จากกรณีที่มีการส่งข้อความแชร์กันในโลกโซเซียล มีเดีย ระบุว่า ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป ห้ามโพสต์รูปภาพภาพและวิดีโอ เช่น อรุณสวัสดิ์และราตรีสวัสดิ์  ที่ผู้สูงอายุคนไทย นิยมชอบส่งทางทางโซเซียลมีเดีย ซึ่งแฮกเกอร์ได้ซ่อนรหัสฟิชชิ่ง เมื่อทุกคนส่งข้อความ หรือเป็นผู้รับข้อความ แฮ็กเกอร์จะใช้อุปกรณ์ของเราเพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลบัตรธนาคารและข้อมูล และเจาะเข้าไปในของคุณ โทรศัพท์  มีรายงานว่ามีผู้เสียหายมากกว่า 500,000 รายในต่างประเทศที่ถูกหลอก หากต้องการทักทายใครสักคน ให้เขียนคำทักทายของคุณเองและส่งรูปภาพ และวิดีโอของตัวเอง เพื่อป้องกันตัวเอง ครอบครัว และเพื่อนๆ นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พลอากาศตรี อมร ชมเชย  เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ( เลขาธิการ กมช.) ให้สัมภาษณ์กับ “เดลินิวส์” ว่า  ข้อมูลดังกล่าวที่ถูกส่งต่อกันเป็นเฟกนิวส์ ที่มีการแปลมาจากภาษาต่างประเทศ และไม่มีแหล่งอ้างอิงข้อมูลที่น่าเชื่อถือพอ มีการส่งต่อข้อความลักษณะคล้ายๆแบบนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว  มีการนำชื่อเจ้าหญิงของรัสเซียในอดีต คือ  Olga nikolaevna มาตั้งเป็นชื่อของทนายความ ในข้อความของเฟกนิวส์ที่ส่งต่อๆกัน

ข้อความภาษาต่างประเทศที่ถูกแปลเป็นภาษาไทยแล้วถูกส่งต่อกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึง โอกาสที่แฮกเกอร์จะฝั่งมัลแวร์ในรูปภาพ หรือลิงค์วิดีโอที่ส่งมานั้น ทาง เลขาธิการ กมช. ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันถ้าเป็นไฟล์รูป ยังไม่สามารถฝั่งมัลแวร์มากับรูปภาพได้  แต่ถ้าเป็นไฟล์อื่น เช่น ไฟล์เอกสาร ต่างๆ เช่นไมโครซอฟท์เวิร์ด   เอกเซล ฯลฯ หรือส่งลิงค์ต่างๆมาให้คลิก ต้องระวัง สามารถทำได้ ซึ่งในกรณีลิงค์วิดีโอนั้น ถ้าเป็นลิงค์จาก ยูทูบจริง ไม่มีปัญหา และจะขึ้น Preview ให้ แต่ถ้าเป็นลิงค์หลอกกดแล้วไม่ไปที่เว็บไซต์ยูทูบ ก็มีสิทธิที่จะเป็นมิจฉาชีพ ดังนั้น ถ้ามีลิงค์ส่งมาให้คลิก แล้วเราดูไม่เป็นให้สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพไว้ก่อน อย่าคลิกลิงค์เหล่านั้น  ก็จะลดความเสี่ยงจากการถูกมิจฉาชีพออนไลน์หลอกได้

สุดท้าย พลอากาศตรี อมร กล่าวว่า การที่คนไทยตื่นตัวกับกลโกง การหลอกลวงต่างๆทางออนไลน์ ถือเป็นเรื่องดี  แต่ไม่ควรตื่นกลัวด้วยข่าวปลอมที่ถูกส่งต่อๆกัน ควรจะต้องตรวจสอบความจริงและแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ก่อนที่จะเชื่อ หรือแชร์ข้อความต่างๆออกไป เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกของสังคม