ถึงแม้ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะตัดสินใจประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ 10 จังหวัด มาตั้งแต่ 12 ก.ค. 64  แต่ผ่านไป 1 สัปดาห์ ยอดติดเชื้อไม่ได้ลดลง อีกทั้งตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. ยอดติดเชื้อใหม่รายวันยัง ทุบสถิตินิวไฮ เกิน 1 หมื่นคนมาตลอด ทำให้ต้องยกระดับมาตรการเข้มข้น ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดอีก 3 จังหวัด คือ ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และ ฉะเชิงเทรา รวมเป็น 13 จังหวัด

เป้าหมายหวังลดการเดินทาง เลี่ยง จำกัด หรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นตอนกลางวันหรือกลางคืน คุมเข้มตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด ในเส้นทางคมนาคมเข้า-ออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อการคัดกรอง ชะลอหรือสกัดกั้นการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ล่าสุดวันที่ 20 ก.ค. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่  11,305 ราย เสียชีวิต 81 ราย (ยอดติดเชื้อสะสม 426,475 ราย ยอดผู้เสียชีวิต 3,502 ราย)

ผู้ว่าฯสู้เต็มพิกัดเร่งเปิด “32 แห่ง

ช่วงนี้ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้ง ทีมบุคลากรแพทย์ด่านหน้า ถึงปัญหาอุปสรรคในวิกฤติโควิด ระลอก 4 ต้องรับมือกับเจ้าโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ซึ่งเข้ามาแทนที่ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) อย่างเต็มรูปแบบระบาดไปทั่วประเทศ หลังจากก่อนหน้านี้ เดือน เม.ย.-มิ.ย. ประเทศไทยเจอสายพันธุ์อัลฟาเล่นงาน แต่ปัจจุบันกลายเป็นเชื้อเดลตา ซึ่งติดได้ง่ายกว่าหลายเท่า ทำให้ทั้งทีมแพทย์ด่านหน้า และเกือบทุกจังหวัดต้องปรับรูปแบบการทำงานมากยิ่งขึ้น จะเห็นเกือบทุกจังหวัดต่างผุดทั้ง โรงพยาบาลสนาม พร้อมกับโครงการรับตัวไป รักษาตัวบ้านเกิด หรือแนวทาง แยกกักตัวที่บ้าน หรือ โฮม ไอโซเลชั่น  (Home Isolation) ในกลุ่มอาการสีเขียว ผู้ติดเชื้ออาการไม่รุนแรง

เกือบทุกจังหวัดต่างเตรียมพร้อมรับมือกันเป็นพัลวัน โดยเฉพาะ 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ที่ต้องอยู่ในมาตรการล็อกดาวน์ของ ศบค. ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้ตามไปดูความเคลื่อนไหวในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ช่วงหลัง ๆ ได้ถูกนำรูปแบบการคุมเข้มโควิดไปปรับใช้เป็นโมเดลสมุทรสาคร อาทิ การลุยตรวจเชิงรุกทุกพื้นที่เสี่ยงตามแผน ยุทธการทลายรังปลวก, มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล  (Bubble&Seal) ตามโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และพื้นที่แรงงานต่างด้าวพักอาศัย เป้าหมายควบคุมพื้นที่การแพร่ระบาดเอาไว้ในวงจำกัด

