รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แจ้งว่า จากการติดตามตรวจสอบการเรียกเก็บค่าโดยสารเส้นทางบินภายในประเทศ ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 65 (ต.ค.-ธ.ค. 65) โดยรวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ของสายการบินที่ให้บริการทั้งหมด 6 ราย ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยสมายล์, ไทยแอร์เอเชีย, นกแอร์, ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท พบว่า สายการบินที่ให้บริการในกลุ่มเส้นทางบินที่ไม่ควบคุมค่าโดยสาร ระยะทางบินไม่เกิน 300 กิโลเมตร (กม.) มีการเดินทางภาคพื้นไม่สะดวก และเป็นการบินเชื่อมระหว่างภาค มีการให้บริการรวม 36 เส้นทางบิน โดยเส้นทางบินที่มีค่าโดยสารสูงสุดของชั้นโดยสารชั้นประหยัด ได้แก่ เส้นทาง สมุย-เชียงใหม่ ราคา 9,430 บาทต่อเที่ยว ส่วนเส้นทางที่มีค่าโดยสารต่ำสุด ได้แก่ เส้นทาง ภูเก็ต-เชียงราย ราคา 1,250 บาทต่อเที่ยว 

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า กลุ่มเส้นทางบินที่ควบคุมค่าโดยสาร ระยะทางบินไม่เกิน 300 กิโลเมตร (กม.) และมีการเดินทางภาคพื้นไม่สะดวก เพดานค่าโดยสารไม่เกิน 22 บาทต่อ กม. พบว่า มีให้บริการ 6 เส้นทางบิน โดยเส้นทาง กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-ตราด ค่าโดยสารสูงสุด 5,020 บาท ส่วนเส้นทาง หาดใหญ่-ภูเก็ต และ ภูเก็ต-หาดใหญ่ ค่าโดยสารต่ำสุด 1,930 บาท ส่วนกลุ่มเส้นทางบินที่ระยะทางบินเกิน 300 กม. และให้บริการเต็มรูปแบบ เพดานค่าโดยสารไม่เกิน 13 บาทต่อ กม. มีเส้นทางให้บริการ 26 เส้นทาง ลดลงจากไตรมาสที่ 2/65 โดยเส้นทาง เชียงใหม่-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) ค่าโดยสารสูงสุด 5,460 บาท ขณะที่เส้นทาง สุราษฎร์ธานี-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) ค่าโดยสารต่ำสุด 1,360 บาท

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับสถานการณ์ค่าโดยสารของบริการแบบต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ในกลุ่มเส้นทางบินที่มีระยะทางเกิน 300 กม. เพดานค่าโดยสาร 9.40 บาทต่อ กม. พบว่า มีการให้บริการ 70 เส้นทาง ลดลงจากไตรมาสที่ 2/65 โดยเส้นทางที่ค่าโดยสารสูงสุด คือ เส้นทาง กรุงเทพฯ(ดอนเมือง)-ตรัง 6,855 บาท ส่วนค่าโดยสารต่ำสุด 750 บาท ซึ่งเป็นค่าโดยสารราคาพิเศษ และมีจำนวนที่นั่งจำกัด ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)–ขอนแก่น/สุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความสามารถในการให้บริการ พบว่า ในไตรมาสที่ 4/65 สายการบินไทยแอร์เอเชีย มีสัดส่วนเส้นทางภายในประเทศสูงสุด คิดเป็น 30% และมีการให้บริการจำนวนเที่ยวบินต่อสัปดาห์ และที่นั่งต่อสัปดาห์มากที่สุด

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงค่าโดยสารเส้นทางบินภายในประเทศ ไตรมาสที่ 4/65 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า พบว่า ภาพรวมค่าโดยสารกำหนดราคาสูงสุดที่ลดต่ำลง และคงที่ แต่ราคาต่ำสุดมีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีราคาสูง ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ทำให้ต้นทุนการดำเนินการของสายการบินเพิ่มขึ้น โดยค่าโดยสารสูงสุดเพิ่มขึ้น 48 เส้นทาง และค่าโดยสารต่ำสุดเพิ่มขึ้น 89 เส้นทาง ส่วนเส้นทางที่ค่าโดยสารสูงสุดลดลงมี 56 เส้นทาง และเส้นทางที่ค่าโดยสารต่ำสุดลดลงมี 26 เส้นทาง ขณะที่เส้นทางที่ค่าโดยสารสูงสุดไม่เปลี่ยนแปลงมี 16 เส้นทาง และเส้นทางที่ค่าโดยสารต่ำสุดไม่เปลี่ยนแปลงมี 5 เส้นทาง

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในไตรมาสที่ 1/66 (ม.ค.-มี.ค. 66) ค่าโดยสารจะยังคงปรับตัวในทิศทางเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4/65 เนื่องจากในช่วงต้นของไตรมาสเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) ซึ่งประชาชนมีความต้องการเดินทางสูง ประกอบกับการรับภาระต้นทุนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลานาน และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน และภาวะเงินเฟ้อ ทำให้สายการบินต่าง ๆ มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมาก.