เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และยังเป็น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สมัยรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้โพสต์บทความเรื่อง เงินบาทอ่อนค่า ประวิตร VS ชวลิต เล่าปัญหาค่าเงินบาทช่วงสองยุคสมัย โดย ระบุว่า

สวัสดีวันพฤหัสบดีที่ 22 ก.ย. 2565 ครับ ผมเขียนบทความนี้จากห้องในโรงพยาบาลสมิติเวช กำลังรักษาอาการโควิดอยู่ครับ

ที่ต้องรีบเขียน เพราะไม่อยากให้เกิดกระแสและการเข้าใจผิดเรื่องค่าเงินบาท ที่นายกรักษาการ พล.อ.ประวิตร พูดเมื่อวันประชุม ครม. เมื่ออังคารที่ 20 ก.ย. นี้เอง

ตามข่าวนายก รษก.ประวิตร สั่งแบบบ่น ว่าเงินบาทตกไปเป็นดอลลาร์ละกว่า 37 บาทแล้ว ให้ ก.คลังไปจัดการกับ ธปท. อย่าให้ตกไปเป็น 50 บาท เหมือนสมัยนายกชวลิต

ขอเรียนว่าเหตุการณ์เงินบาทอ่อนค่าวันนั้นกับวันนี้ไม่เหมือนกันครับ

ผมอยู่ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ตอนประกาศลดค่าเงินบาทเมื่อ 2 ก.ค. 2540 (1997) เหตุการณ์ที่นำไปสู่วิกฤติค่าเงินบาทตอนนั้นเพราะเรามีนโยบายค่าเงินคงที่ คือดอลลาร์ละ 25 บาท

เราใช้นโยบายนี้มาก่อนหน้านั้นหลายปี ในขณะที่ดอกเบี้ยของเราสูงกว่าดอกเบี้ยต่างประเทศ จึงมีการกู้ยืมเงินมามาก นโยบายส่งเสริมให้เอกชนใช้เงินทุนจากต่างประเทศ สถาบันการเงินกู้เงินนอกดอกเบี้ยถูก ปล่อยต่อดอกแพง ค่าเงินบาทคงที่ ใครจะไม่ทำ

สมัยรัฐบาลนายกบรรหาร ปี 1996 เจ้าหนี้ต่างชาติเริ่มกังวล ปลายปีเริ่มมีการโจมตีค่าเงินบาท เมื่อรัฐบาล พล.อ.ชวลิต เข้ามารับหน้าที่เดือน พ.ย. 1996 ดร.อำนวย วีรวรรณ เป็นรองนายกฯ และรมว.คลัง เราก็ไปคุยกับ ธปท.ในฐานะกรรมการกองทุนรักษาระดับ ว่าควรเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นลอยตัว แล้วแทรกแซงการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ไม่ให้ขึ้นเร็วลงเร็ว

ผู้บริหาร ธปท. บอกว่าเห็นด้วย แต่จะเลือกเวลาเปลี่ยนระบบเอง พรบ.เรื่องนี้ให้อำนาจ ธปท.ไว้ รัฐบาลเข้าไปสั่งการไม่ได้ ตอนนั้นคุณประจวบ ไชยสาส์น รมว.การต่างประเทศ ในฐานะ กก.กองทุนรักษาระดับ สงสัยว่าจริงหรือ ขอดู พ.ร.บ.ก็พบว่าจริง

ต่อมามีการโจมตีค่าเงินบาทเป็นระยะ ตั้งแต่ ก.พ. 1997 ธปท.ก็ป้องกันตัวโดยใช้ระบบ Swop คือขายสั้น ซื้อยาว พอมาถึงเดือน พ.ค. 1997 สัปดาห์ที่สองการโจมตีหนักสุด มีการทำ Swop สูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ โดยเรามีเงินสำรองอยู่ประมาณ 32,000 ล้านดอลลาร์ แปลว่าถ้าไม่นับเงินซื้อล่วงหน้า เงินสำรองเราเหลือ 7,000 ล้านดอลลาร์

ตอนนั้นเกิดปัญหาการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล คือพรรคชาติพัฒนาโดย พล.อ.ชาติชาย กับพรรคความหวังใหม่โดย พล.อ.ชวลิต มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเศรษฐกิจ มีข่าวเป็นระยะ ยิ่งสร้างโอกาสให้มีการโจมตีค่าเงินบาท ถึงขั้น ดร.อำนวย วีรวรรณ ตัดสินใจลาออกตอนกลางเดือน มิ.ย. 1997 ได้ ดร.ทนง พิทยะ มาเป็น รมว.คลัง แทน

