เมื่อวันที่ 30 ต.ค. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีที่ก่อนหน้านี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเตรียมพิจารณาระงับ “โครงการปืนสวัสดิการตำรวจ” อย่างไม่มีกำหนด หลังพบข้าราชการบางหน่วยนำใบ ป.3 ไปวนซื้อปืนมาจำหน่ายนอกระบบ และทางออนไลน์ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มตำรวจชั้นผู้น้อย ว่า ทาง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้แต่งตั้งตนเป็นหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขเรื่องอาวุธปืนของหลวง เนื่องจากพบปัญหามีอาวุธปืนถูกขโมยไปและนำไปจำหน่าย

โดยแนวทางเบื้องต้นได้นำต้นแบบการตรวจเช็กสต็อก หรือเช็กจำนวนอาวุธปืนของหน่วยปฏิบัติการพิเศษหรือคอมมานโดมาใช้ ซึ่งใช้คิวอาร์โค้ดหรือบาร์โค้ดที่ติดไว้ที่อาวุธปืนมาใช้ในการนับจำนวน เพราะจะง่ายต่อการตรวจสอบ และง่ายต่อเจ้าหน้าที่งานธุรการถึงเวลาก็นำอุปกรณ์หรือมือถือมาสแกนก็จะเข้าไปที่แอพพลิเคชั่นที่ได้จัดทำไว้ โดยตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องเร่งดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ในกองทัพสหรัฐอเมริกาก็ได้มีการนำมาใช้เรียกว่า สติกเกอร์มิลิเทอรรี่เกรด หรือแม้แต่การเช็กสต๊อกอะไหล่เครื่องบินก็ใช้ระบบนี้

โดยในคิวอาร์โค้ดดังกล่าว จะระบุรุ่น, ซีรีส์อะไร เข้ามาประจำการณ์ในสารระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อไหร่ ใครเบิกใช้-คืนเมื่อไหร่ ซึ่งในส่วนนี้จะมีระบุง่ายต่อการติดตาม อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งจากการที่ตนไปตรวจราชการในพื้นที่ต่างๆ และพบคืออาวุธปืนค่อนข้างเก่า และเป็นภาระให้จ่ากองที่คุมอาวุธเต็มคลังไปหมด ขณะเดียวกันอาวุธปืนใหม่ก็ไม่ได้เบิก อาทิ ปืนเอ็มโฟร์ยังอยู่ในถุงในกล่องอยู่ อย่างไรก็ดี อยากให้เข้าใจว่าการจัดทำโครงการปืนสวัสดิการตำรวจ เพราะตอนนั้นเราไม่มีปืนให้ตำรวจชั้นผู้น้อยได้ใช้ ไม่สามารถที่จะแจกจ่ายให้กับตำรวจมาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่จากดำเนินโครงการมา 2-3 ปี มีการจัดหาปืนมาให้ตำรวจมาใช้ในการปฏิบัติงาน

สิ่งสำคัญ จะทำอย่างไรให้ข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยเบิกปืนหลวงมาใช้ในการปฏิบัติงาน ส่วนตัวตนนั้นใช้ปืนหลวงในการปฏิบัติงาน ทั้งการซ้อมการยิง ตลอดจนการถวายอารักขา ถวายความปลอดภัย โดยเหตุที่ปืนผ่านการทดสอบมาทดสอบมาแล้ว ก่อนที่จะมีการจัดซื้อ ซึ่งปัจจุบันมีสองยี่ห้อขนาด 9 มม. เหมือนกัน ถามว่าทำไมต้องเป็นขนาด 9 มม. เพราะในต่างประเทศมีการทำวิจัยเวลาสายตรวจออกปฏิบัติหน้าที่ หากประสบเหตุแล้วกระสุนหมดสามารถที่จะหยิบยืมจากคู่บัดดี้ได้ ง่ายต่อการช่วยเหลือกัน ซึ่งในสหรัฐอเมริกาใช้ปืนชนิดเดียวกันยี่ห้อเดียวกัน ผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการระดับชาติและส่งผ่านมายังกองทัพหรือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเข้าใจว่าสิ่งที่ตำรวจไม่อยากเบิกปืนหลวงมาใช้เพราะระเบียบต่างๆ ค่อนข้างยุ่งยาก ทำให้ตัวตำรวจก็ไม่อยากนำมาใช้ เกิดช่องว่างปืนอยู่ในคลังถูกนำไปขายแปรสภาพ ซึ่งเรื่องนี้ทาง ผบ.ตร. ตั้งตนขึ้นมาเพื่อที่แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง รวมทั้งระเบียบต่างๆ เพื่อที่ให้เด็กกล้าใช้ปืนหลวงมากขึ้น

