ทั้งนี้ เมื่อย้อนดูเรตติ้งของพรรคการเมืองต่างๆ ที่สะท้อนผ่านผลโพลหลายสำนัก ต่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีชื่อของ พรรคเพื่อไทย ยืนหนึ่งในทุกผลโพล ทั้งผลสำรวจ “นิด้าโพล” ที่ชี้ชัดว่า คน กทม.ส่วนใหญ่ เทใจให้พรรคเพื่อไทย ทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือผลสำรวจ “สวนดุสิตโพล” ก็พบว่า พรรคที่คนไทยนิยมเป็นอันดับ 1 คือ พรรคเพื่อไทย และที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกตามอายุ พบว่า แม้กลุ่มอายุ 18-30 ปี จะนิยมพรรคก้าวไกลมากที่สุด แต่กลุ่มอายุอื่นๆ กลับนิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด

ส่วนเรตติ้งแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองที่น่าสนใจ จากผลสำรวจของ “นิด้าโพล” พบว่าบุคคลที่คนกรุงเทพฯ สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้มากที่สุด อันดับ 1 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล คิดเป็น 25.08% อันดับ 2 แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย คิดเป็น 24.20% และอันดับ 3 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ คิดเป็น 18.24%

ปรับโฟกัสไปที่การเตรียมการเลือกตั้ง ในช่วงที่ผ่านมา ก็เกิดปรากฏการณ์ดราม่าเขย่าการจัดอันดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อของหลายพรรค ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า แต่ละพรรคจะมีพื้นที่ “เซฟโซน” ระยะปลอดภัยของ ส.ส.บัญชีรายชื่อแตกต่างกันไป

ไล่ตั้งแต่ พรรคพลังประชารัฐ ที่เกิดปัญหา จากกรณี นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกเบียดจากบัญชีรายชื่อลำดับ 7 ตกไปอยู่ลำดับ 20 จนเจ้าตัวต้องออกมาประกาศถอนตัวไม่ลง ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งกรณีการสลับลำดับกันเองของ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่อยู่ลำดับที่ 18 ได้ขอแลกกับ อภิชัย เตชะอุบล ที่อยู่ในลำดับที่ 12 ทั้งนี้ก็ตีความได้ว่า “เซฟโซน” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ น่าจะไม่ถึงลำดับที่ 20

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีการตีรันฟันแทงกันระหว่าง “ส.ส.หญิง 4 สาว” เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ มีหลักการแบ่งสัดส่วนให้สิทธิสตรีในสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยหลักการจัดวางลำดับ 1-4 เป็นผู้ชาย อันดับ 5 จะเป็นคุณหญิงกัลยา ลำดับที่ 6-9 เป็นผู้สมัครชาย แต่ในลำดับที่ 10 กลายเป็นการชิงกันของว่าที่ผู้สมัครหญิงถึง 4 คน คือ มัลลิกา บุญมีตระกูล, วทันยา บุนนาค, รัชดา ธนาดิเรก และ จิตภัสร์ กฤดากร ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า “เซฟโซน” ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะอยู่ที่ลำดับที่ 10

ถึงแม้ “เซฟโซน” ในอันดับบัญชีรายชื่อเบอร์ต้นๆ ของพรรค จะเป็นที่หมายตาของหลายต่อหลายคน แต่งานนี้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับไม่สนใจที่จะลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยเจ้าตัวอ้างว่า เป็นเหตุผลส่วนตัว ซึ่งการจะลงสมัครหรือไม่ลงสมัคร ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญเองก็เปิดช่องให้แคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. กลายเป็นการเปิดทางให้  พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเบอร์ 2 มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 แทน

ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้คอการเมืองจับสัญญาณได้ว่า สภาพของพรรครวมไทยสร้างชาติ ประกอบขึ้นด้วยดาวที่ใกล้อับแสง จากหลายๆ พรรคมารวมตัวกันเป็นดาวดวงใหม่ และทุกคนก็หวังพึ่งแสงจาก “ดาวฤกษ์” อย่าง “บิ๊กตู่” แต่การที่ “ดาวฤกษ์” ไม่ลง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค ก็จะทำให้แสงสว่างของพรรคลดลง และยิ่งดูกระแสของพรรคแล้ว ก็ยังต้องลุ้นกันเหนื่อยว่า จะได้ ส.ส. ถึง 25 คน ที่เพียงพอจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคร่วมโหวตเลือกนายกฯ ในสภาได้หรือไม่ 

ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ “บิ๊กตู่” เลือกที่จะวางเกมของตัวเองในลักษณะ “กึ่งถอย-กึ่งสู้” ด้วยการไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค และอาจจะมองไปไกลกว่าการเลือกตั้งว่า แม้ดาวดวงใหม่ที่หวังสร้างในการเลือกตั้งไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ก็น่าจะมีดาวดวงอื่นที่รองรับ “บิ๊กตู่” หลังการเลือกตั้งต่อไปได้

ขณะเดียวกัน ก็อาจมองได้ว่า การแพ้ในทางการเมืองที่ “บิ๊กตู่” ดูถูกเย้ยหยันมาโดยตลอด ทำเอาศักดิ์ศรีค้ำคอ ทำให้มองได้ว่า “บิ๊กตู่” ไม่อยากตกอยู่ในสภาพของผู้แพ้ในเกมการเมือง เลยต้องถอยกลับมาอยู่ในพื้นที่ “เซฟโซน” ของตัวเอง

ซึ่งเรื่องดังกล่าว ชวน หลีกภัย อดีตประธานสภา ได้พูดไว้อย่างน่าคิดว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่แรกในการมาทำงานการเมืองเต็มตัวเหมือนกับพวกตน พร้อมย้ำว่า หากรัฐบาลไม่มีคนที่เป็นหลัก นายกฯ ไม่ได้เป็น ส.ส. ก็จะมีปัญหาเรื่ององค์ประชุม เหมือนสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา

ส่วนฟากฝั่งของ พรรคเพื่อไทย ก็ถูกตั้งคำถามไม่น้อย กับคำว่าประชาธิปไตยที่พรรคพูดมาโดยตลอด เพราะล่าสุด มีการส่งสัญญาณว่า แคนดิเดตนายกฯ 2 คนของพรรค ทั้ง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร และ เศรษฐา ทวีสิน จะไม่ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยมีการอ้างถึงเหตุผลส่วนตัวด้วยเช่นกัน จึงทำให้ถูกมองว่าพรรคเพื่อไทย ประกาศตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และเคยรณรงค์เรื่อง นายกฯต้องเป็น ส.ส. แต่การมาพลิกท่าทีแบบทันทีทันใด ก็ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า กระทำไม่ตรงกับคำพูด

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คงไม่หนักหนาสาหัสจนกระทบฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากแฟนคลับของพรรค ต่างยึดมั่นและเชื่อมั่นต่อ ทักษิณ ชินวัตร และคิดว่าการได้นายกฯ จากแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคคนใดคนหนึ่ง ก็ไม่ต่างอะไรกับการได้ “ทักษิณ” กลับมาเป็นนายกฯ

แต่ “โจทย์ร้อน” ที่ปะทุขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็หนีไม่พ้นการที่ “ทักษิณ” ออกมาประกาศว่า จะกลับบ้านในปีนี้หลังการเลือกตั้ง และพร้อมที่จะรับโทษจำคุก โดยยืนยันไม่ได้อาศัยพรรคเพื่อไทย ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ ซึ่งก็มองได้ว่า เป็นการโยนโจทย์ทางการเมือง ที่อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเท่านั้น!

เพราะถ้าเอาเข้าจริง หาก “ทักษิณ” กลับประเทศไทยจริง คนที่จะตกที่นั่งลำบากคือ พรรคเพื่อไทย ไม่ว่าขณะนั้นจะอยู่ในสถานะรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เพราะจะถูกตั้งคำถามต่างๆ มากมาย และสร้างแรงเสียดทานทางการเมืองให้กับพรรคเพื่อไทยมากขึ้น

ขณะที่เกมการเมืองในระหว่างนี้จนถึงวันเลือกตั้ง ก็จะมีการเดินเกม “ดีลลับ” กันแบบฝุ่นตลบ โดยดีลลับที่ถูกพูดถึงอย่างหนาหูคือ โมเดล พรรคเพื่อไทย+พรรคพลังประชารัฐ+พรรคการเมืองขนาดเล็กบางส่วนจัดตั้งรัฐบาล แต่โมเดลนี้ก็ต้องพับแผนไป หลังพรรคเพื่อไทยออกมานั่งยันนอนยันแล้วว่า ไม่มีทางจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อดัน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งตำแหน่งนายกฯ แต่อย่างใด นอกจากนั้นยังมีโมเดล พรรคพลังประชารัฐ+พรรครวมไทยสร้างชาติ+พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ซึ่งโมเดลนี้มองได้ว่า จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ที่จะอาศัยเสียง 250 ส.ว. โหวตในสภา

โดยบริบทสนามการเมืองโดยรวม ตอนนี้ยังคงแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล และขั้วพรรคฝ่ายค้าน โดยคะแนนเสียงก้อนใหญ่สุดยังอยู่ที่พรรคเพื่อไทย หากขั้วอำนาจเดิมของพรรคร่วมรัฐบาล ต้องการเอาชนะ การแบ่งเสียงกันเองคงไม่ตอบโจทย์ ดังนั้นก็จะต้องตีโจทย์แบ่งเสียงจากฐานเสียง พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล มาเสริมแทน ดังนั้นก็ต้องรอดูกันต่อไปหลังจากนี้ บรรดาพรรคขั้วอำนาจเก่า จะงัดกลยุทธ์อะไรกวาดเสียงมวลชนออกจากอ้อมอกพรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล เพื่อเติมเสียงให้กับฝ่ายตัวเองได้มากแค่ไหน

ซึ่งโจทย์นี้ถือเป็นการผ่าทางตันของขั้วอำนาจเดิม ในเกมเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นเสียงข้างมาก จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้

ดังนั้นจึงกลายเป็นโจทย์ที่ ยงยุทธ ติยะไพรัช ที่ปรึกษาพรรคเพื่อชาติ ในฐานะคนสนิททักษิณ ออกมา “โยนหินถามทางว่า” ขอให้ทุกฝ่ายกลืนเลือดคนละก้อน หลังทักษิณกลืนเลือดด้วยการประกาศกลับมาติดคุก โดยมองว่าวันนี้โจทย์ใหญ่ไม่ได้อยู่ที่แลนด์สไลด์ แต่อยู่ที่ผู้ปกครองที่มีอำนาจว่าจะตัดสินอย่างไร ว่าจะปล่อยให้บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ต่อไป หรือจะช่วยกันแก้ปัญหาด้วยการกลืนเลือด เพื่อคลี่คลายปัญหาทุกอย่าง และจบลงด้วยความเป็นคนไทยด้วยกัน ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่ากลัว คือ 1.เสียงส่วนน้อยได้เป็นรัฐบาลจะเกิดปัญหาใหญ่ 2.การที่ทักษิณกลับบ้าน ถ้าเอาไปติดคุก เชื่อว่าจะมีคนนอนหน้าคุกกันเต็มบ้านเมือง และ 3.เกิดการรัฐประหาร เพื่อสกัดไม่ให้ทักษิณเข้ามา บ้านเมืองก็จะไม่สงบ แต่งานนี้ “บิ๊กตู่” ก็ตอบกลับข้อเสนอดังกล่าวสั้นๆ ว่า “อยากพูดอะไรก็พูดไป”

สุดท้ายแล้ว…คงกลายเป็นโจทย์ที่จะต้องกลับมานั่งคิดกันว่า ปัญหาของประเทศอยู่ที่ “ทักษิณ” คนเดียว หรือหากก้าวข้าม “ทักษิณ” ไปได้ เราจะไปต่อกันได้หรือไม่.