“ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ที่ส่งผลทำให้เด็กไทยต้องหลุดจากระบบการศึกษา ปัญหาในวงการการศึกษาของไทยที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน และดูจะไม่มีทีท่าว่าจะสามารถแก้ปัญหานี้ลงได้ง่ายๆ

เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566 ทีมข่าว “เดลินิวส์ออนไลน์” ขอเป็นกระบอกเสียงให้กับเด็กที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากปัญหา “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เพื่อหวังให้รัฐบาล “ใส่ใจ” กับการแก้ไขปัญหานี้ให้มากขึ้น

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รายงาน สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2565 พบว่า ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีเด็กนักเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับ (อนุบาล-ม.3) จำนวนประมาณ 9 ล้านคน อยู่ในสังกัดของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และ กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565 พบว่า มี นักเรียนยากจนพิเศษ (นักเรียนที่อยูในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน) ในระดับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษ 994,428 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มี 1,174,444 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มี 1,244,591 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มี 1,301,366 คน และภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีถึง 1,307,152 คน ซึ่งกลุ่ม “ยากจนพิเศษ” นี่เอง ถือเป็นนักเรียนกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ที่ทาง กสศ. ประเมินว่า ปัจจุบันมีมากกว่า 1.8 ล้านคน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ ป.6, ม.3 และ ม.6 ที่มักจะหลุดจากระบบในช่วงปิดเทอม ไม่กลับเข้ามาเรียนอีก

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กกลุ่มยากจนพิเศษเพิ่มมากขึ้น คือ ช่วงเวลาของการระบาดขอโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้รายได้ต่อครอบครัวลดลงต่อเนื่อง ข้อมูลรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนจาก สำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า มีเด็กและเยาวชนอายุ 3-14 ปี จำนวนกว่า 2.5 ล้านคน อยู่ใต้เส้นความยากจน คือ มีรายได้ต่ำกว่า 2,762 บาท/คน/เดือน ทำให้ครัวเรือนต้องแบกรับค่าจ่ายด้านการศึกษา นับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา

ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ยังส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอีกด้วย โดยข้อมูลจากงานวิจัยขององค์การยูนิเซฟในปี 2015 ชี้ว่า จำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา 500,000 คน จะส่งผลต่อมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศถึง 1.7% ของ GDP หรือคิดเป็น 6,520 ล้านดอลลาร์

จะเห็นได้ว่า ปัญหาความ “เหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ที่ส่งผลทำให้เด็กต้องหลุดจากระบบการศึกษา นั้น ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ แล้ว จะมีการแก้ไขปัญหานี้อย่างไรล่ะ ซึ่ง ดร.ไกรยส ภัทราวาส ผู้จัดการ กสศ. ได้สรุปข้อเสนอ 3 รูปแบบ ดังนี้

1.ข้อเสนอด้านอัตราอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ สำหรับงบประมาณ 2567 ปรับปรุงอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน (เรียนฟรี 15 ปี) โดยจัดให้ระดับอนุบาล 1,000 บาท/ระดับประถม 1,000 บาท/ระดับมัธยมต้น 4,000 บาท/ระดับมัธยมปลาย 9,000 บาท ปรับปรุงอัตราทุนเสมอภาค เริ่มตั้งแต่ระดับการศึกษาปฐมวัย-มัธยมปลาย โดยจัดให้รายหัว ระดับอนุบาล 4,000 บาท/ระดับประถม 5,100 บาท/ระดับมัธยมต้น 4,500 บาท/ระดับมัธยมปลาย 9,100 บาท

2.ข้อเสนอเชิงคุณภาพ การจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข เพื่อติดตามผลการคงอยู่ในระบบการศึกษาของผู้เรียนและการศึกษาต่อหลังขั้นพื้นฐาน รวมถึงติดตามผลด้านพัฒนาการด้านกายภาพและการเรียนรู้การเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลและระบบส่งต่อการทำงานและติดตามนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ป้องกันการหลุดออกจากระบบซ้ำ เพื่อต่อยอดจากโครงการพาน้องกลับมาเรียน จัดทำมาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อส่งเสริมการระดมงบประมาณ/ทรัพยากร จาก อปท. และการบริจาคจากภาคเอกชนเพื่อลดภาระทางการคลังของประเทศ

3.เป้าหมายในอนาคต เพิ่มอัตราการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าของนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษให้สูงกว่าร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี เยาวชนจากครัวเรือนยากจน/ยากจนพิเศษ ต้องก้าวออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่น เข้าสู่ระบบฐานภาษีและรายได้เฉลี่ยถึงระดับรายได้สูงภายใน 10 ปี

“ข้อเสนอสำคัญคือการปรับเงินอุดหนุนให้ครอบคลุมการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกระดับ และปรับเพิ่มให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ โดยจุดเปลี่ยนสำคัญคือระดับ ม.ต้น ซึ่งเป็นช่วงชั้นรอยต่อที่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด ขณะที่เงินอุดหนุนในระดับ ม.ปลาย จะช่วยดึงเด็กไว้ให้อยู่ในระบบจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจะทำให้มาตรการการจัดสรรเงินอุดหนุนเกิดความคุ้มค่าในระยะยาว ร่วมกับการเชื่อมโยงฐานข้อมูลส่งต่อเด็กเยาวชนตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 20 ปี และให้รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มแรงจูงใจภาคเอกชนในการระดมทรัพยากรมาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ พร้อมเชื่อมโยงกับข้อมูลของกระทรวงการคลัง ดูแลไปถึงครอบครัวของเด็ก ถ้าสามารถทำได้จำนวนของเด็กยากจนและยากจนพิเศษที่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยอาจเพิ่มขึ้นได้ถึง 20% ได้ภายใน 5 ปี ” ดร.ไกรยส กล่าว

ทีมข่าว “เดลินิวส์ออนไลน์” ยอมรับว่า การแก้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ที่ส่งผลไปสู่การทำให้เด็กไทยต้องหลุดจากระบบการศึกษา คงไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ววัน แต่อย่างน้อยเนื่องในวันเด็กแห่งชาติปี 2566 ขอให้เป็นจุดเริ่มต้นที่รัฐบาล จะหันมาจริงจังกับเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อเป็น “ของขวัญ” ชิ้นสำคัญ ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ในวันเด็กปีนี้…