จากนโยบายผู้ป่วยไตสิทธิบัตรทองตัดสินใจร่วมกับแพทย์เพื่อเลือกวิธีการฟอกไตที่เหมาะสมได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 ซึ่งองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล ได้แก่ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และสมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย เห็นด้วยกับสิทธิประโยชน์ที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงและมีสิทธิเลือกการฟอกไตที่เหมาะสมกับตนได้ ทั้งนี้ในวงเสวนา “เลือกวิธีล้างไต ได้ข้อมูลครบ พบผู้เชี่ยวชาญ” มีการเปิดเผยข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั้งสิ้น 63,694 คน แยกเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 32,892 ราย ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 24,256 ราย และผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่รับเฉพาะยา EPO 6,546 ราย

ทั้งนี้ในวงเสวนา “เลือกวิธีล้างไต ได้ข้อมูลครบ พบผู้เชี่ยวชาญ” มีการเปิดเผยข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั้งสิ้น 63,694 คน แยกเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 32,892 ราย ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 24,256 ราย และผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่รับเฉพาะยา EPO 6,546 ราย

รศ.นพ.สุรศักดิ์

“รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ” นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ระบุว่า ในประเทศไทยตอนนี้มี ผู้ป่วย รวมถึงคนที่มีความเสี่ยงจะป่วยเป็นโรคไตกว่า 20 ล้านคน ส่วนหนึ่งเกิดจากการกิน “เค็ม” เกินกว่ากำหนด 2-3 เท่า หรือประมาณ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน

ทั้งนี้ “โรคไต” คือภาวะไตเสื่อมทีละน้อย จนมีปัญหาการทำงาน หากปัสสาวะผิดปกติ เช่น สีผิดปกติ มีลักษณะเหมือนนํ้าล้างเนื้อ หรือสีเข้มกว่าปกติ ปัสสาวะมีฟองมาก, ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืนที่ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ 3-4 ครั้งขึ้นไป, ปัสสาวะแสบขัด กะปริดกะปรอย, มีอาการปวดหลัง ปวดเอว อาจมีความผิดปกติบริเวณนิ่วในไต ไตอักเสบ และความดันโลหิตสูงขึ้น ให้รีบไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคไต

สำหรับวิธีการเลือกรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่เหมาะสมนั้น แบ่งได้ 3 วิธี 1.การฟอกไตทางหน้าท้อง (Peritoneal Dialysis : PD) โดยคนไข้จะต้องได้รับการผ่าตัดวางสายทางหน้าท้องเพื่อเป็นทางนำนํ้ายาล้างไตเข้า-ออกจากร่างกาย วิธีนี้สามารถทำเองได้ที่บ้านได้ด้วยตัวเองหรือใช้เครื่องอัตโนมัติ นี่คือข้อดี ส่วนข้อเสียคือหากต้องเดินทางไปพักที่อื่น ต้องพกเอานํ้ายาล้างไตไปด้วย และหากทำผิดขั้นตอนหรือมีการปนเปื้อนก็มีโอกาสติดเชื้อได้

2.การฟอกไตทางเส้นเลือด (Hemodialysis : HD) คือ การนำเลือดออกจากเส้นเลือดที่ผ่าตัดไว้หรือผ่านทางเส้นฟอกไตแบบชั่วคราวและแบบกึ่งถาวร ผ่านตัวกรองและเครื่องไตเทียม โดยทำที่รพ. 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ หรือมากกว่าหากมีปัญหาเพิ่มเติม แต่การเดินทางบ่อย ๆ อาจเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย เสี่ยงความดันตกง่าย หรือเสี่ยงติดเชื้อผ่านทางสายฟอกเลือดหากดูแลรักษาสายฟอกไตผิดวิธีหรือใช้นานเกินกำหนด

3.การปลูกถ่ายไต (Kidney transplantation : KT) เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มคุณภาพชีวิตและยืดอายุขัยของคนไข้ไตเรื้อรังระยะสุดท้ายได้ยืนยาว โดยสามารถแบ่งเป็นการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเครือญาติ สามี ภรรยา หรือผู้บริจาคสมองตาย ซึ่งวิธีนี้ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติที่สุด ไม่ต้องอาศัยเครื่องฟอกไตอีก แต่ข้อเสีย คือต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่น ๆ อาจมีข้อแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัด เช่นการเสียเลือด การปฏิเสธอวัยวะ เป็นต้น และการรอคอยอวัยวะเป็นระยะเวลานานเนื่องจากผู้บริจาคมีจำนวนน้อยกว่าผู้รอรับซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญในประเทศไทย

รศ.นพ.สุรศักดิ์ บอกว่า การบำบัดทดแทนไตทั้งสามวิธีนั้น ต้องคำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน ได้แก่ โรคประจำตัวของคนไข้ ภาระในการเดินทางไป-กลับสถานพยาบาล ความเชี่ยวชาญของบุคลากรของสถานพยาบาลใกล้บ้าน และความเห็นจากทีมแพทย์ผู้ดูแล ซึ่งขณะนี้ ทางสมาคมโรคไตฯ มีแนวทางในการขยายการฝึกอบรมแพทย์และพยาบาลวิชาชีพเพื่อรองรับผู้ป่วยในอนาคตด้วย

ส่วนภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนการบริจาคอวัยวะและการเข้าถึงการปลูกถ่ายไตให้มากขึ้น โดยมีการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเชิญชวนให้ประชาชนบริจาคอวัยวะ ผ่านทั้งช่องทางสื่อต่าง ๆ หรือการประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยราชการ และที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันการเกิดโรคไตวายเรื้อรังในประชาชน เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวและยั่งยืนที่สุด.

คอลัมน์     :  คุณหมอขอบอก
เขียนโดย  :  อภิวรรณ เสาเวียง