ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ห้องประชุมน้อมเกล้า ชั้น 1 อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดกิจกรรม การตรวจสารพันธุกรรม (DNA) และอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการในประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหา คนด้อยโอกาสและขาดโอกาสทางสังคม โดยสำนักทะเบียนจังหวัด สำนักทะเบียนอำเภอ และ สำนักทะเบียนท้องถิ่น ในจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สำรวจรายชื่อบุคคลซึ่งไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนและบุคคลอ้างอิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ รวมทั้งหมด จำนวน 577 คน สืบเนื่องจากปัญหาการตกสำรวจของทางราชการ การไม่แจ้งเกิด ความยากจน ความเชื่อเฉพาะถิ่น และการขาดความรู้ความเข้าใจ ในกระบวนการรับรองสถานะทางทะเบียนราษฎร รวมถึงการไม่มีเอกสารของทางราชการหรือไม่มีบุคคลที่สามารถเป็นพยานเพื่อยืนยันสถานภาพสำหรับการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านและการออกบัตรประจำตัวประชาชนของกรมการปกครอง ทำให้ประชาชนบางส่วนกลายเป็นคนไทยไร้สัญชาติหรือไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร จึงทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ เสรีภาพ และการบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ จากรัฐอย่างเท่าเทียมกับประชาชนที่มีสัญชาติไทย อาทิ สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล สิทธิในการศึกษา สิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน อย่างเท่าเทียม

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู กระทรวงการต่างประเทศ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ริเริ่มกิจกรรมแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สัญชาติหรือบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรเป็นครั้งแรก โดยดำเนินการช่วยเหลือคนไทยซึ่งไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ถึงปัจจุบัน จึงได้ดำเนินการ ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล และได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา คนไทยไร้สัญชาติหรือไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ให้ได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านและมีบัตรประจำตัวประชาชน โดยอาศัยผลการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ความสัมพันธ์ ทางสายโลหิต เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับบุคคลกลุ่มเปราะบาง ให้มีสิทธิเท่าเทียม

อย่างไรก็ตามศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เล็งเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของคนไทยที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ รวมทั้งในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลา ดังนั้นเพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถเข้าถึงสิทธิ เสรีภาพและการบริการขั้นพื้นฐานต่าง ๆ จากรัฐอย่างเท่าเทียมกับประชาชนที่มีสัญชาติไทยเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและ อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน อย่างเท่าเทียม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติหรือไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรตลอดมาจนถึงปัจจุบัน 

ทางด้านนางสาวยีสมีนี เด็ง อายุ 31 ปี ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย และได้คลอดบุตร ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถข้ามกลับฝั่งไทยได้ เป็นระยะเวลายาวนานถึง 2 ปี ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าตนเองดีใจที่ได้มีโครงการนี้ ที่ให้โอกาสกับพวกเรา ตนเองขอฝากไปถึงเพื่อนที่อยู่ฝั่งประเทศมาเลเซีย ที่มีบุตร-หลานไม่มีบัตรประชาชน หรือ บัตรอะไรเลย สามารถกลับมาติดต่อกับทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ได้เลย สำหรับตนเองคลอดบุตรสาวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก คลอดบุตรที่โรงพยาบาลในพื้นที่ประเทศมาเลเซีย ไม่มีใบแจ้งเกิดให้ เพราะพ่อเป็นคนไทย แม่ก็เป็นคนไทย