ตลอดปี 2565 มีเหตุการณ์ต่างๆ ในแวดวงศาสนา-วัฒนธรรม เกิดขึ้นมากมาย และต่อไปนี้คือ 10 ข่าวเด่นศาสานา-วัฒนธรรม ประจำปี 2565

“สมเด็จพระวันรัต” วัดบวรฯ มรณภาพ

ข่าวเศร้าในวงการคณะสงฆ์ เมื่อต้องสูญเสียพระเถระชั้นผู้ใหญ่ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พรหมคุตโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร, กรรมการมหาเถรสมาคม, ผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต และประธานคณะสนองงานสมเด็จพระสังฆราช ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. เวลา 14.22 น. หลังเข้ารักษาอาการอาพาธ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สิริอายุ 85 ปี 65 พรรษา ทั้งนี้ สมเด็จพระวันรัต นับเป็นพระเถระที่มีบทบาทสำคัญในคณะสงฆ์ไทย เคยดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย และยังมีอาวุโสโดยสมณศักดิ์ใน มหาเถรสมาคม (มส.) เป็นลำดับที่สองรองจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทั้งยังได้รับมอบหมายจาก สมเด็จพระสังฆราช ให้ดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตแทนพระองค์อีกด้วย

โปรดสถาปนา 2 สมเด็จพระราชาคณะ

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา 1.พระพรหมจริยาจารย์ วัดกะพังสุรินทร์ จ.ตรัง ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามว่า สมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ 2.พระพรหมวิสุทธาจารย์ วัดเครือวัลย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามว่า สมเด็จพระพุทธพจนวชิรมุนี 3.พระธรรมกิตติมุนี วัดเฉลิมพระเกียรติ จ.นนทบุรี ขึ้นเป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามว่า พระพรหมวัชรจริยาจารย์ 4.พระธรรมวรนายก วัดพระนารายณ์มหาราช จ.นครราชสีมา ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนาม ว่า พระพรหมวชิรนายก 5.พระธรรมวราลังการ วัดเพชรวราราม จ.เพชรบูรณ์ ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนาม ว่า พระพรหมวชิราลังการ 6.พระธรรมปริยัติโมลี วัดบพิตรพิมุข ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองมีราชทินนามว่า พระพรหมวชิรานุวัตร และมีพระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระราชาคณะ จำนวน 59 รูปด้วย

บารมี “หลวงปู่แสง” ดับเส้นทาง “หมอปลา” บุกจับพระสึก

เรียกว่ากำลังได้รับคะแนนนิยมอย่างสูง ในการจับสึกพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมเสื่อมเสีย สำหรับ “หมอปลา” หรือ นายจีรพันธ์ เพชรขาว แต่ก็ต้องปิดฉากลงอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนเสียก่อนที่จะนำทัพสื่อมวลชน บุกเข้าตรวจสอบ “หลวงปู่แสง จนฺทโชโต (ญาณวโร)” อายุ 98 ปี พระเกจิชื่อดัง ที่พักสงฆ์ป่าดงสว่างธรรม ต.โคกนาโก จ.ยโสธร ทั้งยังกล่าวหาว่า “หลวงปู่แสง” ลวนลามญาติโยมที่เป็นหญิงสาว จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ สร้างความเสื่อมเสียให้กับ “หลวงปู่แสง” แต่ต่อมาได้มีการยืนยันจากคณะแพทย์ว่า “หลวงปู่แสง” ท่านอาพาธอัลไซเมอร์ รวมทั้งมีอาการหลงลืม จึงทำให้ไม่ทราบว่าคนที่ท่านใช้มือลูบหัวด้วยความเมตตานั้นเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ทำให้เกิดกระแสตีกลับไปที่คณะของ “หมอปลา” ว่า มีการกระทำที่ไม่เคารพพระผู้ใหญ่ จน “หมอปลา” ต้องออกมาขอโทษ และขอยุติบทบาทในการตรวจสอบพฤติกรรมพระสงฆ์ หนำซ้ำ “หมอปลา” ยังถูกทาง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ดำเนินคดีทางกฎหมายที่มีการบุกรุกกุฏิพระสงฆ์อีกด้วย

“พระกาโตะ” สึกเซ่นข่าวฉาวมั่วสีกา

หลังถูกออกมาแฉว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเสพเมถุนกับสีกาของ พระพงศกร จันทร์แก้ว (พระกาโตะ) พระนักเทศน์ชื่อดัง แห่งวัดเพ็ญญาติ อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช แม้ในช่วงแรกตัว พระกาโตะ จะปฏิเสธเสียงแข็ง แต่สุดท้ายก็จำนนด้วยหลักฐาน จนต้องยอมรับความจริงว่าได้มีการเสพเมถุนกับสีกาจริง และได้ยอมลาสิกขาแต่โดยดี ปิดฉากเส้นทางชีวิตพระนักเทศน์ชื่อดังที่ต้องสึกออกมากลับมาใช้ชีวิตฆราวาสไปอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เพิ่งสร้างชื่อเสียงในฐานะพระนักเทศน์ไปได้เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น 

