ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงต้องมาสนทนากับ “ดร.เอ้” ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ขออาสามาสวมเสื้อ สีฟ้าค่าย ปชป. ร่วมลงแข่งขันในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้

โดย “สุชัชวีร์” ผู้ท้าชิงหมายเลข 4 ได้เปิดฉากกล่าวว่า แม้ตัวเองเป็นคนหน้าใหม่ในทางการเมือง แต่ในด้านวิศวกรรม ถือเป็นคนหน้าเก่า เคยเป็นวิศวกรอาสา เคยเป็นนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้ลงพื้นที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม ตึกถล่ม โรงงานระเบิด ไฟไหม้ ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีงานด้านการศึกษา ซึ่งตัวเองมีประสบการณ์ในงานด้านการศึกษามายาวนาน และในงานด้านสาธารณสุขก็เคยได้มีโอกาสร่วมสร้างโรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ และได้ทำเครื่องมือแพทย์ อย่างที่ทุกคนเคยเห็นมาแล้ว และสิ่งที่ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบของตัวเอง คือการเป็นคนรุ่นใหม่ที่ยังมีพลังและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง และเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีมาเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย และเป็นต้นแบบในภูมิภาคอาเซียน เปลี่ยนชีวิตคนกรุงเทพฯ และหยุดปัญหาซ้ำซาก 

“ผมได้นำเสนอนโยบายที่สำคัญมาก คือการติดตั้งอินเทอร์เน็ตไวไฟ (Wi-Fi) 150,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ และให้ประชาชนได้ใช้ฟรี เพราะนอกจากจะเป็นสวัสดิการของเมืองสำหรับประชาชน พร้อมกับสร้างโอกาสให้พวกเขาได้เข้าสู่โลกออนไลน์แล้ว กทม.จะได้นำมาใช้ในการบริหารจัดการเมืองด้วย อย่างเช่น การนำมาทำให้ระบบการรักษาความปลอดภัยสามารถออนไลน์ได้ตลอด การเอามาใช้แก้ปัญหาจราจร แก้ปัญหาน้ำเน่าและน้ำท่วม รวมถึงพัฒนาการบริการประชาชนในหลายด้าน อาทิ การยื่นคำร้องต่างๆ คำขออนุญาต ต่อสำนักงานเขต ถ้ามีเทคโนโลยีที่ทำให้ประชาชนสามารถติดตามเรื่องได้ ก็จะทำให้เกิดความโปร่งใส ลดการคอร์รัปชั่นได้  

และนโยบายนี้เป็นสิ่งที่เราได้คำนวณมาแล้ว กทม.มีงบประมาณเพียงพอและสามารถทำได้ เพราะขณะนี้หน่วยงานราชการและโรงเรียนในสังกัดกทม.มีอินเทอร์เน็ตไวไฟใช้ฟรีในพื้นที่ตัวเอง อีกทั้ง อินเทอร์เน็ตความเร็ว 1,000 เมกะไบต์ เพียงพอต่อการใช้งาน และผมตั้งใจด้วยว่าเมื่อมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้ฟรีแล้ว ผมอยากทำแอพพลิเคชั่น “แบงค็อก ซูเปอร์แอพ (Bangkok Super App)” ที่จะรวมการบริการทุกอย่างของกทม.ด้วย

@ อะไรจะเป็นสิ่งที่ทำทันที หากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯกทม.

สิ่งแรกที่ต้องทำสุดๆ คือต้องเข้าไปจัดการเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทั้งการแก้ปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ การเติมอุปกรณ์การแพทย์ การอบรมอาสาสมัคร การดูแลการคัดแยกผู้ป่วยหรือการจัดหาเตียงสนามในชุมชนให้มากขึ้น  และเมื่อโรคโควิดลดแล้ว จะทำให้เราได้ฟื้นฟูอีก 4 เรื่องตามมา คือ 1.เศรษฐกิจฟื้นได้เร็ว เพราะประชาชนสามารถกลับมาทำงาน กลับมาค้าขายได้ กทม.จะสามารถประกาศให้กิจการต่างๆ กลับมาได้ตามปกติ  2.ฟื้นการท่องเที่ยว สร้างรายได้ 3.ฟื้นกำลังแก่บุคลากรทางการแพทย์ในการไปดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆด้วย 4.จะทำให้กทม.มีงบประมาณเพียงพอในการดูแลเรื่องที่สำคัญอีกมาก

@ จะมีวิธีการใดเข้าถึงหรือจูงใจกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีจำนวนมากในครั้งนี้

