ทีมข่าวเดลินิวส์ ยังคงเกาะติดขยายผลการลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ หลังเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และตำรวจ ปทส. ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาลักลอบนำลูกเสือโคร่ง 4 ตัว มาขายในพื้นที่ จ.มุกดาหาร โดยให้การอ้างว่านำลูกเสือโคร่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่ามุกดาหาร หรือไซเตส (CITES) ได้ประสานงานกับ หัวหน้ากองกวดกาป่าไม้ สัตว์น้ำ สัตว์ป่าและของดง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว มาร่วมหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลขยายผลจับกุมขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ หลังจากร่วมกันจับกุม นายถนัด วงศ์สาร และตรวจยึดลูกเสือโคร่งของกลาง จำนวน 4 ตัว ได้เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา ดำเนินคดีข้อหากระทำความผิด พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ฐานมีไว้ในครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และนำเข้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยลักลอบขนย้ายลูกเสือโคร่งข้ามทางช่องพรมแดนธรรมชาติ

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 22 พ.ย. ที่สำนักงานด่านตรวจสัตว์ป่ามุกดาหาร ต.บางทรายใหญ่ อ.เมือง จ.มุกดาหาร นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) นายสถิตย์ พิสัยสวัสดิ์ หัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่ามุกดาหาร ท่านบัวพัน บุนวิไล หัวหน้ากองกวดกาป่าไม้ ท่านสุนทอน เทบปันยา รองหัวหน้ากองคุ้มครองอนุลักป่าฯ นางเพ็ดมะนี จันไชยะวง หัวหน้าขะแนงป่าไม้ ท่านสีเมือง สีหาลาด หัวหน้ากวดกาภาษี และท่านพูวง ไชยะวง หัวหน้าสิ่งแวดล้อมแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว พร้อมด้วย พ.ต.ท.ธีระวัฒน์ ทิพธนาวิวัฒ รอง ผกก.ตม.มุกดาหาร พ.ต.ท.อุดร ชาวแขก สารวัตร ตม.มุกดาหาร ร.ต.ต.สุชาติ พาโคกทม รองสารวัตร (กก.3 ปทส.) นายนพปฎล ศิริขันธ์ หัวหน้าปราบปราม ด่านศุลกากรมุกดาหาร และหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้ง 2 ประเทศ ได้ร่วมประชุม เพื่อประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ระหว่างประเทศไทย (มุกดาหาร) และ สปป.ลาว (สะหวันนะเขต) กรณีการจับกุมค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ

จากการสืบสวนขยายผลยังทำให้ทราบด้วยว่า ก่อนวันเกิดเหตุ นายถนัด ผู้ต้องหา ได้เดินทางเข้าไปยังแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ผ่านช่องทางด่านพรมแดนมุกดาหาร-สะหวันนะเขต พร้อมกับเพื่อนชาวไทย 1 คน เพื่อไปติดต่อชื้อลูกเสือโคร่ง จากนั้นนายถนัด เดินทางกลับช่องทางเดียวกัน ในวันที่ 14 พ.ย. 65 เข้ามาเพียงคนเดียว หลังถูกจับกุมให้การสารภาพอ้างว่า ได้ไปติดต่อซื้อลูกเสือโคร่ง ในแขวงสะหวันนะเขต ห่างจากด่านพรมแดนไทย ประมาณ 7 กม. จากการตรวจโทรศัพท์มือถือของนายถนัด ยังพบคลิปวิดีโอในมือถือ บันทึกภาพการเลี้ยงลูกเสือโคร่งอีกจำนวนหลายตัว ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ไทย และ สปป.ลาว จึงต้องมาร่วมกันหารือขยายผลจับกุมขบวนการค้าเสือโคร่งข้ามชาติ