เมื่อการเมืองไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจ โดยที่การโจมตีค่าเงินบาทกำลังเข้มข้น เลยนำไปสู่การตัดสินใจที่รัฐบาลต้องประกาศเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่

ประกาศ 2 ก.ค. 1997 เงินบาทก็เริ่มตก ตกเร็วมาก เป็น 30 บาท 40 บาท คลังขอความช่วยเหลือจาก IMF ได้วงเงินมา 17,200 ล้านดอลลาร์ พล.อ.ชวลิตปรับ ครม. เอาทีมเศรษฐกิจจากพรรคชาติพัฒนาเข้ามา เมื่อปลายเดือน ต.ค. 2 สัปดาห์ พล.อ.ชวลิต ลาออก คาดว่า พล.อ. ชาติชาย พรรคชาติพัฒนา จะมาเป็นแกนนำรัฐบาล

แต่พรรคประชาธิปัตย์เก่งกว่า ไปขอ ส.ส.จากพรรคประชากรไทย มาร่วมลงคะแนนให้คุณชวนเป็นนายกฯ ได้มา 8 คน โดยสัญญาจะให้ตำแหน่งทางการเมือง 6 ตำแหน่ง เกิดวลีเด็ดจากคุณสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย เรียก ส.ส. 8 คนนั้นว่า “ส.ส. งูเห่า”

คือคุณสมัครเหมือนเป็นชาวนา ดูแล ส.ส.เหล่านั้นอย่างดี ถึงเวลาตัวเองจะได้ประโยชน์ กลับทรยศต่อท่าน ส.ส.งูเห่า คือ ส.ส.แปรพรรค เป็นคำที่ใช้อยู่จนทุกวันนี้

พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายกชวน ได้จัดตั้งรัฐบาลปลายปี 1997 ค่าเงินบาทยังตกอยู่ ทะลุ 50 บาทไปเมื่อ ม.ค. 1998 แล้วจึงค่อยๆ คืนค่ามาเป็น 40 บาท 30 กว่าบาทต่อดอลลาร์ เศรษฐกิจดีขึ้นเป็นลำดับ เพราะเงินบาทอ่อนช่วยการส่งออกและการท่องเที่ยว จนถึงรัฐบาลนายกทักษิณ เศรษฐกิจดีพอ ไทยใช้เงินคืน IMF ได้หมด

ชัดเจนว่าค่าเงินบาทอ่อนวันนั้นไม่เหมือนวันนี้ วันนั้นเรามีระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ อัตราดอกเบี้ยสูงเพราะเงินออมไม่พอ ต้องพึ่งเงินกู้จากต่างประเทศมาก ค่าเงินบาทจึงต้องตก และตกมากเพราะ ธปท. เปลี่ยนระบบแลกเปลี่ยนเงินตราไม่ทัน

วันนี้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเราลอยตัว ขึ้นลงได้ แต่ไม่ให้เปลี่ยนเร็ว ที่อ่อนค่าเพราะ US ดอลลาร์ขึ้นเมื่อเทียบกับเงินทุกสกุลของโลก เพราะโลกวุ่นวาย ทรัพย์สินก็เลยไหลไปสู่ทรัพย์สินสกุลดอลล่าร์ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายเราต่ำ ต่ำกว่าของ US ประมาณ 2-2.5 % เทียบกับ Fed ที่ปรับขึ้นเป็น 3-3.25 % เมื่อวานนี้ เราจะขึ้นดอกเบี้ยมากก็ไม่ได้ เพราะหนี้ครัวเรือนของเราสูงมาก จึงเห็นว่า ธปท.ค่อยๆขยับดอกเบี้ยนโยบายไปพร้อมกันกับใช้เงินสำรองส่วนหนึ่งมาพยุงค่าเงิน ไม่ให้ลงเร็วเกินไป โดยเปรียบเทียบเงินสำรองเราสูง มีอยู่กว่า 240 แสนล้านดอลลาร์ หนี้ต่างประเทศก็น้อย ถ้าดูตลาดเงิน ตลาดทุน การทำธุรกรรมต่างๆเป็นปกติ มีทั้งเงินไหลเข้า ไหลออก ตลาดพันธบัตรก็แข็งแรง และ ธปท.คงปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกเร็ว ๆ นี้

ผมจึงคิดว่าสถานการณ์ตลาดเงิน ตลาดทุนตอนนี้ปกติดี หวังเพียงแต่ว่าการเมืองจะไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวันที่ 30 ก.ย. ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะแถลงผลการวินัจฉัยเรื่องนายก 8 ปี ซึ่งคงสร้างความไม่พอใจให้ผู้คนจำนวนหนึ่ง และตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลขนาดใหญ่ ก็กำลังแข่งบารมีกัน เหมือนสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ด้วย.

สวัสดีครับ