แนวทางใหม่ในอนาคตตำรวจชั้นผู้น้อยสามารถเบิกปืนจากคลังได้เลย โดยที่ระเบียบไม่ยุ่งยาก แค่สแกนคิวอาร์โค้ดลงในระบบ จากนั้นก็นำมาคืนตามกรอบเวลาอาจจะ 15 วัน หรือ 30 วัน แต่อาวุธปืนคุณต้องอยู่ นอกจากนี้ในรูปแบบของการให้ยืม อาวุธปืนแต่ละประเภทมีอายุการใช้งาน แต่ละปีมีรุ่นใหม่ๆ เข้ามา โดยในกรณีที่ปืนหลวงหมดสภาพตามเวลา ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะทำจำหน่ายในราคาที่ถูก ตามค่าเสื่อมสภาพ ตามความเหมาะสม และเอารุ่นใหม่เข้ามา ซึ่งใครจะมีสิทธิซื้อก็ตำรวจได้มีโอกาสซื้อในราคาสวัสดิการ แต่ไม่ทำโครงการปืนสวัสดิการ เพราะปัญหาที่ผ่านมาคือข้าราชการบางหน่วยนำใบ ป.3 ไปวนซื้อปืนมาจำหน่ายนอกระบบ และทางออนไลน์ โดยไม่ไปออกใบป.4 ซึ่งตรงนี้เรากำลังตรวจสอบ โดยข้อมูลตรงนี้ต้องขอบคุณทาง พล.ต.อ.สุชาติ ธีรสวัสดิ์ อดีตรอง ผบ.ตร. ได้ให้ข้อมูลไว้ถึงทราบแผนประทุษกรรมนี้ โดยหลังจากนี้ทางคณะกรรมการจะต้องมาพิจารณาและปิดช่องโหว่ของปืนสวัสดิการทั้งหมด โดยอาจจะขยายเวลาการครอบครองจาก 5 ปีโอนได้ เป็น 15 ปีโอนได้ หรืออาจจะไม่ให้โอนตลอดชีวิต เพื่อที่กันเอาปืนสวัสดิการไปขาย ทำนองซื้อถูกขายแพง รวมทั้งเรื่องของการปรับระเบียบการเบิกอาวุธปืน, การชดใช้สิ่งของหลวง, การตั้งกรรมการเวลาปืนชำรุดเสียหาย ทั้งหมดนี้เพื่อให้ข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยมีโอกาสและได้ใช้ปืนที่ดี เพราะปืนในคลังของเราดีมีคุณภาพไม่อยากให้ปืนคงคลัง รวมทั้งมีการสร้างเครื่องโหลดกระสุนไว้ อีกหน่อยตำรวจทุกคนสามารถซ้อมปืนได้เพื่อให้เกิดความคุ้นชิน

ในส่วนกรณีที่หลายคนเป็นห่วงว่าหากยกเลิกโครงการปืนสวัสดิการตำรวจ จะกระทบกับตำรวจที่จบใหม่ในการจัดหาอาวุธปืน ต้องซื้อปืนในราคาแพงขึ้น ในส่วนนี้ชี้แจงตั้งคำถามว่า ตำรวจชั้นผู้น้อยจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อปืนในราคาที่แพง ปืนสวัสดิการที่จัดเตรียมมาให้ถือเป็นสิ่งดีที่ไม่ผลักภาระ ซึ่งการจัดระบบครั้วนี้ไม่เป็นการสร้างภาระให้ตำรวจชั้นผู้น้อย เวลาปฏิบัติหน้าที่ก็มาเบิกปืนหลวงไปใช้ก็เหมือนเบิกไปประจำกาย เพราะตำรวจบ้านเราทำงาน 24 ชม. แต่ทุกๆ 15 วัน เวลานับจำนวนต้องมีมาแสดง อย่างไรก็ตาม หากโครงการนี้เป็นรูปร่างอนาคตหากมีการจัดซื้อปืนจะมีการยิงเลเซอร์ในตัวปืนจากโรงงานเลยเพื่อป้องกันการขูดลบ และเวลาปืนตกไปอยู่นอกระบบก็จะได้ทราบ และผู้ที่ได้ครอบครองก็อาจจะเข้าข่ายรับของโจรทำให้ไม่มีใครอยากได้

จากนี้การครอบครองปืนที่เป็นปืนส่วนตัวในโครงการปืนสวัสดิการต้องทำให้รัดกุม ปัญหาตอนนี้ที่พบคือการเวียนใบ ป.3 และการครอบครองอาวุธปืน 5 ปีแล้วขายเลย เช่น ซื้อปืนสวัสดิการ 2 หมื่น แต่ปืนอยู่กับบุคคลอื่นแต่คุณสลักหลังทิ้งไว้พอ 5 ปีถึงโอน ซึ่งตรงนี้ต้องมากำหนดแนวทางการครอบครอง อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า แนวทางนี้จะไม่กระทบในส่วนขวัญกำลังใจของผู้ใต้บังคับบัญชารวมถึงผู้ปฏิบัติงาน ที่ผ่านมา ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการจัดหาอาวุธปืนยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมาให้กับกำลังพล ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นการป้องปรามตัดช่องโอกาสไม่ให้มีผู้แสวงหาประโยชน์จากปืนสวัสดิการ และตัดช่องโอกาสไม่ให้เกิดปัญหาปืนหลวงหาย.