‘บรูซ ลี’ ตำนานนักบู๊ชาวเอเชียบนแผ่นฟิล์มเสียชีวิตไปเกือบ 50 ปีแล้ว เขาเสียชีวิตอย่างกะทันหัน เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2516 ในฮ่องกง โดยมีการประกาศสาเหตุการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการว่า เนื่องมาจากภาวะสมองบวม ซึ่งหมายถึงการมีของเหลวสะสมในสมองมากเกินไป ทำให้สมองบวมและเพิ่มความดันในกะโหลกศีรษะ 

แต่ไม่นานมานี้ มีการเผยแพร่ผลวิจัยฉบับใหม่ที่เสนอแนวคิดว่า บรูซ ลี อาจเสียชีวิตเนื่องจากมีภาวะไตล้มเหลวในการขับน้ำส่วนเกิน การวิจัยนำทีมโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญโรคไตในประเทศสเปน และผลการวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Kidney Journal ฉบับประจำเดือน ธ.ค. 2565 

ผู้เขียนรายงานวิจัยยืนยันว่า บรูซ ลี ซึ่งมีอายุได้ 32 ปี ตอนที่เขาเสียชีวิต อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะมีปริมาณโซเดียมในเลือดต่ำกว่าปกติ โดยอ้างอิงจากพฤติกรรมการดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มบ่อยครั้ง การใช้กัญชา (ซึ่งเป็นการเพิ่มความกระหายน้ำ) รวมทั้งมีปัจจัยอีกหลายประการที่รบกวนการทำงานของไตของเขา เช่น การใช้ยาที่เข้าข่ายยาเสพติด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีประวัติการได้รับบาดเจ็บของอวัยวะหลายส่วน ซึ่งทำให้เขาต้องรับประทานยาแก้ปวดและลดความเครียด เช่น แอสไพริน และ เมโปรบาเมต

ทีมวิจัยตั้งสมมุติฐานว่า บรูซ ลี เสียชีวิตเนื่องจากภาวะไตล้มเหลว โดยไม่สามารถกำจัดน้ำหรือของเหลวส่วนเกินออกไป เพื่อรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย และสรุปว่า ภาวะดังกล่าวทำให้เขามีระดับโซเดียมในเลือดต่ำกว่าปกติ นำไปสู่ภาวะสมองบวม และเสียชีวิตในที่สุด ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ถ้าหากปริมาณของน้ำที่ร่างกายรับเข้าไปและขับออกมาทางปัสสาวะไม่สมดุลกัน 

รายงานยังระบุอีกว่า ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำนั้น พบได้บ่อย คิดเป็นจำนวนราว 40% ของผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาล และการดื่มน้ำมากเกินไป อาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ แม้ว่าผู้ป่วยจะยังอายุน้อยและมีสุขภาพแข็งแรง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้ตระหนักรู้ว่า การดื่มน้ำมากเกินความจำเป็น ก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ บรูซ ลี ได้กลายเป็นประเด็นของการวิพากษ์วิจารณ์และทำให้เกิดการสันนิษฐานคาดเดาต่าง ๆ นานามาหลายทศวรรษ รวมถึงการตั้งทฤษฎีจากแฟนคลับส่วนหนึ่งว่า เป็นการฆาตกรรมหรือลอบสังหารดาราผู้เป็นตำนาน 

ในหนังสือ ‘Bruce Lee: A Life’ ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2561 สรุปว่า เขาเสียชีวิตเพราะโรคเพลียความร้อน ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้น เนื่องจากร่างกายอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงตลอดเวลา หรือเกิดจากการออกกำลังกายอย่างหนัก จนทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส และนำไปสู่ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่

แต่ทีมวิจัยชี้ว่า ไม่พบข้อมูลว่า ในวันที่เขาเสียชีวิตนั้น มีอุณหภูมิสูงเป็นพิเศษ ผลจากการวิจัยยังระบุว่า แม้ว่า บรูซ ลี จะไม่ได้ดื่มน้ำในปริมาณมาก แต่ระบบไตของเขามีแนวโน้มที่จะล้มเหลว แม้ร่างกายจะได้รับของเหลวในปริมาณเพียงน้อยนิด นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่า ณ เวลานั้น เขากำลังอยู่ในระหว่างคุมอาหาร โดยจะรับประทานแต่ผลไม้เป็นส่วนใหญ่

แหล่งข่าว : variety.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES