“….มีคนกล่าวหาว่าผมสร้างเรื่อง วางแผนที่จะใช้ชีวิตในต่างประเทศ แต่ผมกลับต้องมาใช้ชีวิตในแบบผู้ลี้ภัยเหมือนคนทั่วไป มาเรียนภาษา แบบคนที่หนีภัยสงคราม เหมือนชาวซีเรีย เลบานอน เหมือนคนอิหร่าน หรือเหมือนคนพม่า เมื่อเรียนแล้วก็ต้องทำงาน หางานเลี้ยงชีพ ผมไม่รู้ตัวมาก่อน ไม่เคยใช้ชีวิตในต่างประเทศ ภาษาผมก็ไม่ได้ ทรัพย์สินก็ไม่มีอะไร”

เป็นถ้อยคำพูดบางช่วงบางตอนของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรอง ผบช.ภ.8 และหัวหน้าชุดทีมสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ในปี พ.ศ.2558 ให้สัมภาษณ์สด ผ่านวิดีโอคอลกับ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า

เรื่องราว คดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ในช่วงปีพ.ศ.2558 กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ผู้คนให้ความสนใจเพียงชั่วข้ามคืน หลังจากนายรังสิมันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ขุดเรื่องนี้ขึ้นมาอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 152 ในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ก.พ.2565 กระทั่งช่วงเช้าวันที่ 19 ก.พ.2565 ยังติดต่อ พล.ต.ต.ปวีณ มาสัมภาษณ์สดเปิดใจเป็นครั้งแรก หลังต้องลี้ภัยไปประเทศออสเตรเลีย นานกว่า 6 ปีแล้ว จนกลายเป็นข่าวฮือฮาในสังคมอีกครั้ง

เปิดแผลเก่า” คดีค้ามนุษย์โรฮีนจาปี 2558

เมื่อมีการหยิบยกเรื่องราวขบวนการค้ามนุษย์ ขึ้นมาพูดในสภาผู้แทนราษฎร อีกครั้ง ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางเดลินิวส์ ซึ่งก็เคยเกาะติดคดีนี้จากอดีตมาถึงปัจจุบันเช่นเดียวกัน ที่สำคัญพบว่า ขบวนการค้ามนุษย์ ก็ยังไม่ได้ห่างหายไปไหน เพราะในช่วงปลายปี 64 ที่ผ่านมา ทีมข่าวเดลินิวส์ เพิ่งจะนำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งก็ยังส่งผลกระทบต่อประเทศไทย สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2564 สหรัฐอเมริกายังคงจัดให้ประเทศไทย อยู่ใน กลุ่ม Tier 2 Watch List (บัญชีเฝ้าระวัง) ถือว่าถูกลดระดับลงมาจาก เทียร์ 2 ทำให้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 เริ่มมีการกวาดล้างในพื้นที่ภาคใต้หลายจุดอีกครั้ง ไล่ตั้งแต่ จ.ชุมพร ระนอง ปิดล้อมตรวจค้น “เครือข่ายโกโส” นายทุนเมียนมา ร่วมกับนายทุนไทย ลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศไทย และส่งต่อไปยังต่างประเทศ เนื่องจากช่วงวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ขาดแคลนแรงงาน พอเปิดประเทศ ทำให้ขบวนการลักลอบขนแรงงาน กลับมาคึกคักอีกครั้ง

ขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เป็นเครือข่ายระหว่างประเทศ ซึ่งจะมี เอเย่นต์ อยู่ในประเทศต้นทาง 3 ประเทศหลักๆ คือ เมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว จัดหาแรงงานส่งต่อเข้ามาในประเทศไทย หรือส่งต่อไปมาเลเซีย ขณะที่ในปี 2558 ที่กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกนั้นคือการตีแผ่ ขบวนการค้ามนุษย์โรฮีนจา กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิม ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ (อาระกัน)ทางตะวันตกของเมียนมา มากันแบบ เรือมนุษย์ ลักลอบแอบขึ้นฝั่งในประเทศไทยผ่านทาง จ.ระนอง สตูล และสงขลา เพื่อหาช่องทางข้ามไปยังประเทศมาเลเซีย จนสุดท้ายกลายเป็นช่องทางของขบวนการค้ามนุษย์ หาเงินกับชาวโรฮีนจา ที่ต้องการหนีตายไปยังประเทศที่สาม

ขณะที่ คดีประวัติศาสตร์ค้ามนุษย์โรฮีนจา ปี 2558 …..ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางเดลินิวส์ เคยนำเสนอไปแล้วตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุใหม่ๆ จึงขอหยิบยกนำข้อมูลลำดับเหตุการณ์มาย้อนความทรงจำกันอีกครั้ง หากไล่เรียงข้อมูลไปประมาณเดือน มี.ค.2558 จากคดีที่ตำรวจ สภ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช สามารถจับกุมชาวโรฮีนจาที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์ซุกซ่อนมากับรถปิกอัพ เมื่อนำไปสอบสวนทราบว่า ชาวโรฮีนจาทั้งหมดที่จับได้กำลังจะถูกนำส่งไปยังชายแดน ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เพื่อส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย ต่อมามีชาวโรฮีนจาที่อยู่ในประเทศไทย มาแจ้งความตำรวจ สภ.หัวไทร เพื่อขอความช่วยเหลือว่า มีญาติ 2 คน ชื่อ รอฟิก และคาซิน ถูกคุมตัวใน ค่ายกักกัน แห่งหนึ่ง อยู่กลางป่าใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยนายหน้าชาวโรฮีนจาที่ร่วมมือกับนายหน้าชาวไทย ติดต่อให้ไปจ่ายเงินค่าหัว 8 หมื่นบาท หากไม่จ่ายก็จะทำร้าย

