เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 ม.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้เวลา 07.25 น. เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ อายุ 93 ปี 7 เดือน บุคคลค่าแห่งแผ่นดิน ด้านการส่งเสริมศาสนา และวัฒนธรรม ได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบ ด้วยโรคชรา โดยร่างอยู่ที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งทางญาติจะมีการแจ้งกำหนดการ การประกอบพิธีอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับประวัติ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นที่รู้จักในนาม “เจ้ายาย” เกิดเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2472 เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ และนักสังคมสงเคราะห์ชาวไทย เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้รับการประกาศสดุดีเกียรติคุณให้เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2558 โดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยที่ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้รับการบันทึกชื่อให้เป็นบุคคลสำคัญในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทยล้านนาเพื่อเป็นเกียรติประวัติและอนุสรณ์แห่งคุณความดี เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้อุทิศตนเป็นแบบอย่างในการเป็นพลเมืองที่ดี บำเพ็ญประโยชน์ต่อชาติและสังคมส่วนรวมมีความกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด สมกับที่เป็นสตรีสูงศักดิ์ งามพร้อมด้วยกิริยามรรยาทแบบกุลสตรีไทย ทั้งยังได้ดำรงเกียรติแห่งวงศ์ตระกูลได้อย่างสมบูรณ์ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ โปรดการแต่งกายแบบไทยล้านนาและรักที่จะส่งเสริมให้คนไทยรุ่นใหม่รักในความเป็นไทยและหวงแหนรักษ์ในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนในปี 2564 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเกียรติคุณยกย่อง เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ให้เป็นบุคคล “ค่าแห่งแผ่นดิน” ในด้านการส่งเสริมศาสนาและวัฒนธรรม

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เกิดในวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันเพ็ญ จึงได้รับขนานนามว่า “ดวงเดือน” เป็นธิดาคนที่สามในเจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) ผู้เป็นโอรสในเจ้าราชภาติกาวงศ์ (เจ้าบัวรวงศ์) กับเจ้าฟองนวล เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ มีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมอุทรหม่อมมารดา หม่อมเทพ หรือ หม่อมจันทร์เทพ ณ เชียงใหม่ ตามลำดับ คือ เจ้าอาทิตย์ เจ้านิภาพันธุ์ และเจ้าประเวศ ณ เชียงใหม่ ตั้งแต่เยาว์วัย เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้รับความเมตตาและอนุบาลเป็นอย่างดีจาก เจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นพระราชธิดาในเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร กับ แม่เจ้าจามรีวงศ์ ณ เชียงใหม่ หรือ เจ้าจามรีวงศ์ โดยเจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ได้ทรงรับเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นพระธิดาบุญธรรมและทรงให้ความรักและอภิบาลเป็นอย่างดี เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้รับการฝึกอบรมด้านการเรือนอย่างเคร่งครัดจากคุ้มหลวง ได้ศึกษาการทำอาหาร การทำยาสมุนไพร และเรียนการฟ้อนรำ ขับกล่อมเพลงแบบราชสำนักสยามล้านนาเพื่อต้อนรับราชอาคันตุกะ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ สมรสกับพิรุณ อินทราวุธ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ มีบุตร-ธิดา 4 คน เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ สอบเข้าเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลคดีเด็กและเยาวชน ได้ในปี 2513 และเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสียงเชียงใหม่ ทั้งเป็นนักจัดรายการวิทยุ และเคยได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานสภาอุตสหกรรมภาคเหนือ และยังได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่คนแรกในประเทศไทย เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ที่มีความรักในท้องถิ่นวัฒนธรรมไทยล้านนาอย่างแรงกล้า มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นที่ยิ่ง เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้อนุรักษ์และส่งเสริมการแต่งกายของสตรีในภาคเหนือด้วยผ้าไทยและจัดให้มีการนำเอาประเพณีการทานข้าวบนขันโตกแบบไทยล้านนากลับมาเผยแพร่จนได้รับความนิยมอีกครั้งในสมัยปัจจุบัน เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ โปรดอุทิศตนเพื่อการสังคมสงเคราะห์ การสาธาณกุศล และการศาสนกุศลอย่างต่อเนื่องตลอดมา

ทั้งนี้ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ มีผลงานมากมาย เช่น เป็นผู้เริ่มโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ผู้เริ่มจัดงานไม้ดอกไม้ประดับ หรือ งานบุปผาชาติ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ยุคนั้น ซึ่งงานนี้ได้ยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน, สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นับเป็นเจ้านายสตรีฝ่ายเหนือเพียงคนเดียวในยุคนั้นที่เป็นตัวแทนสตรี ส่วนภูมิภาคนอกนครหลวงของประเทศ, ผู้พิพากษาสมทบศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นสตรีคนแรกที่นั่งบัลลังก์ในฐานะตุลาการในศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่, ประธานชมรมไม้ดอกไม้ประดับคนแรกของเชียงใหม่, ประธานสภาวัฒนธรรมคนแรกของเชียงใหม่และคนแรกของประเทศไทย, ได้ประกาศเกียรติคุณยกย่องเป็นบุคคล “ค่าแห่งแผ่นดิน” ในด้านการส่งเสริมศาสนา และวัฒนธรรม ประจำปี 2564 โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ.

ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่