สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ว่า ที่ประชุมสภายุโรปมีมติเสียงข้างมาก 625 เสียง คัดค้าน 1 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง ปลดนางเอวา ไคลี ออกจากตำแหน่งรองประธานสภา 1 ใน 14 คน แม้ไคลียังคงมีสถานะการเป็นหนึ่งในสมาชิกของสภา “อย่างน้อย ณ เวลานี้” อย่างไรก็ตาม สมาชิกหลายคนเรียกร้องให้เธอลาออก


ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น หลังนางโรแบร์ตา เมตโซลา ประกาศเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ระงับ “การใช้อำนาจและภารกิจทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง” ของไคลี จนกว่ากระบวนการทางกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับไคลีจะเสร็จสิ้น พร้อมทั้งทิ้งท้ายว่า สภายุโรปเป็นสถาบันการเมืองที่ “ต่อต้านการคอร์รัปชั่น” และ “สนับสนุนการผดุงไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรม”


ทั้งนี้ สำนักงานอัยการเบลเยียมยืนยันการจับกุมไคลี วัย 44 ปี ซึ่งเป็นชาวกรีก เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังเชิญเธอไปสอบปากคำพร้อมบุคคลอีก 4 คน เนื่องจากพนักงานสอบสวนมีหลักฐานให้เชื่อถือได้ ว่า กลุ่มผู้ต้องสงสัยรับสินบนจาก “ประเทศแห่งหนึ่งในตะวันออกกลาง” และประเทศแห่งนั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเมือง และเศรษฐกิจของสภายุโรปมานานหลายเดือนแล้ว


นอกจากการควบคุมตัวบุคคลทั้งสี่ เจ้าหน้าที่ยึดของกลางเป็นเงินสด 600,000 ยูโร ( ราว 22 ล้านบาท ) คอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนอีกหลายเครื่องด้วย ขณะที่สื่อท้องถิ่นหลายแห่งของเบลเยียมรายงานโดยอ้างข้อมูลจาก “แหล่งข่าวระดับสูง” ว่าประเทศนั้นคือ กาตาร์ และผู้ต้องสงสัยอีกสามคนซึ่งถูกจับกุมด้วย “มีทั้งที่ถือสัญชาติอิตาลีและเดินทางมาจากอิตาลี” และเพียงไม่นานก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกเริ่มขึ้น มีรายงานว่า ไคลี พบกับ นายอาลี บิน ซามิคห์ อัล มาร์รี รมว.กระทรวงแรงงานของกาตาร์


ด้านทีมงานฝ่ายกฎหมายของไคลียืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด ด้านรัฐบาลกาตาร์ยังปฏิเสธให้ความเห็นอย่างเป็นทางการ แต่แหล่งข่าวยืนยันว่า “กระแสข่าวใดก็ตามที่ปรากฏออกมาตอนนี้เป็นเรื่องบิดเบือน” และยืนยันว่า หน่วยงานรัฐทุกแห่งของกาตาร์ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศทุกประการ


อนึ่ง จวบจนถึงตอนนี้ กาตาร์ยังคงเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากโลกตะวันตก ในเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสวัสดิภาพของแรงงานต่างด้าว.

เครดิตภาพ : REUTERS