ล่าสุดจังหวัดสมุทรสาคร ได้นำร่องทยอยเปิด ศูนย์พักคอย ในทุกตำบล รูปแบบใกล้เคียงกับโรงพยาบาลสนาม มาตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด ระลอก 4  นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.สมุทรสาคร ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ในสมุทรสาครก็ยังมีผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้นทุกวัน นอกจากจะระดมตั้ง รพ.สนาม เพิ่มขึ้นมาเป็น 9 แห่งแล้ว ยังมี รพ.สนามชุมชน หรือ CI (Community Isolaton) โดยตั้งชื่อว่า ศูนย์พักคอยคนสาคร มีเป้าหมาย 32 แห่ง รองรับคนป่วยได้อีก 4,000 คน เพื่อแก้ไขปัญหาเตียงไม่พอ รพ.สนามไม่เพียงพอ ขณะนี้จึงต้องเร่งนายอำเภอทั้ง 3 อำเภอ (อ.เมือง, กระทุ่มแบน และบ้านแพ้ว) ให้เร่งการจัดตั้งให้เร็วที่สุดเพราะทุกนาทีมีค่า แต่ปัญหาอุปสรรคคือ บางสถานที่ยังไม่มีความพร้อมในด้านสาธารณูปโภค เช่น ห้องน้ำ, อาหาร, การดูแลผู้ติดเชื้อ, การให้ยารักษาโรค และการกำจัดขยะติดเชื้อ การบริการซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจะต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบปลอดภัยสำหรับประชาชนมากที่สุดด้วย

ตอนนี้ทางนายกเหล่ากาชาดสมุทรสาครและคณะได้หาเครื่องวัดความดัน เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เครื่องวัดอุณหภูมิ วางแผนไว้คร่าว ๆศูนย์ละ 5 ชุด นับว่าเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนที่ทำงาน ในการที่จะร่วมกันต่อสู้กับโควิดเพราะเรายังไม่ยอมแพ้ นอกจากนี้ยังมีการอัพ รพ.สนามที่ศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่  10 สภาอุตสาหกรรม ยกระดับให้เป็นรพ.สีเหลือง มี 3 ระดับคือเหลืองอ่อนที่ให้ออกซิเจนเหลว เหลืองธรรมดาให้ High Flow และเหลืองเข้มต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อแยกผู้ป่วยในโรงพยาบาลออกมา 70%  แต่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก  จึงตั้งโครงการต่อลมหายใจให้สาครบุรี  เพื่อระดมทุนวางระบบออกซิเจน และจัดหาเครื่องช่วยหายใจให้ผู้ป่วย โดยร่วมบริจาคได้ที่ ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี คนสมุทรสาครรวมใจสู้ภัยโควิด-19 หมายเลขบัญชี 7-123-13139-8 ส่วนของ กลุ่มสีเขียว จะอยู่ใน รพ.สนามชุมชนหรือ ศูนย์พักฯ ที่ทยอยตั้งเพิ่มขึ้นมาใหม่” ผวจ.สมุทรสาคร กล่าว

ลุยฉีด “วัคซีนเข็ม 3” บุคลากรทางการแพทย์

ด้าน นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ได้เริ่มฉีด วัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ที่มีอยู่กว่า 8,000 คนแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างกำลังเร่งการจัดตั้ง ศูนย์พักคอย ในระดับตำบลเพื่อบรรเทาปัญหาการรอเตียงนานให้กับผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่บ้าน ส่วนการจัดตั้ง รพ.สนามสีเหลือง นั้นก็อยู่ระหว่างการเตรียมวางระบบเรื่องการติดตั้งออกซิเจน ต้องรอให้มีการเคลียร์ผู้ป่วยที่ยังอยู่ในศูนย์ห่วงใยคนสาคร 10 สภาอุตสาหกรรมออกไปยังศูนย์แห่งใหม่ที่นาดีให้เรียบร้อยเสียก่อน

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์  ผอ.รพ.สมุทรสาคร กล่าวว่า การฉีดวัคซีนในช่วงนี้ต้องใช้หลักได้คุณภาพในเวลาอันรวดเร็วเพราะตอนนี้จะเป็นสายพันธุ์เดลตา ที่ติดง่าย ระบาดไว เชื้อรุนแรง ดังนั้นการยับยั้งป้องกันโรคต้องทำให้ไว มีความจำเป็นต้องใช้สูตรผสมระหว่าง ซิโนแวค + แอสตราเซเนกา หากจะใช้ซิโนแวค 2 เข็ม ก็จะต้านทานไม่อยู่ แต่หากจะใช้แอสตราเซเนกาทั้ง 2 เข็ม แม้คุณภาพจะสูง แต่ต้องใช้ระยะเวลานาน เพราะการฉีดเข็ม 1 กับเข็ม 2 จะห่างกันถึง 12 สัปดาห์หลังจากนั้น ต้องรออีกประมาณ 2 สัปดาห์ภูมิจึงจะขึ้น

ดังนั้นระยะเวลาการรอคอยที่นานก็อาจจะไม่ทันต่อการระบาดของโรค ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้สูตรเข็ม 1 เป็นซิโนแวค ทิ้งระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ก็ฉีดเข็ม 2 เป็นแอสตราเซเนกา การปรับฉีดวัคซีนแบบไขว้นี้ ทางโรงพยาบาลสมุทรสาครได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง ทำการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มผู้สมัครใจไปแล้วเกือบ 1,000 ราย โดยทุกคนทุกกลุ่มอายุที่ฉีดเข็มแรกซิโนแวค เข็ม 2 เป็นแอสตราเซเนกา ก็ยังเป็นปกติดี

ส่วนของโรงพยาบาลกระทุ่มแบนนั้น ขณะนี้ยังคงฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเพียงอย่างเดียว แต่จะเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนผสมในวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2564 ให้แก่ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและยังไม่มีใบนัดที่ระบุวันนัด ขณะที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ตอนนี้อยู่ระหว่างการรอความชัดเจนของวัคซีนที่จะจัดส่งมาเนื่องจากมีปัญหาเรื่องของการไม่มีวัคซีน โดยจะเปิดจุดฉีดวัคซีนอีกครั้งประมาณวันที่ 30 ก.ค. ทั้งนี้เมื่อทราบความชัดเจนของชนิดวัคซีนที่จะมาและจำนวนทั้งหมดแล้ว จึงจะมีการประชุมเพื่อบริหารจัดการว่าจะมีการฉีดแบบผสมหรือไม่ต่อไป

การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีจำนวนประชากรทั้งไทยและต่างด้าว รวมประมาณ 1 ล้านคน โดยทางจังหวัดเคยวางเป้าหมายไว้ว่า จะฉีดให้ครบ 70%  แต่เนื่องจากการได้รับวัคซีนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ขณะนี้ฉีดไปได้เพียงแค่ 28% เท่านั้น

ทุกพื้นที่ร่วมสู้ฝ่าวิกฤติ

ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร มีทั้งหมด 3 อำเภอ คือ อ.เมือง กระทุ่มแบน และบ้านแพ้ว ปัจจุบันมีการจัดโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง ตั้งชื่อว่าศูนย์ห่วงใยคนสาคร (กำลังจัดตั้งอีก 1 แห่ง ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ของเทศบาลตำบลนาดี) ก่อนหน้านี้เคยแบ่งเบาช่วยรับภาระผู้ป่วยมาจากกรุงเทพมหานครจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วย 1.ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 8 วัฒนาแฟคตอรี, 2. ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 9 วิท วอเตอร์ซิสเต็ม  ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เดอะมันนี่จำกัด  3.ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 10 สภาอุตสาหกรรม 4.ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 11 ลานปฏิบัติธรรมวัดโกรกกราก 5.ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 12 วัดสุทธิวาตวราราม (ช่องลม)  6.ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 13 ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตอ้อมน้อย  และ 7.ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 14 อาคารรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรบ้านแพ้ว

ขณะที่ รพ.สนามชุมชน หรือศูนย์พักคอยคนสมุทรสาคร CI. (Community Isolaton) กำลังเร่งดำเนินการทั้งหมด 32 แห่ง แบ่งเป็นในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร 15 แห่ง อ.กระทุ่มแบน 8 แห่ง และ อ.บ้านแพ้ว 9 แห่ง ส่วนใหญ่จะใช้สถานที่ทั้งอาคาร
หอประชุมตามโรงเรียน, อาคารอเนกประสงค์ของหน่วยงานท้องถิ่น หรือใช้พื้นที่ของวัด ฯลฯ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ต่างก็เข้าใจในสถานการณ์และร่วมมือร่วมใจเพื่อช่วยกันฟันฝ่าวิกฤติไปให้ได้.