สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ว่า สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลีย (เอมส์) ระบุในรายงานประจำปีว่า การฟื้นตัวของเกรตแบริเออร์รีฟ เกิดขึ้นในส่วนเหนือและส่วนกลางของแนวปะการัง ตรงข้ามกับส่วนใต้ ซึ่งสูญเสียการฟื้นตัวเพราะการระบาดของดาวมงกุฎหนาม

“สิ่งนี้แสดงถึงความเปราะบางของแนวปะการังที่มีต่อความปั่นป่วนที่รุนแรงและเฉียบพลันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งและยาวนานมากขึ้น” นายพอล ฮาร์ดิสตี ผู้บริหารสูงสุดของเอมส์ กล่าวในแถลงการณ์

ทั้งนี้ ในมาตรการสำคัญของความสมบูรณ์ของแนวปะการัง เอมส์กำหนดให้การฟื้นตัวของปะการังแข็งที่มากกว่า 30% เป็นค่าระดับสูง โดยอ้างอิงจากการสำรวจแนวปะการังในระยะยาว

แนวปะการังทางตอนเหนือมีการฟื้นตัวปะการังแข็งเฉลี่ยเพิ่มเป็น 36% ในปีนี้ จากเดิมที่อยู่ต่ำถึง 13% เมื่อปี 2560 ขณะที่ทางตอนกลาง อัตราการฟื้นตัวปะการังแข็งเพิ่มจาก 12% ในปี 2562 เป็น 33% ซึ่งทั้ง 2 ค่า คือระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่สถาบันเริ่มการเฝ้าติดตามแนวปะการังเมื่อปี 2528

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวปะการังทางตอนใต้ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการฟื้นตัวปะการังแข็งที่สูงกว่าอีก 2 ส่วนข้างต้น กลับมีการฟื้นตัวที่ลดลงจาก 38% ในปีก่อนหน้า เหลือ 34% ในปีนี้

นอกจากนี้ การฟื้นฟูที่เพิ่มขึ้นยังมาจากปะการังเขากวาง ซึ่งเอมส์ กล่าวว่า พวกมันเปราะบางเป็นพิเศษต่อความเสียหายจากคลื่น, ความร้อนในทะเล และดาวมงกุฎหนาม.

เครดิตภาพ : REUTERS