ต่อมา ตำรวจ สภ.หัวไทร ประสานข้อมูลไปยัง ตำรวจ ภ.จว.สงขลา ร่วมตรวจสอบจนไปเจอนายรอฟิก หลบหนีออกมาจากค่ายกักกันในป่าได้จริง ส่วนนายคาซิน ถูกฆ่าตาย เมื่อได้เบาะแส วันที่ 1 พ.ค.2558 ตำรวจ สนธิกำลังทหารและฝ่ายปกครอง เข้าไปตรวจสอบ บนเทือกเขาแก้ว หมู่ที่ 8 บ้านตะโละต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา ทำให้ชาวโลกมีโอกาสเห็นสภาพของ ค่ายกักกันชาวโรฮีนจา จำนวนหลายสิบหลังเป็นเพิงพักปลูกสร้างง่ายๆ เรียงรายอยู่ในป่า มีชาวโรฮีนจาถูกทอดทิ้งไว้และป่วยหนัก เมื่อตรวจสอบโดยรอบๆ ค่ายกักกันถึงกับตะลึง เมื่อพบ หลุมฝังศพ 32 หลุม ศพทั้งหมดส่วนใหญ่ป่วยและอดอาหารจนเสียชีวิต มีบางศพที่มีร่องรอยถูกทำร้าย

กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ช่วงนั้นประเทศไทยถูกนานาชาติกล่าวหาว่าเป็น “แหล่งค้ามนุษย์” ขึ้นสถานะบัญชีเทียร์ 3 จึงได้สร้างความเสียหายต่อประเทศไทยอย่างมาก

กระชากหน้ากากขบวนการค้ามนุษย์

ช่วงเวลานั้น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. (ขณะนั้น) เป็น หัวหน้าชุดคลี่คลายคดีการค้ามนุษย์ โดยประสานการปฏิบัติการสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้อยู่ในขบวนการระหว่าง บช.ภ.8 และ บช.ภ.9 ที่สำคัญมีการดึง พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ (นรต.35) รอง ผบช.ภ.8 ขณะนั้น มาเป็น หัวชุดพนักงานสอบสวน พล.ต.ต.ปวีณ เติบโตมาจากสายงานสอบสวน ผ่านงานมาทั้งพื้นที่ จ.ระนอง สตูล สงขลา ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ขึ้นชื่อว่าค่อนข้างตรงฉิน จนได้ฉายาว่า “ไม้บรรทัด” อีกคนในแวดวงสีกากีของภาคใต้

ทีมงานของ พล.ต.อ.เอก ซึ่งมี พล.ต.ต.ปวีณ เป็นหัวหน้าชุดสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานสำคัญ ในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ จนสามารถทยอยออกหมายจับ ผู้อยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ชุดแรก เกือบ 50 ราย ประกอบด้วย นายปัจจุบัน อังโชติพันธ์ หรือ โกโต้ง นักธุรกิจใหญ่และอดีตนายกอบจ.สตูล พื้นที่เรือมนุษย์นำชาวโรฮีนจามาจอดลอบขึ้นฝั่ง, นายบรรจง ปองผล หรือ โกจง อดีตนายกเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ อ.สะเดา ซึ่งตรวจพบค่ายกักกันและหลุมศพชาวโรฮีนจา เครือข่ายผู้ต้องหาชุดแรกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้นำและนักการเมืองท้องถิ่นใน จ.สตูลและสงขลา จากนั้นขยายผลต่อไปยังพื้นที่ จ.ระนอง เป็นอีกจุดที่เรือมนุษย์โรฮีนจา จอดขึ้นฝั่งแล้วแอบลักลอบขนลำเลียงมายัง จ.สงขลา จึงออกหมายจับ นายสุวรรณ แสงทอง หรือ โกหนุ่ย นักธุรกิจใหญ่และพวกที่กิจการแพปลา จ.ระนอง

อย่างไรก็ดีในการเข้าไปตรวจค้นหาหลักฐานต่างๆ ภายในบ้านโกหนุ่ยและพวก มี หลักฐานชิ้นสำคัญ ที่เกือบจะหลุดรอดสายตาของ พล.ต.ต.ปวีณ คือ “สลิปการโอนเงิน” รวมแล้วกว่า 14 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเส้นทางการเงินโอนไปให้ พล.ท.มนัส คงแป้น (ตท.16/จปร.27) ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก (ตำแหน่งขณะนั้น) อีกทั้งยังเคยเป็นผู้บังคับการจังหวัดทหารบกชุมพร และอดีต ผบ.มทบ.42 ค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อสื่อมวลชนรายงานข่าวชิ้นนี้ออกไป ทำให้ พล.ต.ต.ปวีณ ทราบเรื่อง ต้องไปตามไล่บี้หลักฐานชิ้นดังกล่าวจากชุดตรวจค้น จนทำให้ออกหมายจับ พล.ท.มนัส ได้สำเร็จในวันที่ 1 มิ.ย.2558

ติดตามอ่านย้อนรอยคดีค้ามนุษย์โรฮีนจาฯ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เรื่องราวภายหลังจับกุมครั้งประวัติศาสตร์ “พล.ท.” ผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องตกมาเป็นผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ แล้วเรื่องราวจะเป็นเช่นไรต่อ ใน (ตอน 2)

ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางเดลินิวส์