เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กทม. ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพลิกโฉมการศึกษา (National Consultation for Transforming Education Summit) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นายชิเกรุ อาโอยางิ ผู้อำนวยการ องค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ รศ.ดร.จีระเดช อู่สวัสดิ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฏ รองประธานสายงาน FTI Academy สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.ไกรยศ ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม

โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นการหารือร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อแลกเปลี่ยนและกำหนดวิสัยทัศน์อนาคตด้านการศึกษา ขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติที่ทำให้บรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 และเป็นการเตรียมความพร้อมในการพลิกโฉมการศึกษาของประเทศไทย ที่จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะ และแสดงแนวทางการศึกษาของไทยต่อที่ประชุม Transforming Education Summit (TES) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2565 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาไว้อย่างชัดเจน ว่า การขับเคลื่อนด้านการศึกษาๆ ต้องมุ่งเน้นถึงการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค โดยไม่มีใครตกหล่นจากระบบการศึกษา เด็กไทยทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ และเป็นการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง รวมถึงมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม

“การพลิกโฉมเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของไทย เป็นประเด็นที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะการฟื้นฟูการศึกษาหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งระบบการศึกษาจำเป็นต้องมีการปรับตัว ให้เข้ากับสถานการณ์และโลกในยุคหลังโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลและ ศธ. ได้รับมือโดยให้เด็กสามารถเรียนรู้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตามบริบทและความเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดการศึกษาแบบ On-Air, Online, On-Demand, On-Hand และ On-Site ซึ่งการเรียนการสอนแบบ On-Site สำคัญมากที่สุด โดยมีเป้าหมายว่าท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ทำอย่างไรเราจะมีบริบทการเรียนการสอนที่เข้าถึงนักเรียน เพื่อให้เข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ได้มากที่สุด อีกทั้งมีการบูรณาการ ICT ในการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ และการเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ อาทิ การเรียนรู้ทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ DLTV การเรียนรู้แบบผสมผสานสำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลและยากต่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มุ่งเน้นให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษามากที่สุด ได้กลับสู่โรงเรียนอย่างรวดเร็วที่สุด เรียนด้วยความปลอดภัยและไม่เกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้” รมว.ศธ.กล่าว

นางสาวตรีนุช กล่าวด้วยว่า การศึกษาในอนาคตควรคำนึงถึงการตอบสนองต่อการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งการยกระดับคุณภาพการศึกษา การพัฒนากระบวนการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพในอนาคต โดยเฉพาะเด็กอาชีวะ เรารู้ว่ากลไกที่ดีที่สุดคือการที่เด็กได้ทำงานจริงกับสถานประกอบการ หรือ ภาคเอกชน เพื่อจัดการเรียนการสอนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสาขาอาชีพที่รวดเร็ว ตลอดจนมีทักษะในการดำรงชีพ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ สำหรับในประเด็นการสร้างโอกาสทางการศึกษา นอกจากป้องกันเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษาแล้ว ควรให้ความสำคัญต่อพัฒนาคนทุกช่วงวัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ทั้งนี้ จากการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการรับรองถ้อยแถลงกรุงเทพฯ 2565 สู่การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อปวงชนและการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Bangkok Statement 2022 Towards an effective learning recovery for all and transforming education in Asia-Pacific จึงเป็นการเน้นย้ำว่า ประเทศไทยและภาคส่วนต่าง ๆ มีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนด้านการศึกษา ไม่เพียงแต่ในระดับประเทศเท่านั้น แต่เป็นการฟื้นฟูและพัฒนาการศึกษาทุกมิติตามเจตนารมณ์ของภูมิภาคและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 อย่างเข้มแข็ง และในการประชุม Transforming Education Summit เดือนกันยายนนี้ ประเทศไทยจะได้แสดงวิสัยทัศน์ นำเสนอถ้อยแถลง รวมถึงรายงานผลการหารือระดับชาติที่ครอบคลุมแนวทางปฏิบัติการทั้ง 5 หัวข้อ ได้แก่ การศึกษาที่ครอบคลุม การเรียนรู้ ทักษะชีวิตและงาน การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล การพัฒนาครู และงบประมาณด้านการศึกษา เพื่อนำไปสู่การพลิกโฉมการศึกษาให้สอดรับกับบริบทโลกยุคปัจจุบัน รวมถึงการนำข้อเสนอไปพัฒนาในการบรรลุตามวัตถุประสงค์ในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป.