เมื่อวันที่ 1 ก.ย. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีนักเรียน ป.2 โรงเรียนดังในจังหวัดชลบุรี เสียชีวิตภายในรถตู้รับ-ส่งนักเรียนของโรงเรียนว่า ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้ ดร.พีระศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร รวมถึงสอบสวนครูที่เกี่ยวข้อง ส่วนการดำเนินคดีตามกฎหมายให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการ ซึ่งมาตรการความปลอดภัยในสถานศึกษาถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญที่ทุกโรงเรียนจะต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องระเบียบเรื่องรถรับส่งนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เช่น การเช็กชื่อจำนวนนักเรียนในรถ เป็นต้น ดังนั้นขอให้ทุกโรงเรียนทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชนได้ปฎิบัติตามระเบียบดังกล่าวอย่างเคร่งครัดด้วย นอกจากนี้ตนจะตรวจสอบสถานศึกษาทุกแห่ง ถึงระบบรถรับส่งนักเรียนด้วยว่ามีมาตรฐานและมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ที่ผ่านมา เรากำชับมาตรการความปลอดภัยและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเรื่องรถรับส่งนักเรียนมาตลอด แต่เข้าใจว่าเรื่องที่เกิดขึ้นอาจเป็นความประมาทเลินเล่อ ซึ่งตนอยากฝากครูทุกคนให้ใส่ความปลอดภัยของนักเรียนให้มากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงสถานศึกษาจะต้องมีการซักซ้อมให้ความรู้นักเรียนถึงวิธีการเอาตัวรอดในรูปแบบต่างๆ ให้มากขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน ตนได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้นำนวัตกรรมระบบเซ็นเซอร์สัญญาณเตือนติดรถรับส่งนักเรียน ซึ่งทราบข้อมูลว่ามีหลายวิทยาลัยที่มีการผลิตนวัตกรรมดังกล่าวออกมาใช้ได้ผล โดยตนจะนำนวัตกรรมดังกล่าวมาติดตั้งให้กับรถตู้รับส่งนักเรียนของโรงเรียนรัฐและเอกชนด้วย เพื่อสร้างความปลอดภัยอย่างเป็นระบบให้เข้มแข็งมากขึ้น

“ทราบว่าที่ผ่านมาวิทยาลัยอาชีวศึกษาหลายแห่งได้คิดค้นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ในการป้องกันและช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในรถออกมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เช่น วิทยาลัยเทคนิคลำปาง ได้สร้างระบบป้องกันและเตือนภัย โดยอาศัยหลักการตรวจจับความเคลื่อนไหวภายในรถยนต์ ซึ่งเมื่อระบบตรวจสอบพบการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตในรถ กล่องควบคุมจะสั่งการเปิดประตูรถยนต์ และส่งสัญญาณเตือนภัยในรูปแบบระบบเสียงแจ้งเตือนด้วยไซเรนและส่งข้อความ SMS ที่ระบุพิกัดสถานที่ด้วย GPS ไปยังโทรศัพท์ ที่ตั้งค่าเอาไว้ก็จะสามารถดูพิกัดสถานที่ได้ทันที, วิทยาลัยนครปฐม ได้ประดิษฐ์ชุดควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรถยนต์ เมื่อมีผู้ติดอยู่ในรถ และมีค่าคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 1,000 ppm ซึ่งเป็นค่าที่ทำให้ผู้ติดอยู่ในรถรู้สึกอึดอัด เครื่องก็จะทำงานอัตโนมัติ และวิทยาสารพัดช่างอุบลราชธานี ได้ประดิษฐ์เครื่องทำลายกระจกรถยนต์ กรณีรถยนต์ตกน้ำหรือมีผู้ติดอยู่ในรถ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะติดตั้งไว้ในรถ สามารถยิงทำลายกระจกรถยนต์แบบ Tempered เมื่อกระจกถูกทำลายจะแตกตัวแบบเมล็ดข้าวโพด และหากตกน้ำจะมีอุปกรณ์เสริมเพื่อขอความช่วยเหลือ และจะมีสัญญาณแสดงตำแหน่งที่รถจมอยู่ เป็นต้น” รมว.ศธ.กล่าว