เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 10 ส.ค.ที่รัฐสภา นายบัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 แถลงว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯได้พิจารณาเป็นครั้งสุดท้าย โดยได้มีการลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ิเป็นรายมาตรา พิจารณารับรองบันทึกการประชุม และรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ทั้งนี้ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ได้มีมติปรับลดงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 7,644,243,800 บาท โดยหน่วยงานที่ถูกปรับลดมากที่สุด 3 อันดับ คือ 1.กระทรวงกลาโหม ลดลง 2,778,134,500 บาท 2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลดลง 742,208,000 บาท และ 3.กระทรวงศึกษาธิการ ลดลง 737,486,100 บาท

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอแปรเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปี 66 โดยใช้งบประมาณที่มีการปรับลด 7,644,243,800 บาท มาแปรเพิ่มงบประมาณจำนวน 10 รายการ ดังนี้ 1.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 500,000,000 บาท 2.เงินอุดหนุนการพัฒนาคุณภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขของสถานีอนามันถ่ายโอน (องค์การบริหารส่วนจังหวัด 49 แห่ง) 1,840,550,000 บาท 3.เงินอุดหนุนการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงขั้นพื้นฐาน 2,359,853,000 บาท 4.กรมการข้าว โครงการปรับปรุงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวปี 66 จำนวน 1,256,000,000 บาท 5.กรมการข้าว โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 1,021,656,000 บาท 6.สำนักงานอัยการสูงสุด เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 230,000,000 บาท

7.สำนักงานศาลยุติธรรม เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 192,284,300 บาท 8.สำนักงาน ป.ป.ช. เงินอุดหนุนผลผลิตการดำเนินการป้องกันปราบปรามการทุจริต 154,123,100 บาท 9.สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เงินอุดหนุนแผนงานบุคลากร 81,577,400 บาท 10.ค่าใช้จ่ายพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่รัฐและบุคลากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ ศอ.บต. 8,200,000 บาท ขณะที่หน่วยงานที่ไม่มีการปรับลดงบประมาณ คือ กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานอื่นของรัฐ สภากาชาดไทย และส่วนราชการในพระองค์

นายบัญญัติ กล่าวด้วยว่าหลังจากนี้คณะกรรมาธิการฯ จะจัดทำเอกสารเพื่อเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 17-19 ส.ค.65 เพื่อให้เป็นไปตามกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วัน นับแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ.มาถึงสภา ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังได้มีข้อสังเกตว่าการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลยังไม่ค่อยสอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลควรหามาตรการเพิ่มรายได้ให้รัฐ เช่น เพิ่มจำนวนคนที่เข้าสู่ระบบภาษีรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีที่ดิน และภาษีมรดก รวมทั้งการพิจารณาภาษีรูปแบบใหม่ เช่น ภาษีลาภลอย ภาษีกำไรจากเงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงรัฐบาลควรหามาตรการเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของโครงสร้างงบประมาณในระยะยาว ผ่านการลดสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายที่ตายตัวและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ในแต่ละปีให้เหลือเท่าที่จำเป็น และการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากเงินนอกงบประมาณ.