เมื่อวันที่ 3 ก.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท). ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม ชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นดำรงตำแหน่งนายกฯ ยืนยันไม่ได้เริ่มนับ 24 ส.ค.57 ว่าทีมกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาก็ต้องสู้ว่าไม่ได้หมดวาระวันที่ 24 ส.ค.65 เขาต้องตั้งธงเช่นนั้น โดยใช้ข้อต่อสู้ทางกฎหมาย ถ้าไม่สู้มุมนี้ถือว่ายอมรับก็จบ เราจึงไม่แปลกใจเป็นกระบวนการต่อสู้ของเขา แต่เมื่อสู้ไปแล้วศาลจะว่าอย่างไรเป็นเรื่องของศาล สิ่งที่เราดำเนินการในขณะนี้คือการขอเพิ่มพยานเป็นนักวิชาการที่ให้ความเห็นสอดคล้องกับคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เป็นการเพิ่มน้ำหนักของคำร้องโดยยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งนายชวนยื่นต่อศาลไปเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นการยื่นตามกระบวนการกฎหมายที่ผู้ร้องสามารถเพิ่มพยานหลักฐานที่มีความจำเป็นได้ โดยความเห็นเหล่านี้ เป็นความเห็นทางวิชาการที่ผู้ให้ความเห็นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เนื่องจากเป็นการเสนอความเห็นต่อสาธารณชนแล้วเราไปรวบรวมมา หวังว่าศาลจะรับฟัง

เมื่อถามว่าการเพิ่มพยานเหล่านี้จะทำให้กระบวนการพิจารณาช้าลงหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่าไม่น่าจะช้าลงเนื่องจากศาลให้ผู้ถูกร้องชี้แจงคำร้องใน 15 วัน ซึ่งทีมกฎหมายของ พล.อ.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงไปวันที่ 1 ก.ย.65 พยานที่เราขอเพิ่มก็ส่งไปวันที่ 2 จึงเชื่อว่าจะไม่กระทบกับเวลาการพิจารณาจนทำให้เกิดความล่าช้า

เมื่อถามว่าคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งวันที่ 24 ส.ค.65 แต่ไม่ได้ตั้งคำถามว่า ความเป็นนายกฯเริ่มนับเมื่อใด กรณีถ้านายกฯ พ้นข้อกล่าวหา จะเป็นปัญหาตามมาว่าจะเริ่มนับการเป็นนายกฯ เมื่อไรอีกหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า คำร้องของเราชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค.65 และพ้นจากการเป็นนายกฯ วันที่ 24 ส.ค.65 โดนชี้ให้เห็นว่าต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 57 และเป็นต่อเนื่องมา

เข้าใจว่าทีมกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 158 มาตรา 159 และมาตรา 272 ในการต่อสู้ ที่บอกว่าการเป็นนายกฯ ต้องมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตราข้างต้นเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญ 60 ในบทเฉพาะการมาตรา 264 เขียนไว้ชัด ว่าให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ นั้นหมายความว่าที่มาของนายกฯให้มาตามมาตรา 264 ส่วนที่ถามว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่พ้นแล้วจะเริ่มนับการเป็นนายกฯ เมื่อไรนั้นประเด็นนี้เราไม่ได้ร้องให้ศาลวินิจฉัย ศาลจะวินิจฉัยว่าพ้นหรือไม่ตามคำร้อง ส่วนประเด็นอื่นต้องขึ้นกับดุลยพินิจของศาลว่าจะวินิจฉัยหรือไม่

ทางนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี ความเคลื่อนไหวของพี่น้อง 2 ป. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกฯ กับ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ว่าประเทศไทยไม่ควรอยู่ในสภาพเหมือนมีนายกฯ พร้อมกัน 2 คน แต่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ นานทีปีหน ประชาชนไม่ค่อยได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากบ้าน ลงพื้นที่ทำงานในวันเสาร์-อาทิตย์ สถานการณ์โควิดก็เป็นนายกฯ เวิร์กฟรอมโฮม ทำงานจากบ้านในค่ายทหารมาแล้ว ถ้าไม่คับขันเข้าตาจน กลัวประชาชนลืม อาจไม่ได้เห็น

พล.อ.ประยุทธ์ พยายามหนักขนาดนี้ นักข่าวไม่มาก็ลงทุนถ่ายภาพส่งแจกให้นักข่าว อำนวยความสะดวกให้เต็มเหนี่ยว เพื่อส่งรูป ขอมีซีน เหมือนคนหิวแสง แต่คนไม่ใช่ทำอะไรก็ผิด ลงพื้นที่ยังถูกชาวบ้านด่า เหตุไม่เปิดกระจกรถทักทายกองเชียร์ จนต้องรีบออกมาขอโทษ อ้างนั่งรถกันกระสุนเลยลดกระจกลงไม่ได้ ทำชาวบ้านย้ายค่าย จากกองเชียร์ เปลี่ยนเป็นกองแช่ง ถ้ามีปัญหามาก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหยุดนั่งรถกันกระสุน แล้วนั่งลงฟังกระแสประชาชน แบบไม่สร้างภาพจัดฉาก จะได้รู้ว่าชาวบ้านอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่งนายกฯมากขนาดไหน

นายอนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า ประชาชนไม่อยากเห็นสภาพการประลองกำลังวัดบารมี ลงพื้นที่ช่วงชิงพื้นที่สื่อ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ พล.อ.ประยุทธ์ พยายามแสดงให้เห็นว่า แม้ถูกสั่งหยุดเป็นนายกฯ แต่ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง รมว.กลาโหม ได้ จนประชาชนเข้าใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ เหมาะเป็น รมว.กลาโหม มากกว่าการเป็นนายกฯ เสียอีก นอกจากคืนรถประจำตำแหน่งควรคืนตำแหน่งนายกฯ ให้กับประชาชน โดยการลาออก 8 ปีนานมากแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพอแล้ว ปล่อยให้ประเทศชาติและประชาชนได้ไปต่อ อย่าอยู่เป็นภาระลูกหลานเลย.