เมื่อวันที่ 4 ก.ค. เวลา 13.00 น. ที่อาคารเอ็นที ทาวเวอร์ ถนนเจริญกรุง นายชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) หารือร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่อง กรุงเทพมหานครเมืองอัจฉริยะ (Bangkok Smart City) และการบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน พร้อมด้วย น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายจัดระเบียบสารสื่อสาร โดยแบ่งเป็นสองส่วน คือ พื้นที่ไหนนำลงดินได้ ก็จะนำลงใต้ดิน และพื้นที่ไหนลงดินไม่ได้ ก็จะมัดสายให้เป็นระเบียบไม่พาด รกรุงรัง โดยที่ผ่านมา ได้หารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและดำเนินการไประยะหนึ่งแล้วแต่มีหลายจุดที่ยังทำไม่ทั่ว ซึ่งรัฐบาลมอบหมายให้ สำนักงาน กสทช.ประสานงานหน่วยงานต่างๆ ทั้งผู้ให้บริการโทรคมนาคม เอ็นที และ บริษัท กรุงเทพธนาคม หรือ เคที ซึ่งตามแผนงานที่ตกลงกันจะเร่งดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารก่อน จำนวน 800 กิโลเมตร แบ่งเป็นที่เร่งด่วน 350 กิโลเมตร ที่มีประชากรหนาแน่น และ อีก 450 กิโลเมตร เป็นถนนสายรอง โดย กสทช.ได้จัดสรรงบประมาณ 700 ล้านบาท โดยจะเร่งให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

“ในเรื่องงบประมาณ ทาง กทสช.จะช่วยส่วนหนึ่ง รัฐบาลอยากให้โครงการเดินหน้า เพราะที่ผ่านมาอาจไม่มีความคืบหน้ามาก เป็นเรื่องที่ดีที่ทุกฝ่ายและ กทม. มาประชุมร่วมกัน  ซึ่งตอนนี้สามารถทำได้แล้ว 20 กม. จากเป้าหมาย 800 กม. เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายในสิ้นปีนี้”

นายชัชชาติ กล่าวว่า ช่วงเวลานี้เหมาะสมในการเร่งดำเนินการช่วงที่ผ่านมามีไฟไหม้ การนำลงดินต้องมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเอ็นที มีท่ออยู่แล้วใต้ดิน จึงต้องมีการหารือกับทุกฝ่าย โดยอาจจะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อติดตามการดำเนินงาน โดนจะเร่งดำเนินงานสายตายหรือไม่ใช้งานก่อน และหากใครจะดำเนินงานพาดสายได้ต้องเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ก่อนไม่เช่นนั้น ทาง กทม. จะเอาผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาด มาตรา 39 มีโทษปรับ 

“ประเด็นของกรุงเทพธนาคม ต้องมาคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะที่ผ่านมาลงทุนทำท่อร้อยสายใหม่ไป 7 กม. แต่ยังไม่มีคนมาเช่าใช้ หากต้องลงทุนทำเพิ่มไม่คุ้มก็ต้องมาดูกัน โดยยีดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง หรือจะใช้ของเอ็นทีที่มีท่อใต้ดินอยู่แล้ว 4,450 กม. ก็ต้องดูรายละเอียดก่อน แต่ในช่วงแรกนี้จะมีการตั้งคระทำงานทุกฝ่ายมาติดตามทำงานให้ได้ตามเป้าหมาย 800 กิโลเมตร ต้องมีการติดตามงานในทุกเดือน มีการวัดเคพีไอ เพื่อให้ให้ได้ตามเป้า”

นายไตรรัตน์  กล่าวว่า กสทช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้จัดงบประมาณ แล้ว 700 ล้านบาท ดำเนินการในช่วงแรก 800 กม. แล้วกำลังเสนอ บอร์ด กสทช. เพื่อสนับสุนงบเพิ่มเติมอีก 1 หมื่นล้านบาท จาก 2 หมื่นล้าน ที่มีการประมาณการงบรวมทั่ว กทม. อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการแจ้งปัญหาว่าค่าใช้จ่ายที่คิดกับเอกชนนั้นสูงถึง 9,000 บาท ต่อกิโลเมตร จึงอยากให้มีการลดราคาลงก็ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันอย่าคิดเอาแต่ผลประโยชน์ฝ่ายตน ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

นายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที กล่าวว่า เอ็นทีมีท่อร้อยสายแล้วใน กทม.กว่า 4,450 กม. การที่โอเปอเรเตอร์จะเช่าใช้ต้องเสียงบประมาณเพียง 3,000  กม. แต่ หากต้องไปลงทุนใหม่ ต้องมีค่าใช้จ่าย 9,000 บาท ต่อกิโลเมตร ซึ่งเอ็นที พร้อมที่จำร่วมมือดำเนินโครงการนี้ แต่ต้องได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้ง กทม. และ กสทช. และหากได้รับมอบหมายในเส้นทางที่ไม่มี จะทำกลางคืนโดยเปิดผิวฟุตปาธตัวหนอน แผ่นปูน นำมาวาง ตีสามก็เสร็จในแต่ละวันและปิดผิวฟุตปาธตามเดิม จะกระทบประชาชนน้อยที่สุด.