กลายเป็นยุคที่สังคมเต็มไปด้วยอบายมุข สถานบันเทิงผิดกฎหมาย บ่อน ส่วย ยาเสพติด ยังคงเป็นปัญหาเกลื่อนเมือง ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังร้อนระอุ!

แม้จะอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล แต่ก็ยังมีสัญญาณความไม่ลงรอยกันให้เห็นได้ชัด จากกรณี 2 ลุงแข่งกันวัดบารมี ตีตั๋วนั่ง “นายกฯคนละครึ่ง” ตามแนวทาง “หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม” ที่ถูกเปิดประเด็นโดย รงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่ยืนยันว่าการที่ “บิ๊กตู่” สามารถเป็นนายกฯ ได้อีกประมาณ 2 ปี ไม่เป็นปัญหา เพราะสามารถให้ “บิ๊กป้อม” เป็นนายกฯ ต่อได้

แต่โมเดล “นายกฯ คนละครึ่ง” ต้องเจอกระแสตีกลับจากคนในพรรคพลังประชารัฐไม่น้อย และยังสวนทางกับปัญหารอยร้าวระหว่าง “พี่ใหญ่-น้องเล็ก” ที่ยังคงเคลียร์กันไม่ลงตัว จนตอนนี้แต่ละฝ่ายต่างเดินเกมใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว งดจ้อสื่อกันพักใหญ่

ส่วนสถานการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐ ก็เล่นเอาหลายต่อหลายคนนั่งไม่ติด เพราะเหลือเวลาอีกไม่นานก็จะถึงวันครบวาระสภาแล้ว แต่ทิศทางของพรรคยังไม่ชัดเจน จนทำให้ตอนนี้ “บิ๊กตู่” ต้องถูกบีบให้ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร เพราะหากตัดสินใจทิ้งพลังประชารัฐ ไปหานั่งร้านอำนาจใหม่ พรรคพลังประชารัฐก็คงไร้จุดขายในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ขณะที่ “บิ๊กตู่” เองก็จะเสี่ยงตายคาสนามการเมืองเช่นกัน หากพรรคที่เป็นนั่งร้านอำนาจแห่งใหม่มีจำนวน ส.ส. ไม่มากพอที่จะเสนอชื่อชิงเก้าอี้นายกฯ หลังการเลือกตั้ง

ทั้งนี้หาก “พี่ใหญ่-น้องเล็ก” ยังจับมือกันกลมเกลียว ภายใต้แบรนด์พลังประชารัฐ ก็จะยังสามารถดึง ส.ส. ก๊วนต่างๆ ภายในพรรค ให้ยังอยู่ร่วมกันสู้ศึกเลือกตั้งได้ ซึ่งภายใต้บริบทการเมืองปัจจุบัน “พี่ป้อม-น้องตู่” คงจะต้องเดินคู่กัน หากแยกกันก็อาจจะตายทั้งคู่ เพราะต่างคนต่างมีบารมีคนละอย่าง มีจุดเด่นคนละด้าน

โดย “บิ๊กตู่” ยังถือเป็น “จุดขาย” ในการสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ สะท้อนจากผลสำรวจนิด้าโพลเรื่อง “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคนภาคใต้” ที่ชี้ชัดว่า “บิ๊กตู่” ยังเป็นเบอร์หนึ่ง ที่คนใต้ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน และยังทิ้งห่างแคนดิเดตนายกฯ คนอื่นๆ เกือบเท่าตัว ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ก็ได้รับการยอมรับจากพรรคการเมืองทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน มากกว่า “บิ๊กตู่” เพราะเป็นคนพูดง่ายกว่า คุยอะไรลงตัวกว่า

นอกจากนั้น ก็ยังมีเรื่องให้ต้องลุ้นกันอีกขยัก เพราะเข้าข่ายส่อโดนร้องยุบพรรค! จากกรณีนายทุนจีนที่ได้รับสัญชาติไทย เชื่อมโยงกับผับดังย่านยานาวา ที่เป็นแหล่งมั่วสุมปาร์ตี้ยาเสพติด ซึ่งมีชื่อเป็นผู้บริจาคเงินให้กับพรรคพลังประชารัฐจำนวน 3 ล้านบาท เมื่อปี 2564 ดังนั้นต้องรอดูกันว่า ปลายทางของเรื่องนี้ จะทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องสะดุด ก่อนสู้ศึกเลือกตั้งหรือไม่

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเอง ก็ออกอาการ “แบะท่า” ประกาศพร้อมจับมือพรรคพลังประชารัฐ แต่มีข้อแม้ไม่เอา “บิ๊กตู่” ซึ่งหากโมเดลนี้เกิดขึ้นจริง พรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ ก็สามารถจับมือจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่ยาก เพราะนอกจากจะมีเสียง ส.ส. เกินครึ่งแล้ว ยังอาจจะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อีกจำนวนหนึ่งในสายของ “บิ๊กป้อม” แต่ปรากฏว่าเมื่อโยนโมเดลดังกล่าวออกมา กลับทำเอาบรรดาแฟนคลับไม่ปลื้ม จนต้องใส่เกียร์ถอย โดยแก้เกี้ยวว่ารอดูแต้มกันอีกครั้งหลังเลือกตั้ง

ส่วนตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ที่ผ่านมามีการโยนชื่อ เศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจเจ้าพ่ออสังหาฯ ขึ้นมาเช็กเรตติ้งการเมือง ซึ่งก็ช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคดีขึ้น ด้วยมุมของการเป็นนักธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จ แต่หากท้ายที่สุดแล้ว พรรคเพื่อไทยสามารถทำแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งได้สำเร็จ ตัวเต็งที่จะก้าวขึ้นมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็คงหนีไม่พ้น “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เพราะที่ผ่านมา ทักษิณ ชินวัตร ท่องคาถามาโดยตลอดว่า อยากกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน ดังนั้นถึงที่สุดแล้วคงจะเลือกเชื่อมั่นเลือดในอก มากกว่านักธุรกิจคนนอก ทั้งนี้หากจะว่าไปแล้ว การจะเลือก “อุ๊งอิ๊ง” เป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ไม่ขี้เหร่ เพราะหากเทียบฟอร์มกับ “ปู-ยิ่งลักษณ์” แล้ว “อุ๊งอิ๊ง” ไม่ได้มีอะไรน้อยหน้าเลย

ตอนนี้ทุกอย่างกำลังเข้าสู่จุดดราม่าทางการเมือง แต่ละพรรคต่างโชว์นโยบายออกมาเรียกเรตติ้ง กระชับเสียงแฟนคลับกันยกใหญ่ ทั้งพรรคก้าวไกล ที่ชัดเจนในแนวทาง โดยชูนโยบายแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 พรรคภูมิใจไทย ที่ยังคงเดินหน้านโยบายกัญชาเสรี พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังชูจุดขายนโยบายประกันรายได้ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็ถือเป็นการเรียกกระแสก่อนการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่พรรคการเมืองต่างๆ ควรจะต้องคำนึงถึงคือ การคิดนโยบายที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นสำคัญ มากกว่าจะนำเสนอโครงการประชานิยมเพียงด้านเดียว ซึ่งอาจจะทำให้ความล่มจมกลับมาซ้ำเติมประเทศในอนาคตได้

ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองเล็กที่น่าสนใจ คือความพยายามรวมตัวกันสู้ศึกเลือกตั้ง โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นความเคลื่อนไหวของพรรคไทยสร้างไทย และพรรคสร้างอนาคตไทย ที่มีดีลจ่อรวมตัวกัน แต่ก็ต้องเป็นอันสะดุด แม้ตั้งต้น พรรคสร้างอนาคตไทยจะเป็นฝ่ายเปิดดีลกับพรรคไทยสร้างไทย เตรียมตกล่องปล่องชิ้น แต่กลับเกิดอาการงัดข้อระหว่าง สุรนันทน์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย กับ “ผู้พันปุ่น” ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย หลังจากมีการออกมาให้สัมภาษณ์วางเงื่อนไขรวมพรรคต้องเคลียร์อุดมการณ์ให้ชัด จนกลายเป็นประเด็นตอบโต้กันไปมาระหว่างแกนนำคนสำคัญของทั้ง 2 พรรค จนเกิดการเคลียร์ไม่ลงตัว ดังนั้นตอนนี้จึงอยู่ที่พรรคสร้างอนาคตไทย ต้องกลับไปกวาดบ้านตัวเองก่อน เพื่อให้ชัดเจนว่า จุดยืนที่แท้จริงคือการทำเพื่อใครกันแน่ จากนั้นถึงจะเดินหน้ารวมกันสู้ศึกเลือกตั้งต่อไปได้

ทั้งนี้หากโมเดลรวมพรรคของ พรรคสร้างอนาคตไทย และพรรคไทยสร้างไทย เกิดขึ้นได้จริง ก็จะกลายเป็นตัวเลือกใหม่ในเวทีการเลือกตั้งครั้งหน้า ถึงแม้ตัวบุคคลจะเก่า แต่ก็ถือเป็นการรวมตัวที่สอดประสานกันได้ลงตัว เพราะ “หญิงหน่อย”คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย มีฐานเสียง “แดงอ่อน” อยู่ในกำมือ และมีเสียงสนับสนุนจากคนอีสานพอสมควร พร้อมโยนนโยบายบำนาญผู้สูงอายุ เดือนละ 3,000 บาท ซึ่งสามารถรวมฐานเสียงจากระดับรากหญ้าได้ระดับหนึ่ง ขณะที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย ถือเป็นแม่เหล็กสำหรับฐานเสียงระดับบนได้ไม่ยาก ดังนั้นหากทั้ง 2 พรรค สามารถจับมือกันได้ ก็จะกลายเป็นพรรคตัวเลือกใหม่อีกพรรคหนึ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

สถานการณ์การเมืองตอนนี้เป็นช่วงใกล้เปิดสภา ซึ่งเราก็จะเห็นถึงสัญญาณ “เกมร้อนในสภา” ที่อาจจะทำให้กระทบกับเสถียรภาพรัฐบาล คือการปีนเกลียวทางการเมือง ที่มาจากปัญหารอยร้าวระหว่าง “พี่น้อง 3 ป.” แล้ว และยังมีความเสี่ยงจากปัญหารอยร้าวในพรรคร่วม จากปมปัญหาเรื่องกัญชาเสรี ที่ยังกินแหนงแคลงใจกันระหว่างพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ มาจนถึงปัจจุบัน และเสี่ยงจะกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งเมื่อร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง จ่อเข้าสู่การพิจารณาในสภาอีกครั้ง

นอกจากนั้นยังมีประเด็นร้อนที่มีแววจะกลายเป็นผลกระทบต่อรัฐบาล หากชี้แจงทำความเข้าใจไม่ดี คือกรณี ร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ที่มีการให้สิทธิคนต่างชาติ 4 กลุ่ม ถือครองที่ดิน เพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ ภายใต้เงื่อนไขต้องมีจำนวนเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี ทั้งนี้หากท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้ถูกตีตราว่าเป็น “กฎหมายขายชาติ” ก็จะทำให้โอกาสที่รัฐบาลจะอยู่ครบวาระมีความเป็นไปได้น้อยลง และเร่งเกมยุบสภาให้เกิดเร็วขึ้น

ปิดท้ายกันด้วย “เกมฟัดรุ่นใหญ่” จากกรณี ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เข้าพบพนักงานอัยการส่งตัวฟ้องศาล เพื่อสู้คดีความผิดหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา จากการพูดถึงกระบวนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ยุครัฐบาลทักษิณ จนกลายเป็นการจุดประเด็น “กรือเซะ-ตากใบ” ให้กลับกลายเป็นประเด็นร้อนแรงอีกระรอก ที่สร้างผลทางลบต่อ ทักษิณ โดยตรง ทำเอาคนแดนไกลต้องโยนเผือกร้อนไปที่ “บิ๊กป้อม” อีกทอดหนึ่ง ในฐานะ ผบ.ทบ. ณ ขณะนั้น

ดังนั้นคงจะต้องรอจับตากันต่อไปว่า ปมร้อน “กรือเซะ-ตากใบ” ที่ปะทุขึ้นอีกระลอก จะสร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองในทิศทางไหน ใครจะได้ใครจะเสียมากกว่ากัน.