พบ “ตุ๊กตาหินโบราณ” รอบวัดพระแก้ว

“หน่วยราชการในพระองค์” ได้เผยแพร่ข้อมูลการขุดพบประติมากรรมหินสลัก ใน วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง โดยระบุว่า เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2564 ในการปรับปรุงเส้นทางเข้าชมภายในพระบรมมหาราชวัง บริเวณประตูมณีนพรัตน์ไปยังประตูสวัสดิโสภา ระหว่างการปรับปรุงก่อสร้างได้ขุดพบประติมากรรมหินสลักจำนวนมาก จึงได้เปิดการขุดค้นทางโบราณคดี จากหลักฐานพบว่าเป็นประติมากรรมรูปบุคคลหลากหลายเชื้อชาติ และสัตว์ในเทพนิยาย ซึ่งจารึกที่พบบนประติมากรรมหินสลักบางตัว ระบุเป็นภาษาจีน ว่า ทำที่มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางโจว จากการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในเบื้องต้นพบว่า ประติมากรรมหินสลักเหล่านี้ปรากฏในภาพถ่ายเก่าในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดับตกแต่งอยู่โดยรอบพระอารามและโยกย้ายในรัชสมัยต่อๆ กันมา ซึ่งมีหลักฐานจากภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือทั้งในประเทศและต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์ซ่อมแซมประติมากรรมหินสลัก และนำมาประดับใน วัดพระศรีรัตนศาสดาราม บริเวณตำแหน่งเดิม หรือใกล้เคียงตามหลักฐานที่ปรากฏ โดยนำมาติดตั้งแล้ว 33 ตัว จากที่มีการขุดค้นพบมากกว่า 100 ตัว

“ต้มยำกุ้ง” ติดโผ 20 ซุปดีที่สุดในโลก

อาหารไทยสร้างชื่อเสียงระดับโลกอีกครั้ง เมื่อ CNN Travel ได้คัดเลือกอาหารประเภทซุปจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกมารวบรวมเป็น 20 ซุปที่ดีที่สุดในโลกปี 2022 โดย “ต้มยำกุ้ง” ของประเทศไทยติดอันดับอยู่ใน 20 รายชื่อซุปดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ยังได้เสนอ “ต้มยำกุ้ง” เป็นรายการตัวแทน มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ไปเมื่อปี 2564 ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของยูเนสโกแล้ว 

วธ.ตั้ง 3 อธิบดีใหม่-ผอ.สศร.

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. มีมติแต่งตั้งโยกย้าย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่มีผู้เกษียณอายุราชการ และเพื่อการสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้ 1.นายชัยพล สุขเอี่ยม ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง วธ. ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.)​ 2.นายพนมบุตร จันทรโชติ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง วธ. ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมศิลปากร 3.นายโกวิท ผกามาศ ผอ.สำนักงาน สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) 4. นายประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง วธ. ไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

สลา  คุณวุฒิ

ประกาศศิลปินแห่งชาติประจำปี 2564

คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้เปิดเผยผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564 มีรายชื่อดังนี้ 1.นางวรรณี ชัชวาลทิพากร สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) 2.ศ.ถาวร โกอุดมวิทย์ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) 3.ศ.เกียรติคุณ อรศิริ ปาณินท์ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น) 4.นายมีชัย แต้สุจริยา สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) 5.นางนันทพร ศานติเกษม (นามปากกา “ปิยะพร ศักดิ์เกษม”)  สาขาวรรณศิลป์  6.นายวิชชา ลุนาชัย (นามปากกา “ประชาคม ลุนาชัย”) สาขาวรรณศิลป์ 7.ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) 8.นายกำปั่น นิธิวรไพบูลย์ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงโคราช) 9.นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย-โขน ละคร) 10.ศ.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล-ประพันธ์เพลงคลาสสิก) 11.นายสลา คุณวุฒิ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) และ 12.นายนพพล โกมารชุน สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร)

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

3 ศิลปินไทยขึ้นทำเนียบผู้ทรงอิทธิพลด้านศิลปะของโลก

นิตยสาร ArtReview นิตยสารศิลปะชั้นนำของอังกฤษ ได้ประกาศรายชื่อ “Power 100” หรือ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลด้านศิลปะของโลกประจำปี 2022 โดยมีศิลปินไทยถึง 3 ราย ที่ได้รับการขึ้นทำเนียบ ได้แก่ 1.นายอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (ลำดับที่ 32) ศิลปินศิลปาธร สาขาภาพยนตร์ พ.ศ. 2548 ผู้กำกับเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2.นายฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช (ลำดับที่ 86) ศิลปินคอนเซปชวล ที่มีรางวัลการันตีชื่อเสียงในระดับโลก ผู้จุดประกายการนำอาหารไทย (ผัดไทย) มาจัดแสดงในรูปแบบงานศิลปะภายในแกลลอรี่ กลางกรุงนิวยอร์กเมื่อปี 1990 ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นศิลปินศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ พ.ศ. 2550 และที่สำคัญ “ฤกษ์ฤทธิ์” คือหนึ่งใน ผอ.ฝ่ายศิลป์ (Artistic Director) ในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 และ 3.นายกรกฤต อรุณานนท์ชัย (ลำดับที่ 88) ศิลปินมัลติมีเดียผู้ริเริ่ม เทศกาลศิลปะซีรีส์วิดีโอและศิลปะการแสดงอย่าง Ghost 2561-2565

ประกาศรายชื่อ 7 ศิลปิน “ศิลปาธร” ปี 2565

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” ประจำปี 2565 จำนวน 7 สาขา ดังนี้ 1.สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ นายธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ 2.สาขาสถาปัตยกรรม ได้แก่ หม่อมหลวง วรุตม์ วรวรรณ 3.สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นายสถาพร จรดิฐ หรือนามปากกา “จเด็จ กำจรเดช” 4.สาขาดนตรี ได้แก่ นายชัยภัค ภัทรจินดา 5.สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ น.ส.ศรวณีย์ ธนะธนิต  6.สาขาศิลปะการออกแบบ ได้แก่ นายนครินทร์ ยาโน และ 7.สาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว ได้แก่ นายลี ชาตะเมธีกุล.