วัดกำลังจะร้าง แต่ตะรางกำลังเจริญ เพราะวัดโล่ง แต่ไปแน่นในคุกแทน“การเชื่อมต่อระหว่างศาสนา คน วัด เริ่มห่างจากกันไป…”  “เดี๋ยวนี้คนจะอ้างว่าทำบุญออนไลน์ก็ได้ ไม่เห็นต้องเข้าวัด… ถึงแม้จะไม่ค่อยได้เข้าวัดก็ไม่เป็นไร แต่อย่าห่างศีลธรรมเด็ดขาด…” …นี่เป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญบางส่วนจากที่ พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาส วัดสวนแก้ว ท่านได้ระบุถึงชาวพุทธไทยผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้นานแล้ว…ซึ่งถึงวันนี้ยัง “ชวนคิด”

ชวนคิดมิใช่เพื่อวัด-เพื่อพระ…แต่ “เพื่อสังคมไทย”

เพื่อสังคม…โดยการ “หยุด” สิ่งที่พระพยอมได้ชี้ไว้

นั่นคือ…“ความวินาศนาการทางศีลธรรมเพิ่มขึ้น!!”

ทั้งนี้ ในโอกาสที่ “วันมาฆบูชา เวียนบรรจบ ซึ่งปี 2565 นี้ตรงกับวันที่ 16 ก.พ. ในโอกาส “วันจาตุรงคสันนิบาต” ที่ครั้งพุทธกาลเป็น “วันที่พระพุทธเจ้าประทานหลักโอวาทปาติโมกข์อันเป็นหัวใจของพระธรรม” ก็ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับชาวพุทธ ไม่เพียงกับการสร้างบุญสร้างกุศลสร้างมงคลให้ชีวิต หากแต่ยังเหมาะที่จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้พิจารณากันถึงกรณี “ปัญหาสังคมต่าง ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องจากสังคมห่างธรรมศีลธรรมในสังคมลดน้อยถอยลง…จน “น่าวิตก!!”

ดังที่พระพยอมท่านได้เคยระบุผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้อีกบางช่วงบางตอนว่า… ในอดีตนั้น แม้แต่การไถนา ถ้าเป็นวันพระคนก็จะหยุดไถนา…เพื่อให้วัวควายได้พักบ้าง ส่วนคนก็จะไปเข้าวัดทำบุญ แต่… “ในปัจจุบัน…แม้แต่วันพระใหญ่อย่างวันมาฆบูชาก็ยังเกิดเหตุฆ่าคนนี่สะท้อนชัดเจนว่า “ผู้คนห่างวัด-ห่างศาสนา” ซึ่งนอกจากเพราะเหตุปัจจัยต่าง ๆ อย่างเช่น… เพราะสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะภาวะเศรษฐกิจ เพราะผลลบที่แทรกอยู่กับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ที่ก่อผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทางพระพยอมท่านก็ได้ชี้ไว้ด้วยว่า… “ในส่วนของวัด พระ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้คนห่างจากศาสนา อย่างกรณีที่มีข่าวฉาวของพระ ทั้งยุ่งเกี่ยวผู้หญิง ทั้งยุ่งเกี่ยวยาเสพติด” ซึ่งในวงการสงฆ์เองก็พยายามจะเพิ่มความเข้มข้นในการคัดกรอง

“คนห่างวัด-ห่างธรรม” ก็ชวนคิด… “เพราะวัด-พระ”

โดยปัจจัยส่วนนี้ “วงการสงฆ์เองก็ให้ความสำคัญ”

ย้อนไปช่วงปลายเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว ตอนนั้นก็มีกระแสที่เกี่ยวโยงกับเรื่องนี้ โดยทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้รับแจ้งว่าจะมีการทำ “โครงการการสังเคราะห์บทเรียนในเชิงหลักคิดและหลักปฏิบัติเพื่อการขยายผลพัฒนากิจการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย” โดย หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ โดยการสนับสนุนจาก สกสว. ซึ่งการทำโครงการนี้มีการเลือกทำ 3 ด้านคือ ด้านศาสนธรรม-การส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ด้านศาสนประเพณี-พิธีการ และด้านศาสนสมบัติในวัด-องค์กรทางพระพุทธศาสนา โดยที่ในส่วนของ “วัด-พระ” นั้น…ก็มีกิจกรรมเสนอโมเดลที่มี “ประเด็นน่าพิจารณา” คือประเด็น การจัดการวัดให้สมสมัย”

