงินติดตัวมาหลักแสนเท่านั้น ก็เริ่มจากค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ ทำ และก็ได้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน ซึ่งผมทำคนเดียวไม่ไหวอยู่แล้ว บางเรื่องบางอย่างก็ต้องใช้ตัวช่วย จึงได้ทำงานกับทุกหน่วยงาน รวมถึง ธ.ก.ส. ที่เขาก็ช่วยสนับสนุนทั้งในเรื่องเงินทุนและองค์ความรู้ ส่วนโครงการโคกหนองนาโมเดลที่ได้ทำร่วมกับทางพัฒนาชุมชน เขาไม่ได้ช่วยเป็นเงินแต่เข้ามาช่วยปรับและพัฒนาพื้นที่สำหรับทำโครงการให้ นอกจากนั้นก็ยังมีสำนักงานคุมประพฤติ จ.อุทัยธานี ที่มาใช้พื้นที่ปลูกป่าเพื่อปลูกสมุนไพร อย่างฟ้าทะลายโจร“ เขาเล่าถึงข้อดีในการ “ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ” รวมถึง ธ.ก.ส. ที่สามารถ “ช่วยเติมเต็มช่องว่าง” ที่เกษตรกรอย่างเขาขาดหายไปได้

’อนาคตเราฝันว่าอยากทำให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ จึงมีการวางแผนว่าจะพัฒนาพื้นที่ของเราให้เป็นอีโควิลเลจ (Eco Village) ย่อย ๆ ตั้งเป้าว่าอีกไม่เกิน 3 ปีเราจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ แต่อาจจะเป็นแบบเล็ก ๆ ก่อน ค่อย ๆ ทำตามกำลัง และตอนนี้ก็เริ่มมีการนำเอานวัตกรรมต่าง ๆ มาปรับใช้บ้างแล้ว เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เอาไว้ใช้ควบคุมการบริหารจัดการนํ้าของระบบปั๊มนํ้าบาดาล รวมถึงใช้สำหรับไฟส่องสว่างในพื้นที่ของเรา ซึ่งก็น่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เดือนละหลายพันบาท“ เป็นการบอกเล่า “ฝัน” และ “การพัฒนา” อาชีพเกษตร ของ โชค-ศศเศรษฐ “โชค” คนเกษตรรุ่นใหม่ที่อุทัยธานี ที่ทิ้งชีวิต Salary Man มนุษย์เงินเดือน ทิ้งชีวิตในเมืองใหญ่ กลับสู่บ้านเกิด ซึ่งนอกจากวิธีคิดน่าสนใจ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่าง-อีกบทพิสูจน์… “หลักเศรษฐกิจพอเพียง-เกษตรทฤษฎีใหม่” นั้น…

“ปฏิบัติได้…อยู่ได้-สุขได้…แม้ในยุคมีวิกฤติ”.