ในชีวิตของผมเคยทำงานกับเด็กๆคนรุ่นใหม่ จนพวกเขาเรียกผมว่า “พี่เอ้” แต่ในบทบาทของ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. การจะเข้าถึงพวกเขาได้ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนเรื่องการใช้สื่อ เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้ใช้สื่อกระแสหลัก จึงต้องเน้นเรื่องสื่อโซเชียลด้วย นอกจากนี้เราต้องทำให้คนรุ่นใหม่มั่นใจได้ว่า เมื่อสนับสนุนผมจะได้เห็นว่า ปัญหาต่างๆได้รับการแก้ไข หรืออนาคตของเขาจะต้องดีขึ้น และผมอยากให้เขาได้เข้าใจว่าตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่ตำแหน่งที่มีแต่เรื่องการเมือง 

ผมมาสมัครงานเป็นพ่อบ้าน ดูแลชีวิตคน ความสะอาด ความปลอดภัย และต้องมีความเป็นนายช่างด้วย เพราะตำแหน่งนี้เป็นงานเฉพาะทางจริงๆ จะต้องซ่อมปะผุ ต้องสร้าง เพราะบ้านหลังนี้ฝ้ากำลังจะถล่ม น้ำจะทะลักเข้ามา จึงต้องได้ผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านที่ตรงกับงานของกทม.

@ ด้วยความที่ปชป.เป็นพรรคเก่าแก่ และมีอดีตผู้ว่าฯ กทม. หลายคนที่เขาเห็นฝีมือในการบริหารมาแล้ว คิดว่าจะทำให้ถูกคนรุ่นใหม่มองข้ามหรือไม่

ปชป.มีอายุ 76 ปี เมื่ออยู่มานานก็ย่อมมีหลายเรื่องให้คนวิพากษ์วิจารณ์ แต่ผมอยากให้มองว่าการจัดการเมืองมันไม่ใช่เรื่องของการเมือง และในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองเขาก็ออกแบบมาอย่างนั้น สนับสนุนผู้สมัครที่มาพร้อมพรรคการเมือง หมายความว่า ตรงไปตรงมาชัดเจนและมีทีมงานจริงๆ ทั้งนี้ ผมอยากให้น้องๆเปิดโอกาส เปิดหัวใจ และวันนี้ปชป.มีคนรุ่นใหม่เข้ามามาก ผมก็เป็นคนรุ่นใหม่ ไม่เคยเข้าสนามการเมือง จึงเห็นได้ชัดว่าปชป.มีความตั้งใจสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถให้มาแก้ปัญหาของกทม.จริงๆ ไม่ได้จะมาเล่นการเมือง

สำหรับ อดีตผู้ว่าฯ กทม. ที่เป็นคนของประชาธิปัตย์ในยุคใกล้ๆนี้มีทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ได้สร้างศูนย์กีฬา สร้างสวนสาธารณะเพิ่ม และทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในกรุงเทพฯเป็นจำนวนมาก จนติดอันดับโลก ขณะที่คุณ อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นอดีตผู้ว่าฯที่สนับสนุนจนทำให้หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเกิดขึ้นได้ และยังสนับสนุนรับฟังกิจกรรมของบรรดาเครือข่ายภาคประชาชน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมถือว่าเป็นเรื่องที่เราทำได้ โดยผู้ว่าฯ กทม.ในอดีตยังไม่ได้ทำ นั่นคือเรื่อง เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เพราะตอนนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีดังกล่าวเหมือนปัจจุบัน แต่วันนี้เรามีเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และเป็นสิ่งที่เมืองอื่นได้พิสูจน์กันแล้วว่าทำได้ ผมจึงถือเป็นข้อได้เปรียบของผม และเป็นข้อแตกต่างที่อดีตผู้ว่าฯ กทม.คนอื่นๆ ยังไม่ได้มีโอกาส จึงนับเป็นความโชคดีของผมที่จะเป็นผู้ว่าฯกทม.ที่ใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชน

@ มองอย่างไรต่อผลโพลที่ยังบอกว่ากระแสความนิยมเป็นรองอยู่

โพลก็มีหลายสำนัก การที่ผลบอกว่าเรามีคะแนนตามอยู่นั้น ทำให้เราต้องขยันมากขึ้น ก็ต้องยอมรับว่าเรายังเป็นคนหน้าใหม่ทางการเมือง ขณะที่ผู้สมัครหลายคนก็เป็นที่รู้จักอยู่ก่อน บางคนเปิดตัวล่วงหน้ามานาน ย่อมเป็นที่รู้จักมากกว่า แต่ตอนนี้เราก็ต้องขยันและต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่านโยบายของเราเป็นอย่างไร และมีความแตกต่างจากของคนอื่นอย่างไร เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมต้องมุ่งเน้น