นายชัยวัฒน์ ผอ.สบอ.9 (อุบลฯ) เปิดเผยว่า ได้นำทีมและคณะ 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งของไทย และ สปป.ลาว มาร่วมประสานข้อมูลแลกเปลี่ยนกันไม่ได้นิ่งนอนใจ เพื่อที่จะช่วยกันปราบปราม ขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติทั้ง 2 ประเทศ ปัจจุบันทาง สปป.ลาว เองก็ได้กวดขันในเรื่องนี้อยู่แล้วโดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงเสือโคร่ง เนื่องจากในธรรมชาติไม่มีเสือโคร่งแล้ว เมื่อได้พูดคุยจึงทราบว่า เสือโคร่งส่วนหนึ่งข้ามมาจากประเทศไทยในช่องทางธรรมชาติ นำไปพักพิงที่ฝั่งสะหวันนะเขต ขณะนี้ได้ส่งหลักฐานต่างๆ จากกล้องวงจรปิด เป้าหมาย ที่พักของขบวนการค้าสัตว์ป่าให้ทาง สปป.ลาว ไปหมดแล้ว เพื่อนำไปสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม

ผอ.สบอ.9 (อุบลฯ) กล่าวต่อว่า วันนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดีทั้ง 2 ประเทศ จะได้ร่วมมือกันปราบปรามเรื่องการค้าไม้ และการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นไม้พะยูง ไม้มีค่าต่าง ๆ และเสือโคร่ง และได้คุยในที่ประชุมว่า ถ้าทาง สปป.ลาว ตรวจสอบพบแล้วก็แจ้งทางเราโดยด่วน ทางเราได้ตรวจดีเอ็นเอของลูกเสือโคร่งเอาไว้แล้ว ขณะนี้ทราบว่า มีแหล่งเพาะเลี้ยงเสือโคร่งอยู่ฝั่งไทย จึงได้ไปสุ่มตรวจดีเอ็นเอเสือโคร่งไว้แล้วบางส่วน ถ้าตรวจพบว่าแหล่งใดเกี่ยวโยงกับขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ก็จะจับดำเนินคดี ขณะนี้สืบทราบมาว่า ยังมีลูกเสือโคร่งที่อยู่ทางฝั่ง สปป.ลาว จำนวนมากถึง 20-30 ตัว ส่วนจะมีเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองเข้าไปมีส่วนรู้เห็นนั้น ในหลักการยังต้องไล่เรียงสาวไปให้ถึง “ผู้บงการ” ที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจมืดขบวนการค้าสัตว์ป่า ด้าน ท่านสุนทอน รองหัวหน้ากองคุ้มครองอนุลักป่าฯ กล่าวว่า ได้นำทีมงานจากแขวงสะหวันนะเขต มาประชุมกับทีมงานไซเตส ประเทศไทย ได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับลูกเสือโคร่ง 4 ตัว จึงขอแจ้งให้ทราบว่า ทาง สปป.ลาว แขวงสะหวันนะเขต ไม่มีฟาร์มเสือโคร่ง ไม่ได้เลี้ยงเสือโคร่ง กระทั่งแลกเปลี่ยนข้อมูลความจริงแล้วทำให้ทราบว่า ลูกเสือโคร่งมาจากไทย ลักลอบนำไปพักพิงที่แขวงสะหวันนะเขต โดยมีชาวต่างชาติมารับซื้อ เพื่อนำไปเป็นอาหาร เป็นยาสมุนไพร กินเป็นยาอายุวัฒนะ นอกจากนี้ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่า ลูกเสือโคร่งไม่ได้มีแค่ 4 ตัว แต่มีมากกว่า 20-30 ตัว ฉะนั้นทางเจ้าหน้าที่สะหวันนะเขต จะได้กลับไปติดตามปัจจุบันลูกเสือได้เคลื่อนย้ายไปไหน พร้อมจะได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงได้รับทราบ ดำเนินการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามขั้นตอนของกฎหมาย

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชานี) ยังได้ข้อมูลผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าเสือโคร่งให้กับทาง สปป.ลาว เป็นชาวไทย 1 คน และชาวต่างชาติอีก 1 คน เพื่อเร่งติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีและขยายผลไปถึงขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นขบวนการใหญ่ ดูได้จากมีลูกเสือโคร่งจำนวนมาก ที่กำลังดูแลอนุบาลอยู่อย่างใกล้ชิด.