จากกรณีที่เกิดกับ “นักรีวิวคนดัง-นักรีวิวที่มีชื่อเสียง” ที่สุดก็มาเกิดกรณีกับ “ผู้รีวิวที่เป็นคนทั่วไป” ขึ้นจนได้!! ซ้ำยังมีแนวโน้มว่าจะ “เกิดซ้ำ-เกิดถี่” ได้เรื่อย ๆ ในยุคปัจจุบันนี้ กับกรณี “รีวิวแล้วถูกฟ้อง!!!” ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มี “ปมดราม่า” เกิดขึ้นอีก โดยผู้ใช้บริการรายหนึ่งถูกเจ้าของธุรกิจบริการรายหนึ่ง “ฟ้องเอาผิด” หลังจากมีการ “รีวิวบริการที่ได้รับ” ซึ่งผู้คนในสังคมก็อาจจะรู้สึกงง ๆ กับกรณีที่เกิดขึ้น รวมถึงอาจจะมีคำถาม รวมถึงอาจจะมี ปุจฉา??“ เกี่ยวกับกรณีในลักษณะนี้ ว่า…

“รีวิวตามจริง” แล้ว “ถูกฟ้องเอาผิดได้หรือ??

ก็แล้ว “รีวิวแบบไหนทำได้?-ทำได้ไม่ถูกฟ้อง?

ปุจฉานี้ก็ “มีคำแนะนำมีคำอธิบาย ไว้เช่นกัน…

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อน ณ ที่นี้ ข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งจากการเสวนาผ่านระบบออนไลน์ ที่จัดขึ้นโดย
เฟซบุ๊กเพจ “Nitihub” ในชื่อ “รีวิวยังไงไม่ให้โดนฟ้อง? จะฟ้องยังไงไม่ให้เจ๊ง? โดยได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแลกเปลี่ยนและให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ซึ่งประกอบด้วย… สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค, ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย, กรกนก ใจแกล้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค, หัสดี อังคะนาวิน แอดมินเพจเสพติดโรงแรม (Hotel Addict) โดยมี พริม มณีโชติ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทาง สารี เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้สะท้อนแง่มุมผ่านเวทีเสวนาดังกล่าวนี้ไว้ว่า… การรีวิวถือเป็นการใช้สิทธิของผู้บริโภคตามกฎหมาย ที่สามารถจะวิพากษ์วิจารณ์ หรือสามารถจะให้คำแนะนำกับเจ้าของสินค้าหรือบริการได้ แต่จะต้องเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ซึ่งสำหรับกรณีที่เพิ่งจะเป็นกระแสเมื่อเร็ว ๆ นี้นั้น ถึงแม้ว่า การฟ้องร้องหลังจากที่ถูกลูกค้ารีวิวก็เป็นสิทธิของเจ้าของธุรกิจสินค้าหรือบริการ ที่สามารถจะทำได้ แต่ถ้าลูกค้าหรือผู้บริโภครีวิวด้วยความสุจริตใจ เพราะต้องการบอกข้อมูลการใช้จริง หรือเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยไม่ได้ปรุงแต่งทำให้เสียหาย…

ผู้รีวิวนั้น “แม้จะถูกฟ้องก็สามารถสู้คดีได้” แน่นอน

เพราะว่า “การใช้สิทธิของผู้บริโภคเป็นสิทธิที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้ “สิทธิการรีวิว” จะเป็น “สิทธิพึงมีของผู้บริโภค” แต่ก็ “มีข้อควรระวังการใช้สิทธิ” นี้เช่นกัน โดยเรื่องนี้ทาง ดร.พีรภัทร ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ได้สะท้อนไว้ในเวทีเสวนาเดียวกันว่า… การรีวิวโดยสุจริตจะทำได้หรือไม่ได้นั้น?? ก่อนอื่นก็คงจะต้องไปมองว่า… การรีวิว และการฟ้องคนที่รีวิว ถือเป็นสิทธิของ 2 ฝ่าย เนื่องจากทางฝั่งของเจ้าของสินค้าหรือบริการนั้นก็มีสิทธิที่จะฟ้องคนรีวิวได้ เพราะฝั่งคนฟ้องอาจจะมองว่า…การทำให้บุคคลที่ 3 เสื่อมเสียชื่อเสีย

