นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ที่มีนายบวรศักดิ์ อุ​วรรณโณ เป็นประธาน กำลังเร่งหาทางปรับปรุงกฎหมายที่เป็นภาระต่อประชาชน และเป็นต้นทุนของภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายอยู่หลายเรื่องที่เป็นอุปสรรค และล้าสมัย ถ้าไม่เร่งแก้ไขโดยเร็ว จะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาเรื่องใด ๆ ให้เกิดขึ้นได้อีก 

“ถ้าประเทศไทยอยากจะก้าวไปข้างหน้าต้องปรับปรุงกฎหมาย กระบวนงานต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค หรือเป็นเหมือนเขาวงกต ซึ่งในอดีตกฎหมายหลายฉบับเขียนไว้ดี แต่มาปัจจุบันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว จนหลายเรื่องเป็นภาระกับทุกคนอย่างยิ่ง และโลกยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องมีภาระอย่างนี้ เช่น หากจะเปิดร้านปิ้งย่างได้อย่างถูกต้อง นอกจากการขอเปิดจะมีอุปสรรคมากแล้ว การจะปิ้งหมูได้ต้องไปขออนุญาตกรมปศุสัตว์ ปิ้งอาหารทะเลต้องไปขอกรมประมง ปิ้งผักต้องไปขอเกษตร ถ้ามีน้ำจิ้มต้องขอ อย. ทำให้เห็นตัวอย่างว่าต้องปรับประบวนงานใหม่ ให้ขออนุญาตเปิดได้ครั้งเดียว เป็นต้น”  

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้คณะอนุฯ มีแผนทำงานให้เสร็จภายใน 6 เดือน รวม 3 เรื่อง คือ เรื่องแรก จะนำผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงกระบวนงานต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคของส่วนราชการที่มีมากกว่า 1,000 กระบวนงาน โดยที่ผ่านมาได้ส่งให้หน่วยงานต่าง ๆ พิจารณาแล้ว และมีตอบกลับมาครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้มี 20-30% พร้อมเข้าร่วมมือทำโครงการลด เลิก ละ เพื่อประชาชน ผ่านการแก้กฎหมายลูกที่เป็นอุปสรรคก่อน คาดว่าจะช่วยกระบวนการลงได้ 200-300 ข้อ และน่าจะช่วยลดต้นทุนได้มากถึง 2-3 หมื่นล้านบาท  

ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ เห็นถึงความสำคัญของการเร่งแก้ไขเรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) จะมีการประเมินผลทุกปี ขณะที่คณะอนุฯ จะเสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรี และ ครม.พิจารณาให้รางวัลกับหน่วยงานที่เร่งแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นการเฉพาะ โดยในระยะยาวหวังว่ารางวัลนี้จะมีความสำคัญ เพราะหากใครจะขึ้นเป็น ปลัด อธิบดี หรือผู้บริหารหน่วยงานได้ต้องผ่านหลักสูตรเรื่องนี้ก่อน 

ส่วนเรื่องที่ 2 คือ การปรับแก้กฎหมายช่วยกลุ่มธุรกิจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สามารถกลับมาฟื้นตัวและก้าวไปข้างหน้าได้หลังจากโควิดคลี่คลาย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว เช่น การปรับปรุงกฎหมายรองรับโฮมสเตย์ให้ถูกกฎหมาย หรือช่วยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยเปิดทางให้ต่างชาติซื้ออสังหาฯ ได้โดยไม่ต้องนำเงินจากต่างประเทศ สามารถใช้สลิปเงินเดือนที่ได้จากการทำงานในไทยไปกู้เงินจากธนาคารมาซื้อได้ หรือการให้วีซ่าระยะยาวกับต่างชาติสูงอายุที่จะเข้ามาอยู่ในประเทศไทย  

นอกจากนี้ในเรื่องสุดท้าย คือ การลดอุปสรรคของคนต่างชาติทักษะสูงที่จะเข้ามาในประเทศ โดยปรับลดข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น การยื่นเรื่องขอใบอนุญาตทำงาน โดยปลดล็อกเกณฑ์การมีพนักงานคนไทยอย่างน้อย 4 คนต่อต่างชาติ 1 คน รวมทั้งอุปสรรคอื่น ๆ เพื่อดึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยได้สะดวก จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคได้ และหากทำสำเร็จ จะถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญกับการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต