เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่โรงแรมแมนดาริน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาส 8 มีนา วันสตรีสกล เปิดเวทีเสวนาถอดบทเรียน “16 ปี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 โดย น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์ 11 ฉบับและจากสื่อออนไลน์ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึง ธ.ค. 2564 พบข่าวความรุนแรงในครอบครัว 372 ข่าว เป็นการฆ่ากันในครอบครัวถึง 195 ข่าว คิดเป็น 53% ทำร้ายกัน 82 ข่าว คิดเป็น 22% และฆ่าตัวตาย 52 ข่าว คิดเป็น 14% โดยพบความสัมพันธ์แบบสามีฆ่าภรรยาสูงสุด 57 ข่าว ที่น่าห่วงคือ ความสัมพันธ์แบบแฟนชายกระทำต่อหญิงพบมากขึ้น 27 ข่าว สาเหตุมาจากความหึงหวง 73% ขณะที่แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยที่กระตุ้น 25% ที่น่ากังวลอาวุธที่ก่อเหตุเกือบ 50% ใช้ปืน ตามด้วยมีดของมีคม และตบตีทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต

พื้นที่ที่เกิดเหตุจากเดิมที่ส่วนใหญ่เกิดในเมืองใหญ่เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี แต่ปี 2564 กระจายไปต่างจังหวัดมากขึ้นเช่น บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ เลย การแก้ไขปัญหาความรุนแรง สังคมต้องเริ่มต้นจากการป้องกัน จับสัญญาณความรุนแรงในคู่รักก่อนทำร้ายกันเช่น หึงหวง เพิกเฉย ทำให้อับอายควบคุม รุกราน ข่มขู่ แบล็กเมล์ตัดขาด เป็นต้น เพื่อหาทางออกจากความสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยอย่างสันติ ปรับแก้กฎหมายครอบครัวที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหา รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายครอบครัวเพื่อให้ผู้ถูกกระทำใช้กลไกในการคุ้มครอง และการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กเรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายความรักที่ไม่ใช่เจ้าของ

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์ดี แต่ไม่ได้คำนึงให้ความสำคัญกับผู้ถูกกระทำเป็นศูนย์กลาง กลับเน้นการจัดการของรัฐของผู้ใช้กฎหมายโดยเน้นให้ไกล่เกลี่ย ยอมความ รักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ทั้งที่ไม่ใช่ความผาสุข ความปลอดภัยในสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำ

ขณะที่ ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า อีกปัญหาคือกฎหมายไม่ได้ออกแบบรองรับให้การทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งสำคัญมาก เพราะปัญหามีความซับซ้อนต้องอาศัยความร่วมมือหลายฝ่าย แต่กฎหมายกำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแลเพียงฝ่ายเดียว ความร่วมมือจากฝ่ายอื่นจึงเป็นแบบกระท่อนกระแท่น.