ก็เป็นเหตุให้ฟ้องฐานหมิ่นประมาทได้ ถ้ามองว่า… การฟ้องคนที่รีวิวเป็นการปกป้องชื่อเสียงของตนเอง ล่ะก็…

กรณีนี้ “ก็เป็นสิทธิที่เจ้าของสินค้าบริการจะฟ้องผู้รีวิว”

แต่… อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน กรณีที่…ถ้าผู้ที่รีวิวหรือนักรีวิวนั้นสามารถจะพิสูจน์ได้ว่าการรีวิวที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการติชมโดยสุจริต เพื่อที่จะให้สินค้าหรือบริการมีคุณภาพมากขึ้น กรณีนี้ก็อาจสามารถนำมาใช้เป็น เหตุผลเพื่อให้ยกเว้นความผิด ได้เช่นกัน โดยต่อให้ต้องไปสู้ในศาล ถึงอย่างไรก็มีสิทธิที่จะชนะสูง เพียงแต่ในทางกระบวนการกฎหมาย ที่เป็นปัญหาก็คือ… คนที่ไม่ได้เป็นนักกฎหมาย ก็มักรู้สึกกลัวเมื่อจะต้องไปศาล หรือกลัวจะต้องเสียค่าทนายในการต่อสู้คดี

“เพราะอย่างนี้จึงอาจจะมีผู้ประกอบการใช้ช่องทางนี้ฟ้องเพื่อจะปิดปาก ดังนั้น หลักการที่ดีก็คือต้องระวังว่าจะใช้สิทธิยังไง? หรือรีวิวอย่างไร? ถึงจะไม่ทำให้ถูกฟ้อง” …เป็นการระบุไว้โดยทนายความ-ที่ปรึกษาทางกฎหมาย…

ที่ได้ให้ “ข้อมูลที่น่าจะนำมาฉุกคิดไว้” เกี่ยวกับกรณีนี้

กรณีนี้มี “คีย์เวิร์ด” อยู่ที่ “ต้องรีวิวด้วยความสุจริตใจ”

และ “ควรใช้สิทธิรีวิวให้ปลอดภัยจะเป็นการดีที่สุด”

ทั้งนี้ ทางด้าน กรกนก เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ก็ได้เสริมไว้ถึงการ ’รีวิวโดยสุจริต“ ว่า… ตามกฎหมายนั้นคำว่า “สุจริต” หมายถึงการใช้สิทธิตามที่กฎหมายได้ให้สิทธิไว้ หรือเป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนด แต่จะใช้สิทธิยังไงได้นั้น…กรณีนี้ยังเป็นสิ่งที่ระบุยาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อาจจะต้องมาดูที่เรื่องของการที่ “กฎหมายไม่ให้สิทธิ” ที่น่าจะทำให้เข้าใจได้ง่ายมากกว่า โดยการ “รีวิวโดยสุจริต” นั้น ควรประกอบด้วยหลักการ ดังนี้คือ… ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย, ไม่ใช้ข้อความเท็จกล่าวร้ายใส่ความ และไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงเรื่องการขายข่าว

“ประเด็นที่ผู้รีวิวต้องตระหนัก ก็คือถึงแม้การรีวิวนั้นจะเป็นความจริง แต่ถ้าไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ก็อาจไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายก็ได้ ฉะนั้น ทุกครั้งก่อนจะรีวิว จึงอยากให้ผู้จะรีวิวตระหนักว่าจะต้องเป็นการใช้สิทธิที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นด้วย” …ทางผู้สันทัดกรณีรายนี้เน้นย้ำไว้ถึง “การรีวิว”

เหล่านี้เป็นข้อมูลโดยสังเขป คำแนะนำ ที่ควร’รู้ไว้ใช่ว่า“

เพื่อ ’ป้องกันดราม่า“ และ ’ป้องกันรีวิวแล้วถูกฟ้อง“

ในยุคที่มี “การรีวิวเอ่อล้นท่วมโลกโซเชียลมีเดีย

ที่…“รีวิวแบบพาซื่อก็อาจจะถูกฟ้องร้องได้!!” .