สำหรับการสังเคราะห์ในภาพรวม 3 ด้านนั้น…นั่นก็ย่อมมีประโยชน์ต่อแวดวงพุทธศาสนาในไทยอย่างมิต้องสงสัย ขณะที่ประเด็น “การจัดการวัดให้สมสมัย” จากที่มีการระบุ-มีการนำเสนอไว้ในโอกาสดังกล่าวนี้…นี่ก็ “น่าสนใจ-ชวนคิด” มาก ๆ แล้ว อาทิ… ทบทวนว่าวัดมีไว้เพื่ออะไร, เราช่วยอะไรวัดได้บ้าง, งานวัด คือ working for วัด ไม่ใช่จัดแค่งานวัดของเล่น

สืบเนื่องจากโครงการ-กิจกรรมนี้ ประเด็นที่มีการะบุ-มีการสะท้อนไว้โดยผู้แทนวัดต่าง ๆ ก็ “น่าพินิจ-น่าพิจารณา” อย่างเช่น… วัดแทนวันดีเจริญสุข ได้สะท้อนไว้บางช่วงบางตอนว่า… “ในยุคบุกเบิก หลวงปู่ปัญญานันทะได้ให้โอวาทแก่พระว่า “ไปเถอะลูก
ไปสร้างวัดให้เป็นวัด สอนธรรมะให้เป็นธรรม จะมีคนดีมาช่วยไม่ขาดหรอก”
นี่ถือว่าเป็น vision…”  

ทาง วัดเหล่าอาภรณ์ ก็ได้สะท้อนความเกี่ยวโยงระหว่างวัด พระเณร และชุมชน ชาวบ้าน ซึ่งก็ชวนคิดอย่างมาก โดยที่บางช่วงบางตอนนั้นมีว่า… “อยากจะให้วัดเกื้อกูลกับชุมชน ชาวบ้านจะต้องไม่ทิ้งวัดให้พระรับผิดชอบเท่านั้น และพระก็ต้องไม่โยนให้ชาวบ้านอย่างเดียว เราจะอยู่แบบเกื้อกูล “พระเณรคือผู้ผ่าน ชาวบ้านคือเจ้าของ” เรามีแนวทางชัดเจน…”

และสืบเนื่องจากโครงการ-กิจกรรมนี้เช่นกัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เจ้าอาวาส วัดญาณเวศกวัน ท่านก็ระบุถึงวัดไว้ “ชวนคิด” บางช่วงบางตอนว่า… “แต่ก่อนนี้ วัดแต่ละวัดเป็นวัดของชาวบ้าน เป็นวัดของหมู่บ้าน วัดนี้ชื่อนี้ เป็นวัดของเรา มีความผูกพันกัน มีความสำคัญต่อชีวิตของเขา ปัจจุบันนี้ วัดกับบ้านมันจะแยกกันแล้ว โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่เขาไม่ค่อยได้ไปวัด เวลาไปวัดเขามองวัดยังไง ภาษาสมัยใหม่เขาเรียกว่าแปลกแยก ไม่รู้สึกสัมพันธ์ ทำยังไงจะฟื้นพุทธศาสนาที่เป็นของหมู่บ้าน ชุมชน ให้มันขึ้นมา ถ้าอันนี้ไปหมดเราจะฟื้นข้างบนยังไงก็ไม่ยั่งยืน…

พุทธศาสนาในเมืองไทยตอนนี้ ใกล้จะเหมือนน้ำที่เหลือแต่ขวดเปล่า ขวดคือประเพณี พิธีกรรม ยังอยู่ แต่เนื้อในที่เป็นธรรมะ แทบจะหมด เพราะงั้นเวลานี้สำคัญมากคือเอาน้ำมาใส่ขวดให้ได้…” …พันธกิจนี้เกี่ยวทั้งฆราวาส-ทั้งพระ

ทั้งนี้ โดยสังเขปดังที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” หยิบยกมานำเสนอย้ำ-นำมาสะท้อนไว้ในวันนี้ ก็เพื่อ “รับวันมาฆบูชา” ที่เวียนบรรจบ และเพื่อร่วมเน้นย้ำว่า… ชาวพุทธไทยทุก ๆ ฝ่ายสามารถร่วมกัน “แก้ไขปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าวิตก” ได้ โดยร่วมกัน “ฟื้นฟูให้สังคมไทยไม่ห่างไกลธรรม” ซึ่งแน่นอน… “ฆราวาส” เป็น “กำลังสำคัญ” ฝ่ายหนึ่ง ขณะที่…

ฝ่าย “วัด-พระ” นั้นถือเป็น “กำลังสำคัญยิ่งอีกฝ่าย

ร่วมกันทำให้ “คนใกล้วัดคนใกล้ธรรม” มีมากขึ้น

ไม่เพียง “ไปบางวัดกันคลาคล่ำรับหวยออก!!!” .