สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ว่า แนวปะการัง ซึ่งเป็นแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์และพืชทะเลอย่างน้อย 1 ใน 4 ตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงจากการคุกคามจากมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น การประมงเกินขนาด, มลพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

นางซาแมนธา เชอร์แมน จากมหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ในแคนาดา และกลุ่มสัตว์ป่า “ทราฟฟิก อินเทอร์เนชั่นเนล” กล่าวว่า ปลาฉลามและปลากระเบน มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ ซึ่งไม่สามารถแทนที่ด้วยสัตว์สายพันธุ์อื่นได้

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในนิตยสาร Nature Communications ซึ่งประเมินข้อมูลความเสี่ยงของการสูญพันธุ์จากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) พบว่าพวกมันกำลังถูกคุกคามอย่างหนักทั่วโลก โดยปลาฉลามและปลากระเบนแนวปะการังสัดส่วน 59% มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์มากเกือบ 2 เท่า ของปลาฉลามและปลากระเบนทั่วไป

เมื่อปีที่แล้ว หลายประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอนุสัญญา ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) อนุมัติแผนคุ้มครองปลาฉลามและปลากระเบนหลายสิบสายพันธุ์ด้วยการเพิ่มแนวปะการังในพื้นที่ ซึ่งเชอร์แมนมองว่าเป็น “การก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง” แต่เสริมว่า มันจำเป็นต้องมีความพยายามในระดับโลก เพื่อปรับปรุงการนำไปใช้ด้วย

แม้การประมงในแนวปะการัง จะมีส่วนช่วยโดยตรงต่อการดำรงชีวิตและความมั่นคงด้านอาหาร แต่ระบบนิเวศสำคัญนี้ กำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งการใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัด และภาวะโลกร้อน

“พวกเราทราบดีว่า สุขภาพของแนวปะการังกำลังแย่ลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อย่างไรก็ตาม ปลาฉลามและปลากระเบนแนวปะการัง สามารถช่วยรักษาความสมบูรณ์ของแนวปะการังให้อยู่นานขึ้นได้” เชอร์แมน กล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES