สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ว่า งานศึกษาชิ้นใหม่จากสถาบันน้ำ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ของมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ พบว่า ภายในช่วงกลางศตวรรษนี้ เขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลายแห่งจะสูญเสียความจุกักเก็บน้ำรวมกันประมาณ 1.65 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากปัญหาตะกอนอุดตัน

กลุ่มนักวิจัยระบุว่า เรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะเขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้เป็นแหล่งสำคัญของการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ, การควบคุมอุทกภัย, การชลประทาน และน้ำดื่มทั่วโลก

“การกักเก็บน้ำทั่วโลกกำลังลดลง และมันเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง” นายวลาดิเมียร์ สมัคติน ผู้อำนวยการของสถาบัน และผู้เขียนร่วมของการศึกษา กล่าว

ทั้งนี้ นักวิจัยได้ทำการสำรวจเขื่อนเกือบ 50,000 แห่งใน 150 ประเทศ และพบว่าพวกมันสูญเสียความจุกักเก็บน้ำไปแล้วประมาณ 16% ซึ่งพวกเขาประมาณการว่า หากอัตราการสะสมยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปเช่นเดิม เขื่อนจะสูญเสียความจุกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นเป็นราว 26% ภายในกลางศตวรรษนี้

สมัคติน กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดความเสี่ยงในรูปแบบที่ยังไม่สามารถวัดได้อย่างเต็มที่ โดยนอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดขั้ว จะสร้างความเสียหายต่อเขื่อน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการล้นของอ่างเก็บน้ำแล้ว มันยังเร่งการก่อตัวของตะกอน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเขื่อน, ลดความจุกักเก็บน้ำ และลดการผลิตพลังงานในเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอีกด้วย

แม้ผู้เขียนการศึกษาจะระบุมาตรการจัดการความท้าทายข้างต้นไว้หลายประการ เช่น การสร้างทางเบี่ยงให้น้ำไหลผ่านไปอีกทางหนึ่ง หรือการรื้อถอนเขื่อน เพื่อสร้างทางไหลของตะกอนในแม่น้ำตามธรรมชาติขึ้นมาใหม่ แต่สมัคตินกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการกักเก็บน้ำ คือเรื่องที่ซับซ้อนยุ่งยากเป็นพิเศษ เพราะมันไม่มีวิธีแก้ปัญหาที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด.

เครดิตภาพ : REUTERS